บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

รศ.ประภาภัทร นิยม แสดงทรรศนะต่อนโยบายลดเวลาเรียนของ ศธ.

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์
รศ.ประภาภัทร  นิยม
  อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
เรื่องนโยบายลดเวลาเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ
ในรายการสกู๊ปข่าวค่ำ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙  อสมท.
……………………………………..

เดิมทีทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ในระดับนโยบายว่าจะต้องมีการผ่อนคลายหลักสูตรหรือยืดหยุ่นหลักสูตร ให้โรงเรียนสามารถที่จะเลือกเน้นการเรียนการสอนในบางสาระวิชาได้  แล้วบางสาระวิชาใน ๘ สาระนั้น สามารถจะเอามาบูรณาการลงในกิจกรรมได้  ซึ่งกิจกรรมนี้ก็แล้วแต่ความถนัดหรือบริบทของโรงเรียนนั้นๆ เช่น บางทีเอาไปทำเป็นงานเกษตร แล้วก็จัดให้มีทักษะในการประกอบอาชีพได้ด้วย อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นหมายถึงว่าเราพยายามยืดหยุ่นหลักสูตร แต่ยังไม่ทันได้ประกาศ ความจริงจัดทำร่างไว้แล้วว่าจะผ่อนคลายตัวชี้วัดลงไปบ้าง ไม่ได้ใช้ตัวชี้วัดทุกกลุ่มทั้ง ๘ กลุ่มสาระนั้นทั้งหมด  ซึ่งเยอะมาก เพราะฉะนั้นทำให้ผู้เรียนต้องเรียนทุกกลุ่มสาระ แล้วก็เต็มเวลา

ในบางสาระเป็นทางปฏิบัติ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา หรือแม้แต่ทักษะการงานอาชีพ พวกนี้เป็นการปฏิบัติหมดเลยซึ่งการไปใช้เวลาเรียนในห้องเรียนอาจจะไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร  ควรให้เขาเรียนโดยการลงมือทำมากกว่า เป็น Learning by Doing  คิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นส่วนที่สามารถยืดหยุ่นได้ ให้โรงเรียนเลือกเอาว่าเขาจะเน้นให้นักเรียนได้ใช้เวลากับเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง  หรือนักเรียนอาจจะเลือกตามความถนัดของตัวเองก็ได้  เหมือนอย่างที่รุ่งอรุณ ศิลปะเราก็ให้นักเรียนเลือก บางคนถนัดงานไม้ บางคนถนัดงานปั้น บางคนชอบ Drawing บางคนชอบทางด้านทอ เขาสามารถเลือกได้ตามความถนัดของเขา ซึ่งเขาสามารถพัฒนาศักยภาพเต็มที่ของเขาได้ทุกคน ตรงนี้ก็เป็นแนวทางของการยืดหยุ่นหลักสูตร

แนวคิด/อิทธิพลในเรื่องนี้มาจากการที่สมาธิในการเรียนของผู้เรียนไม่ได้ยาวมากนัก  เราถึงต้องเบรกออกเป็นคาบ เป็นชั่วโมง บางทีก็ไม่ถึงชั่วโมง แม้แต่ในหนึ่งชั่วโมงเรียนเอง  ก็ต้องมีการเบรกหรือเปลี่ยนท่าทีการเรียนบ้างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าการเรียนจะได้ผลที่สุด ทางทฤษฎีแล้วไม่ใช่เพียงนั่งรับฟังเฉยๆ เพราะถ้ารับฟังเฉยๆ เขาพร้อมจะลืม ฉะนั้นจะต้องมีการเรียนแล้วลงปฏิบัติด้วย เรียกว่าเป็น Active Learning ถ้านั่งเรียน นั่งฟังอย่างเดียวก็เป็น Passive Learning  ผู้เรียนก็จะจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง พอจะสอบก็เอามาท่อง สอบแล้วก็ลืมไปเลย ความรู้ไม่ได้ติดตัว เพราะฉะนั้นตามทฤษฎีของ Learning Pyramid ถือว่าการเรียนแบบ Passive Learning จะได้ผลน้อยที่สุด แต่ถ้าเรียนแบบ Active Learning คือเอาความรู้ไปปฏิบัติ หรือปฏิบัติแล้วมาสรุปทฤษฎี แล้วถ้าจะให้ความรู้นั้นแม่นยำที่สุดคือสามารถที่จะบอกหรือสอนคนอื่นได้ด้วย  เอาความรู้ไปใช้ประโยชน์หรือประยุกต์ใช้ได้ด้วย อันนี้เป็นแนวทางสามเหลี่ยมพีระมิด ยอดบนสุดคือเรียนแล้วได้น้อยที่สุด ล่างสุดคือเรียนแล้วรู้มากที่สุด คือเป็น Active Learning  เป็นผู้เรียนที่กระตือรือร้น  ทฤษฎีนี้ก็บอกอยู่แล้วว่าถ้าให้นั่งเรียนทั้งวันไม่ได้ผลแน่นอน  ถ้าจะให้ได้ผลก็ต้องมีการลงมือปฏิบัติ
 ในต่างประเทศมีมุมมองเรื่องนี้คล้ายๆ กัน คือมองว่าช่วงเช้าเป็นช่วงที่ความพร้อมของผู้เรียนจะมีมากกว่าช่วงบ่าย  ช่วงบ่ายไปแล้วก็ล้า อย่างไปดูที่ฟินแลนด์ จบชั่วโมงปุ๊บ เขาไล่ให้ออกไปนอกตึกเลย ออกไปเล่น ไปยืดเส้นยืดสาย แล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่ เพื่อที่จะ Fresh up ขึ้นมา แต่การทำแบบนี้ก็จะทำได้ช่วงหนึ่ง ช่วงบ่ายหลังอาหารไปแล้ว ร่างกายจะเริ่มล้าแล้ว การเรียนวิชาหลักจะลำบากนิดหนึ่ง การจะทำสมาธิทำความเข้าใจได้ก็อาจจะน้อย

