บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

นักเรียนชั้น ม.๕ KM ภาคสนาม Amazing Singapore

KMSingapore1

ปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ ครูเปรมปรีติพานักเรียนชั้น ม.๕ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม ออกศึกษาภาคสนาม ณ ประเทศสิงคโปร์ ในหัวข้อ Amazing Singapore ซึ่งสิงคโปร์เป็นกรณีศึกษาสำคัญในการทำความเข้าใจกลุ่มประเทศอาเซียน ก่อนไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หลังกลับจากการศึกษาภาคสนาม ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครูเปรมปรีตินำนักเรียนสรุปการเรียนรู้ โดยมีนางสาวรพีพร มโนรัตน์ (ฟ้าใส) ศิษย์เก่า RA12 ซึ่งร่วมเดินทางไปภาคสนามในครั้งนี้ด้วย เป็นผู้ช่วยครูและช่วยสะท้อนจากมุมมองของรุ่นพี่

ในช่วงแรกครูเปรมปรีติให้นักเรียนจับคู่ผลัดกันบอกเล่าเรื่องราวดีๆ หรือสิ่งที่ตนรู้สึกดีจากภาคสนามในครั้งนี้ เช่น ความประทับใจ แรงบันดาลใจ การตัดสินใจที่ดี การกระทำที่ดี แล้วให้เพื่อนที่เป็นคนฟังสะท้อนความรู้สึก ทั้งความรู้สึกต่อเรื่องที่เพื่อนเล่า และความรู้สึกต่อเพื่อนผู้เล่าเรื่อง ก่อนจะผลัดกันพูดถึงความประทับใจในตัวเพื่อนแต่ละคนที่ตนเห็นจากการออกภาคสนามในครั้งนี้ โดยครูช่วยบันทึกความประทับใจเหล่านั้นลงบนกระดาน เป็นการฝึกให้นักเรียนมองเห็นข้อดีของกันและกัน หรือก็คือ “จุดแข็ง” (STRENGTH) ของแต่ละคนนั่นเอง

รู้จุดแข็งกันไปแล้ว ช่วงต่อมาเป็นช่วง “เคาะสนิม” หรือการย้อนมองหาจุดอ่อนของตัวเอง โดยครั้งนี้ครูเปรมปรีติให้นักเรียนสะท้อนตัวเอง เพื่อฝึกให้นักเรียนมองเห็นและรู้จักตัวเองในทุกด้าน ทั้งจุดอ่อนที่ควรแก้ไข และจุดแข็งที่ควรพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ

“เราไม่เคยนึกว่าสิ่งที่เราทำส่งผลกับใครบ้าง จริงๆ แล้วตัวเราส่งผลต่อคนอื่นเสมอ จุดแข็งเหล่านี้จะช่วยให้พวกคุณสามารถเรียนรู้และทำการงานได้ดี ถ้าคุณเอาจุดแข็งนี้มาใช้ คุณปรากฏตัวไม่เป็นโมฆะ พากันไปสู่การสู่งาน คุณก็จะพาคนอื่นไปสู่เส้นทางที่ดีด้วย แต่ถ้าคุณปรากฏตัวเป็นโมฆะ ปล่อยให้ความกลัวหรือกิเลสนำ คุณก็จะพากันไปอีกทางหนึ่ง แล้วจะทำอย่างไรให้ STRENGTH ของเราตรงนี้คงทน เป็นที่พึ่งพาของตนเองและผู้อื่น สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ สม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน” ครูเปรมปรีติกล่าวกับนักเรียน

ช่วงสุดท้ายเป็นการสรุปข้อมูลความรู้และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากภาคสนาม ใน ๓ หัวข้อ คือ ข้อมูล (Facts) ทักษะชีวิต (Life skill) ทักษะการทำงาน (Work skill) โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่มพูดคุยแล้วเขียนสรุปเป็นภาษาอังกฤษลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วติดไว้บนบอร์ดหลังห้องเพื่อเป็นชุดข้อมูลความรู้ที่นักเรียนจะใช้ทำงานต่อไป