บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้รักอนาคตของชาติ

570619Prapapatจดหมายเปิดผนึกถึงผู้รักอนาคตของชาติ

ขอบคุณที่มีข้อเสนอดีๆ และเห็นด้วยที่ว่า การปลูกฝังให้เด็กไทยมีจิตสำนึกรู้คุณค่าของความเป็นคนไทย รู้คุณบรรพบุรุษ เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต รู้จักความได้เปรียบทางภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางสังคมที่เข้มแข็งของชาวพุทธ ฯลฯ และในขณะเดียวกันก็รู้จุดอ่อน ข้อด้อยของคนไทยที่รักสบาย เห็นแก่ตัว เอาความคิดของตนเป็นใหญ่ ไม่ค่อยมีการชื่นชมหรือเห็นข้อดีของผู้อื่น คือขาดมุทิตาจิต แม้จะมีเมตตา กรุณาแต่มักเป็นการทำบุญเพื่อหวังผลตอบแทน จึงไปไม่ถึงมุทิตาจิตซึ่งเป็นที่มาของการแตกความสามัคคีได้ง่าย

ดังนั้นการจัดการเรียนรู้เหล่านี้จึงมิใช่เพียงในรูปแบบของวิชา แต่ควรให้เป็นเป้าหมายหลักของทุกหลักสูตร ทุกระดับ ที่ผู้เรียนควรบรรลุ เริ่มได้ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงอุดมศึกษา โดยวิธีการบูรณาการอยู่ในสาระวิชาต่างๆ และในกิจวัตร กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน โดยเฉพาะการบูรณาการผ่านกิจกรรมการเรียนบนการงานจริง บนสถานการณ์จริงของสังคม ชุมชน ซึ่งผู้เรียนต้องนำความรู้ในสาระวิชาที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง เช่น นักเรียนมัธยมปลาย รร.รุ่งอรุณ ออกแบบและสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจากครัวที่อาคารเรียนของตนเองและต้องช่วยกันรับผิดชอบดูแลให้ใช้การได้ดีโดยระบบการตรวจคุณภาพน้ำ และการปรับด้วยระบบอากาศที่เหมาะสม ก่อนปล่อยน้ำกลับสู่ระบบคลองสาธารณะที่เชื่อมโยงทั้งชุมชน ดังนั้นการเรียนแบบนี้นอกจากมีความรู้ที่แม่นยำเพราะต้องนำมาใช้จริงแล้ว ยังเกิดจิตสำนึกรับผิดชอบตั้งแต่อาคารเรียน สภาพแวดล้อมของธรรมชาติและของชุมชน ทักษะการแก้ปัญหาบนฐานความรู้ และการลงมือทำมิใช่ติดอยู่เพียงระดับความคิด และได้ทักษะการทำงานเป็นทีม เป็นต้น

หรือตัวอย่างโครงงานของเด็กอนุบาลรุ่งอรุณ เด็กๆ เลือกทำจากความสนใจของตนเอง เช่น เรื่องพาห่านไปหาหมอ เนื่องจากที่ รร.เลี้ยงห่านไว้ฝูงใหญ่ เขาอยู่กับเรามานาน โดยเฉพาะตัวแรกๆ มีอายุนับสิบปีได้จึงเริ่มป่วยเดินไม่ได้ ฝูงจึงต้องทิ้งไว้ตามลำพัง เด็กๆ ไปพบเข้าหลายครั้งจึงสงสาร และคุยกันว่าต้องพาไปหาหมอ ไปปรึกษาครู ผู้ปกครองก็มีความเห็นว่าป่วยเพราะชรา ไม่ต้องหาหมอก็ได้ แต่เด็กๆ ก็ยืนกรานว่า ทีคุณตาคุณยายป่วยยังต้องหาหมอ จึงไม่เลิกล้มความพยายาม ถึงกับช่วยกันหาเงินเตรียมไว้

โดยการทำคุกกี้ขาย ใน 2 สัปดาห์ได้เงินถึง 2,000 บาท เผอิญที่หน้า รร.มีคลินิกสัตวแพทย์ เด็กๆ จึงรบเร้าให้ครูพาห่านไป ครูพานักเรียนไปพบหมอก่อนเพื่อแจ้งความประสงค์และขออนุญาตหมอ คุณหมอก็บอกว่าห่านแก่แล้วเป็นธรรมชาติของเขา ไม่น่าจะต้องมารักษา แต่เด็กๆ ยืนยัน และแสดงเจตจำนงแน่วแน่พร้อมเงินค่ารักษาที่ช่วยกันหา คุณหมอยอมแพ้แต่ไม่คิดค่ารักษา มีข้อแม้ว่าให้อาบน้ำห่านมาก่อน เด็กๆ จึงขอแรงผู้ใหญ่ช่วยอุ้มห่านลงอ่างอาบน้ำแล้วจึงพาไปหาหมอ เมื่อถึงคลินิกก็เกิดโกลาหลเพราะห่านทำเรี่ยราดต้องพากันออกมาหน้าร้าน คุณหมอดูแล้วทำได้เพียงรักษาแผลให้และบอกเด็กๆ ว่าห่านเข่าเสื่อมจึงเดินไม่ได้ ซ้ำแผลเรื้อรังเพราะนอนกดทับ เด็กๆ พร้อมครูและผู้ปกครองพาห่านกลับโรงเรียน เด็กๆ ก็ยังไม่เลิกความพยายามที่จะช่วยเจ้านวลอีก คือหาวิธีไม่ให้นอนทับแผล ช่วยกันคิดเปลผ้าขาวม้าแขวนกับต้นไม้และเจาะ 2 รูปล่อยขาลง งานนี้ผู้ใหญ่ต้องพลอยสนับสนุนไปด้วยจึงจบลงได้ จากกิจกรรมนี้ ท่านลองคิดดูสิว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้ในระดับจิตสำนึกหรือไม่ ถ้าใช่ เราจึงควรปลูกฝังเมล็ดพันธ์ดีๆ เหล่านี้ได้ตั้งแต่เล็กๆ ที่แม้ไม่มีวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม แต่มีข้อแม้คือครูและผู้ใหญ่ทั้งหลายแม้แต่สื่อที่แวดล้อมเด็กไทยอยู่ตลอดเวลานั่นแหละว่าท่านมีจิตสำนึกเหล่านี้อยู่

ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้เหล่านี้มีอยู่มากมายและได้ผลทันที หาดูได้ในโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องการประเมินทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และจะทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ที่ได้มาตรฐานโลกไปด้วย เช่น การสอบ PISA  ก็ดี เพราะเขาวัดการใช้ความรู้มากกว่าวัดตัวความรู้

ขอยืนยันว่าเด็กไทยไม่โง่ ครูที่ฉลาดและดีก็พอสร้างได้ เพื่อที่จะนำการจัดการเรียนรู้ที่ดีๆ สู่ผู้เรียนทุกระดับได้ ติดอยู่นิดเดียว ผู้บริหารระดับสูงทั้งหลายจะเริ่มเป็นต้นแบบผู้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติได้หรือไม่?

รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม