บันทึกรุ่งอรุณ,  ผลงานนักเรียน,  วิดีโอ,  วิดีโอผลงานนักเรียน,  วิดีโอรุ่งอรุณในสื่อต่างๆ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เวทีเสวนา “จับต้น(น้ำ) ชนปลาย(น้ำ)”

HIA-Soblan-Coverหลังจากออกภาคสนามลงพื้นที่ศึกษาวิถีพึ่งพิงธรรมชาติและภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในวันศุกร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ นักเรียนชั้น ม.๕ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้จัดงานเสวนา “จับต้น(น้ำ) ชนปลาย(น้ำ)” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงงาน “การศึกษาวิถีพึ่งพิงและภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรป่าและน้ำ กรณีศึกษา บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่” โดยเรียนเชิญผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ อาทิ ชาวบ้านในพื้นที่ นักวิชาการ และตัวแทนภาครัฐ มาร่วมรับฟังและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล พร้อมพูดคุยซักถามในประเด็นที่นักเรียนสงสัย กรณีการสร้างเขื่อนแม่ขาน และการประกาศเขตอุทยานฯ ของภาครัฐ ที่อาจส่งผลกระทบกับชาวบ้านสบลานและชาวบ้านในหลายพื้นที่

งานเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีชาวบ้านสบลาน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสาน นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

สาส์นจากคนปลายน้ำ
งานในวันนั้นเริ่มต้นด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ “สาส์นจากคนปลายน้ำ” โดย นางสาววรัศมิ์ พิทักษ์วรรัตน์ (หนูดี) นักเรียนชั้น ม.๕/๑ ตัวแทนคนปลายน้ำที่เดินทางไปศึกษายังพื้นที่ต้นน้ำ ณ บ้านสบลาน

บางส่วนบางตอนของ “สาส์นจากคนปลายน้ำ”

HIA-Soblan10“….ตอนที่ฉันเดินไปดูไร่หมุนเวียนที่แทรกตัวอยู่ในขุนเขาสูงชัน บนเส้นทางกลางป่าที่รกทึบ ฉันถูกไต่ตอมด้วยแมลงที่มากมาย เสียงนกร้องและเสียงสัตว์ป่าบางชนิดดังก้อง ฉันไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งฉันจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติได้ขนาดนี้ กระทั่งกินน้ำก็ยังได้กินน้ำที่ไม่ผ่านการกรองและมีกลิ่นดินจากลำห้วยเล็กๆ บริเวณนั้นเลย การเดินทางศึกษาครั้งนั้นทำให้ฉันเหนื่อยพอตัว ฉันเองก็เหงื่อหยดด้วยความร้อน ฉันเฝ้าถามตัวเองว่า ทำไมฉันต้องมาทำอะไรแบบนี้ด้วย แทนที่จะได้กินน้ำเย็นๆ นอนอยู่ในห้องแอร์ และเดินช้อปปิ้งในห้าง ฉันถามกับตัวเองว่า พะตี่อยู่กันได้อย่างไร แล้วภายหลังฉันก็ได้ค้นพบว่ามันเป็นคำถามที่งี่เง่าเหลือเกินค่ะ

…ป่าของปกาเกอะญอเต็มไปด้วยปัจจัยสี่ น้ำ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ทุกสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตซึ่งพวกเขาหาจากป่าได้ทั้งหมด ขอย้ำว่าทั้งหมดนั้นหาได้จากป่าค่ะ ป่าที่ชนเผ่าปกาเกอะญอรักษาดูแลไว้สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ดังนั้นจากคำถามที่ว่า พวกพะตี่อยู่ได้อย่างไร คงต้องเปลี่ยนเป็น ในที่ที่มีทุกอย่างครบครันแบบนี้ ทำไมกลับเป็นเราที่อยู่ไม่ได้…”

โอมื่อโชเปอ: อยู่ดีมีสุข
HIA_Book02
จากนั้นเป็นการนำเสนอผลการศึกษาโครงงาน “การศึกษาวิถีพึ่งพิงและภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรป่าและน้ำ กรณีศึกษา บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่นักเรียนกลุ่มนี้จัดทำขึ้นในรูปแบบรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment; HIA) ในชื่อ “โอมื่อโชเปอ: อยู่ดีมีสุข” (ดาวน์โหลดรายงาน HIA) เพื่อบอกเล่าสิ่งที่พวกเขาค้นพบขณะลงพื้นที่ศึกษา ณ บ้านสบลาน ในฐานะคนปลายน้ำที่ย้อนรอยสู่ป่าต้นน้ำ นั่นคือ บ้านสบลานเป็นชุมชนที่มีองค์ความรู้อันทรงคุณค่าหลายประการ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตพึ่งพิงทรัพยากรป่าและน้ำอย่างเป็นหนึ่งเดียว เห็นได้จากวิถีชีวิต การทำมาหากิน การทำไร่หมุนเวียน การจัดการเหมืองฝาย รวมทั้งความเชื่อในเรื่องขวัญและผี ที่ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้สามารถดูแลรักษาทรัพยากรป่าและน้ำให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ได้ถึงทุกวันนี้ ซึ่งยังประโยชน์ทั้งต่อคนในชุมชนและคนปลายน้ำอย่างพวกเขา