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ที่ได้รับการยกย่องว่าจัดการศึกษาได้ดีรองจากฟินแลนด์นั้น  อาจารย์ไม่ได้ไปดูที่เกาหลี แต่เข้าใจว่าที่ผลการเรียนเขาดี น่าจะมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ด้วย เราก็ไม่ทราบเรื่องการใช้เวลาเรียน  แต่ที่เคยไปดูที่ญี่ปุ่น เขาก็จะเลิกเรียนเร็วนิดหน่อย  ฟินแลนด์จะเลิกเรียนประมาณบ่าย ๒ โมง เขาก็ต้องการให้เด็กนักเรียนเขากลับบ้าน ไปเปลี่ยนอิริยาบถ ไปทำอย่างอื่นบ้าง  เพราะว่าคนเรา

ต้องมีทักษะชีวิต Life Skill   ซึ่งตรงนี้การอยู่แต่เฉพาะในห้องเรียนมันไม่เกิด ต้องไปทำอย่างอื่น  ไปช่วยงานบ้านบ้าง ไปเล่นกีฬาหรือไปทำอะไรกับเพื่อนๆ บ้าง ก็เป็นวิธีการที่เขาพบว่า ถ้าเรียนแล้วมีประสิทธิภาพได้ดีในชั้นเรียนเพียงแค่ช่วงเช้า มันก็เพียงพอแล้ว  อันนี้เราดูที่เจตนาของนโยบาย  ถ้าเจตนาว่าให้การเรียนในห้องเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและใช้เวลาน้อยที่สุด เพื่อที่จะให้นักเรียนมีเวลาเหลือไปพัฒนาด้านอื่น อันนี้เป็นนโยบายที่ดี ที่ถูกต้อง แต่มีเงื่อนไขว่าการเรียนที่มีประสิทธิภาพในห้องเรียนต้องเกิดขึ้น ครูต้องแม่น ครูต้องเก่ง ทำให้เวลาเรียนที่จำกัดแต่เรียนแล้วเข้าใจ เรียนรู้ได้จริง ครอบครัวก็ต้องพร้อมด้วยว่าเด็กกลับบ้านแล้วมีกิจกรรมอะไรให้ทำหรือเปล่า มีกิจวัตรอะไรที่จะให้เด็กพัฒนาตัวเอง  ไม่อย่างนั้นกลับไปดูทีวีหรือนั่งเล่นเกม ก็ไม่ใช่อีกเหมือนกัน  เพราะฉะนั้นต้องพร้อมทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านด้วยถึงจะดำเนินการอย่างนี้ได้ประสบผลสำเร็จ

ที่ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เราเคยเห็นพ่อแม่ญี่ปุ่น แม่ไม่ได้ทำงาน จะอยู่บ้าน แต่บริบทสังคมของเขามีฐานะดีกว่าของไทย มีสวัสดิการเรื่องการศึกษาดีกว่า มันก็ต่างกัน ของไทยพ่อแม่ไปทำงานกันหมด ช่วงเย็นแม้แต่ที่รุ่งอรุณก็จะไม่ค่อยอยากมารับลูกเท่าไร  ต้องกลับเย็นตามพ่อแม่ไปด้วย เพราะกว่าเขาจะเลิกงานแล้วมารับลูก เขาก็ต้องอาศัยโรงเรียนอยู่พอสมควร ให้เด็กมีที่มีทาง ตรงนี้ก็ต้องชัดเจนว่าโรงเรียนต้องรับภาระ ไม่ใช่ว่าพอบ่ายสองโมงแล้วไล่เด็กออกนอกโรงเรียนหมด  โรงเรียนก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูตามความจำเป็นหรือความสามารถของครอบครัวด้วย   ถ้าเขายังต้องอาศัยโรงเรียนอยู่ โรงเรียนก็เป็นฝ่ายจัดกิจกรรม อย่างที่นี่พอเย็นลงก็เข้าไปทำงานที่เรือนศิลปะกันเต็มไปหมด ตรงนี้เราก็ต้องเอื้อให้ ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี หรือทำโปรเจ็กต์ต่างๆ เขาก็ทำกันอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัญหา พ่อแม่จะทำงานจนถึงเย็นแล้วค่อยมารับลูกก็ได้        

