บันทึกรุ่งอรุณ,  ภาคสนาม,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เรียนรู้วิถีอีสานใต้: ภาคสนาม ม.๓/๓

Surin-Feature

วันที่ ๕-๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ นักเรียนชั้น ม.๓/๓ ออกภาคสนามเรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมอีสาน ที่บ้านบึง หมู่ ๙ ต.ดอนแรด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ดินแดนอีสานใต้ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่เคยได้ชื่อว่า “ร้อนแล้ง” และ “กันดาร”

ที่นี่กันดารและร้อนแล้งจริงหรือ? แล้วทำไมชาวบ้านถึงอาศัยอยู่มาได้หลายชั่วคน? นี่คือคำถามที่นักเรียนต้องเดินทางไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

“บ้านบึง” เป็นชุมชนเล็กๆ ที่ความเป็นเมืองคืบคลานเข้ามากลืนกินวิถีดั้งเดิมของชุมชน ลูกหลานรุ่นหลังเริ่มทิ้งนาบ่ายหน้าสู่เมืองและโรงงาน ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนจำนวนหนึ่งจึงรวมตัวกันฟื้นฟูภูมิปัญญาการ “เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน ในถิ่นทาม” ทามในที่นี้คือป่าทาม ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่น้ำจากแม่น้ำมูลไหลท่วมถึง ทำให้ป่าทามกลายเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน เพราะอุดมไปด้วยนาข้าว แหล่งน้ำที่เรียกว่า “กุด” ที่มีน้ำตลอดปี ปลานานาชนิด เห็ด หน่อไม้ มันแซง และสมุนไพรต่างๆ

ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนเตรียมนายฮ้อยทุ่งกุลาร้องไห้ขึ้น เพื่อดึงเด็กๆ รุ่นใหม่ออกจากร้านเกม มาเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีการอนุรักษ์และการหาอยู่หากินในป่าทาม เพราะถ้ารู้ว่าจะดูแลรักษาป่าทามอย่างไร รู้ว่าป่าทามแห่งนี้มีทรัพยากรใดบ้างในแต่ละฤดู และรู้ว่าจะหาอาหารจากป่าได้อย่างไร ชาวบ้านบอกว่า…ไม่มีวันอด ขอเพียงขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และรู้ที่จะอยู่อย่างพอเพียง

“ชาวบ้านที่นี่อยู่ได้ด้วย “ข้าว น้ำ ทาม ปลา” ดีใจที่เด็กๆ มาเรียนรู้ที่นี่ จะได้เห็นด้วยตาว่าอีสานไม่ได้ร้อนแล้ง เรามีป่าทามที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิปัญญาเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินในถิ่นทาม นั่นคือการทำมาหากินแบบพอเพียง พออยู่พอกิน ไม่ลุกล้ำกล้ำกรายธรรมชาติ ทุกวันนี้พวกผมพยายามเรียกลูกหลานกลับคืนมา ให้มาเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง เรียนรู้ที่จะอยู่แบบพุทธะ แบบตื่นรู้ คือรู้ว่าจะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่จะเข้ามาอย่างไร” ลุงบุญมี โสภัง ผอ.โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย และรองนายก อบต.ดอนแรด กล่าวกับนักเรียน

นอกจากได้เรียนวิถีการหาอยู่หากินในป่าทาม การหาปลา การเลี้ยงควาย ภูมิปัญญาการทอผ้าไหม การทอเสื่อกก และภูมิปัญญาด้านอาหารของชาวบ้านบึงแล้ว ขณะออกภาคสนามเป็นช่วงประเพณีบุญออกพรรษา นักเรียนจึงมีโอกาสเรียนรู้ประเพณีบุญออกพรรษาของชาวบ้านบึง โดยช่วยชาวบ้านทำปราสาทผึ้ง ช่วยทำขนมไปทำบุญ แห่ปราสาทผึ้งไปในหมู่บ้านให้ชาวบ้านได้นำข้าวสาร ขนม ดอกไม้ ธูป เทียน มาทำบุญ ร่วมแห่ปราสาทผึ่งไปวัดในช่วงหัวค่ำ เวียนเทียนและถวายปราสาทผึ้งที่วัดป่าธรรมนิเทศก์บริเวณป่าทาม ก่อนจะร่วมกันจุดธูปนับพันดอกที่แขวนไว้ทั่วบริเวณลานป่าหน้าวัด แล้วมาร่วมตักบาตรทำบุญในเช้าวันรุ่งขึ้น

จากการพูดคุยกับชาวบ้าน และร่วมสัมผัสงานประเพณีด้วยตนเอง นักเรียนได้เรียนรู้ว่า ประเพณีบุญออกพรรษานี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านได้มารวมตัวทำกิจกรรมร่วมกัน และพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างกัน หลังจากห่างหายไปทำงานในไร่นาหลายเดือน

“หนูว่าชาวบ้านที่นี่เขาดูมีความสุข เพราะเขารู้จักกันหมด เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ยิ้มแย้ม  มีอะไรก็ช่วยเหลือแบ่งปันกัน ใช้ชีวิตเรียบง่าย พอเพียง” ป๋อป้อ

“จากที่ผมไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเรื่องการทอผ้าไหม ผมรู้สึกว่าเขาภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเองมาก” นัน

“คนที่นี่มีแหล่งอาหารจากป่าทาม ใช้ชีวิตเรียบง่าย ทำเสื้อผ้าใช้เอง พึ่งพาข้างนอกน้อยมาก” น้ำฝน

“ผมว่าชาวบ้านน่าจะมีความสุขมาก เพราะที่นี่มีทุกอย่าง ทั้งอาหารและของใช้ อากาศก็ดี น่าอยู่” จริงจัง

“ชาวบ้านที่นี่ดูมีความสุข ขนาดหาปลาไม่ได้ เขาก็ยังยิ้มได้” ศศิน

“วิถีชีวิตที่นี่มีความมั่นคง เหมือนคำที่ชาวบ้านบอกว่า มีเงินเต็มถุง ข้าวเต็มยุ้ง วัวควายเต็มคอก ปลาร้าเต็มไห มีเงินน้อยหน่อยเขาก็อยู่ได้ เพราะทุกคนเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า” ผิง

ตลอดระยะเวลา ๖ วัน ๕ คืน ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ นักเรียนค้นพบคำตอบว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ในวันนี้ไม่ได้ร้อนแล้งเหมือนดังที่พวกเขาเคยได้ยินได้ฟังมา เพราะที่นี่มีป่าทามที่อุดมสมบูรณ์ ท้องทุ่งนามีสีเขียวสดใสเพราะต้นข้าวกำลังงอกงามใกล้ออกรวง ในหนอง บึง กุด และแม้แต่ในนายังอุดมด้วยปลานานาชนิด วัวควายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ผู้คนมีความขยัน อดทน มีภูมิปัญญาในการหาอยู่หากินที่ชาญฉลาด สอดคล้องกับสภาพและทรัพยากรในพื้นที่ มีวัฒนธรรมและประเพณีที่รวมใจคนในชุมชนให้รู้รักสามัคคี ทำให้ชาวบ้านบึงสามารถพึ่งพิงตนเอง และใช้ชีวิตอยู่ในผืนแผ่นดินถิ่นเกิดได้อย่างมีความสุข