เวทีเสวนา “จับต้น(น้ำ) ชนปลาย(น้ำ)”
IMG_0225
อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ในครั้งนั้นยังทำให้นักเรียนพบว่า ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าและน้ำแห่งนี้กำลังทุกข์ใจจากนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ และโครงการเขื่อนแม่ขาน ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน เช่น การต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเดิม การสูญเสียพื้นที่ทำกิน และการสูญเสียภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่เป็นองค์ความรู้อันทรงคุณค่า พวกเขาจึงจัดเวทีเสวนานี้ขึ้น โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ และตัวแทนภาครัฐ มาร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าว

อาจารย์หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณการ(ประเทศไทย) กล่าวถึงรายงาน HIA ที่นักเรียนรุ่งอรุณจัดทำขึ้นว่ามีความละเอียดกว่ารายงานที่ภาครัฐจัดทำขึ้น เพราะรายงานของภาครัฐบอกเพียงมูลค่า การสร้างเขื่อนที่ผ่านมาไม่ได้คิดถึงคุณค่าของคนในพื้นที่ ต่างกับรายงานของนักเรียนที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของภูมิปัญญาและผู้คนในพื้นที่

ด้านคุณนพดล โค้วสุวรรณ วิศวกรกรมชลประทาน กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการเขื่อนแม่ขานว่า กรมชลประทานไม่คิดจะพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นอกจากประชาชนร้องขอ กรณีโครงการเขื่อนแม่ขาน กรมชลประทานได้ทำการศึกษาไว้ แต่หลังจากทำประชาพิจารณ์แล้วประชาชนคัดค้านก็ได้ยุติโครงการไป จนกระทั่งเกิดอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ กรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้รื้อแผนสร้างเขื่อนแม่ขานขึ้นมาใหม่ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะสร้างหรือไม่ หรือหากมีคำสั่งให้สร้างก็จะต้องเริ่มทำการศึกษาใหม่หมด เพราะสภาพพื้นที่เปลี่ยน ป่าเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงจะไม่มีการสร้างเขื่อนแม่ขานในเร็วๆ นี้

ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า เราคิดกันว่ารัฐคือตัวแทนของประชาชน แต่ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ทำตัวเป็นตัวแทนของประชาชน กลับทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม และสร้างปัญหาให้ประชาชน ดังที่ทุกคนมานั่งรวมกันอยู่ในห้องประชุมวันนี้ก็เพราะต่างได้รับผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงเกิดการรวมตัวเป็นภาคประชาสังคมขึ้นเพื่อตั้งคำถามกับภาครัฐ

“ภาคประชาสังคมต้องเริ่มตั้งคำถามกับภาครัฐ  ในวันนี้ชุมชนต้องสู้ด้วยภูมิปัญญา ต้องสร้างเวทีให้คนต้นน้ำและคนปลายน้ำได้มาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นเวทีที่คนที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบมาเจอกันและหาทางออกหรือทำวิจัยร่วมกัน ซึ่งจะสร้างภูมิปัญญาใหม่ในการแก้ปัญหาขึ้นมา ที่ผ่านมาเราใช้ภูมิปัญญาแบบเก่าแก้ปัญหา นั่นคือการสร้างเขื่อน” ดร.สมิทธ์ กล่าว

IMG_0307พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้นำบ้านสบลาน และตัวแทนตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ตอบคำถามของนักเรียนที่ว่าหากรัฐดำเนินการสร้างเขื่อนแม่ขาน พะตี่จะทำอย่างไรว่า  “ถ้าต้องอพยพ จะไปอยู่ที่ไหน เราเกิดขึ้นมาที่นั่น เราดูแลป่ามาหลายปี หลายชั่วคน เราจะไม่อพยพไปไหน เราจะอยู่ที่นั่น”

 

ความเห็นหลังงานเสวนา

“ตอนได้ยินพ่อบอกว่าเขาจะสร้างเขื่อน โมก็ทุกข์ใจมาก มาตอนนี้เขาก็บอกจะสร้างเขื่อนอีก โมนี่ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ เป็นห่วงลูกหลาน เขาจะไปอยู่ที่ไหน อยู่กันอย่างไร โมก็สู้จนเหนื่อย เวลาเขามีงานก็มาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง วันนี้โมดีใจที่เด็กๆ เป็นหูเป็นตา เป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้าน” โมพะมื่อ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวบ้านสบลน

“เวทีวันนี้มีประโยชน์มาก รายงานที่เด็กๆ ทำใช้อ้างอิงได้ สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติมันซาบซึ้งที่สุด” คุณสุรจิต ชิรเวทย์ อนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรทะเลและชายฝั่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าของรางวัลลุกโลกสีเขียว ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๙

“ที่ผ่านมาจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่สอนเด็กมาตลอด แต่ ณ เวลานี้และช่วงสมัยนี้เป็นยุคที่ผู้ใหญ่เองก็ไม่ฟังกันแล้ว ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่จะต้องฟังเด็กๆ แล้ว อย่างวันนี้รู้สึกซาบซึ้ง อยากบอกน้องๆ ทุกคนที่เป็นปากเป็นเสียง คิดว่าสื่อของน้องๆ คงจะได้เผยแพร่ออกไปและน่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเรา” ความเห็นจากผู้ร่วมเสวนา

“เวทีวันนี้ยิ่งใหญ่มาก เป็นงานวิจัยของนักเรียน ม.๕ ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ไปฝังตัวศึกษาชุมชนปกาเกอะญอ สบลาน อ.สะเมิง เป็นเวลายาวนาน ย้ำ…งานวิจัยนักเรียน ม.๕ ผมนั่งน้ำตาไหลพรากๆ ด้วยความตื้นตันใจ เยาวชนเหล่านี้แหละคือความหวังเดียวของประเทศไทยจริงๆ พวกเขาเรียนรู้ปัญหาของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งเกินอายุ สังคมไทยมีด็อกเตอร์เยอะแยะเดินหัวชนกัน แต่ประเทศกำลังเดินเข้าสู่มุมอับ เพราะการศึกษาไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ผมบอกตรงๆ นะ งานวิจัยของเด็ก ม.๕ มีคุณค่าและลึกซึ้งกว่า นศ.ป.โท ป.เอก ของผมมากมาย นี่คือการศึกษาที่แท้จริง…ไม่หลอกลวงตัวเอง!” ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

HIA_Book01“ภายในงานเด็กๆ ต่างแบ่งหน้าที่กันตั้งแต่ต้อนรับแขกไปจนการดำเนินรายการและตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ซึ่งพวกเขาเชิญมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ เอ็นจีโอ เรียกว่าครบทุกมุม อย่างน้อยสุดชาวบ้านได้รับรู้ว่าโครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำที่พวกเขากังวลใจแทบนอนไม่หลับไปถึงไหนแล้ว ส่วนหนังสือที่ได้รับแจกมาและอ่านอย่างเพลิดเพลินใจรวดเดียวจบก็เพราะของเขาดีจริงๆ หนังสือได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบ้านสบลานที่เด็กๆ ช่วยกันรวบรวมข้อมูลเอาไว้ทุกแง่มุม ทั้งประเพณี ความเชื่อ การอยู่กับป่า การทำมาหากิน การทำไร่หมุนเวียน พันธุ์ข้าว นิทานพื้นบ้าน แถมลงลึกไปถึงเรื่องการทำผังชุมชน ผังเครือญาติ นอกจากนี้ยังอธิบายไปถึงภาพใหญ่เรื่องสิทธิชุมชน เขาใช้ภาษาง่ายๆ สั้นๆ และมีภาพหรือภาพกราฟฟิกประกอบ น่าสนใจมากครับ หากสถาบันการศึกษาในบ้านเราสอนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เจริญสติปัญญาในทิศทางนี้ สังคมไทยมีความหวังอีกเยอะครับ แถมชาวบ้านเองก็ไม่ว้าเหว่” คำปิ่น อักษร

“ขอชื่นชมนักเรียนและคุณครูทุกคน ที่สามารถนำความรู้ที่แท้มาใช้ประโยชน์คืนให้สังคมได้ทันที ไม่ต้องรอให้จบมหาวิทยาลัย เข้าทำงานเสียก่อน แต่เรียนเมื่อใด รู้เมื่อใด ใช้เมื่อนั้น เราทันโลกและไม่ตกยุคสมัยโดยนัยนี้แล ความรู้จึงอยู่ในตัวและงอกงามสืบไป” รศ.ประภาภัทร  นิยม

สื่อและข่าวที่เกี่ยวข้อง