ในเรื่องที่บอกว่าหลังบ่าย ๒ โรงเรียนต้องจัดกิจกรรมสำหรับเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้มารับกลับบ้าน แล้วเขาบอกว่าไม่ได้มีการประเมินผลเลย คือทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้  อาจารย์คิดว่าการเรียนรู้ของนักเรียนทุกเรื่อง ทุกขณะ ทุกชั่วโมง ครูต้องทำการประเมิน แต่ประเมินเพื่อพัฒนา คือไม่ใช่ประเมินเพียงแค่ไปสอบปลายเทอม อันนั้นมันคนละเรื่องกัน อันนั้นคือการวัดผลปลายเทอม ถ้าจะให้การเรียนรู้หรือการทำกิจกรรมเขามีความหมาย ครูต้องอยู่ด้วย ครูต้องเข้าใจ ต้องเห็นนักเรียนเป็นรายบุคคล เห็นว่าเขากำลังเรียนรู้อยู่หรือเปล่า ไม่ใช่ให้เขามาทำกิจกรรมเพียงเพื่อฆ่าเวลาไปเฉยๆ ไม่ใช่ แต่ต้องแน่ใจว่าเขาเรียนรู้อยู่นะ เช่น เขามาทำงานศิลปะ เขาเรียนรู้ที่จะต้องอดทน เขาเรียนรู้ที่จะต้องเอาชนะอุปสรรค การแก้ปัญหาต่างๆ ได้  ครูต้องประเมินอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า Formative Assessment  การประเมินผลแบบนี้จำเป็น ถ้าเขาทำแล้วเขาเรียนรู้ ทักษะเขาจะเกิดทันที ทักษะต่างๆ ในการแก้ปัญหา ทักษะเรื่องวิธีคิดอย่างเป็นระบบ แต่ถ้าหากว่าเราปล่อยเขา ไม่มีไกด์ให้เลย เขาก็ลำบากเหมือนกัน เพราะบางทีเด็กเขาก็ไม่ได้อยากทำ บางทีก็ขี้เกียจ  ครูก็ต้องมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เขาเห็นว่าตัวเขาเองทำแล้วประสบผลสำเร็จ  มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีความมั่นใจยิ่งขึ้น วิชาเหล่านี้แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กได้ดีมาก  ถ้าครูเข้าใจที่จะนำพาเด็กไปให้ตลอดรอดฝั่ง อาจารย์ไปดูโรงเรียนที่อุบลฯ เขาทำเป็นเรื่องเป็นราว เขาให้เด็กทำกิจกรรมการงานอาชีพ เอาผ้าไหมมาทำเป็นเข็มกลัดดอกไม้ ทำอาหาร ทำขายได้ อร่อยด้วย  ซึ่งอันนี้เด็กเขาภูมิใจ เขารู้สึกว่าเขามีความหมาย ทำได้เยอะแยะ   ซึ่งครูต้องเอาใจใส่ แล้วการประเมินต้องทำ ไม่ใช่ประเมินเพื่อวัดได้ตก แต่ประเมินเพื่อพัฒนาเขาอยู่ตลอดเวลา

ฝ่ายนโยบายต้องทำความเข้าใจกับครูและผู้ปกครองให้แม่นว่าไม่ใช่ทิ้งเด็กนะ   ไม่ใช่ว่าเลิกบ่ายสองแล้วทิ้งเด็ก หนึ่ง ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพในการสอนของสาระสำคัญในช่วงเช้าอย่างดีที่สุด จนกระทั่งว่าแม้ไม่มีการบ้าน เขาก็มีความเชี่ยวชาญในทักษะในวิชานั้นๆ  ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ประวัติศาสตร์  เขาต้องมีความเข้าใจ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพของครูต้องดีขึ้นกว่าเดิม  ครูต้องได้รับการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง สอง ครูที่จะอยู่กับนักเรียนในภาคบ่ายก็ต้องมีความเข้าใจอีกแบบหนึ่งในการพัฒนาเด็กให้เขามีทักษะทางด้านการงานอาชีพ ทักษะทางด้านการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกันเป็นทีม การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์  ครูจำเป็นต้องเก่งอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นครูสำคัญที่สุด  พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจว่าตัวเองก็มีส่วนที่จะเข้ามาเสริมทักษะการเรียนรู้แม้อยู่ที่บ้าน ต้องมีงานมีการให้เด็กทำ อย่าปล่อยให้เขาอยู่กับทีวีหรือเกม  เพราะฉะนั้นนโยบายมีเจตนาดี แต่วิธีการจะต้องมีเงื่อนไขที่จะช่วยกันระหว่างครูและผู้ปกครอง ถึงจะสมบูรณ์และได้ผล

โรงเรียนรุ่งอรุณถือเป็นโรงเรียนแรกๆ ที่ให้นักเรียนปฏิบัติจริงในการเรียนการสอน  เพราะระบบนี้เป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ตัวเล็กๆ คุณจะเห็นเขามีความสุขมากในการเรียนที่ได้ลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง อย่างเช่น  เราทำนาในโรงเรียน เขาภูมิใจกับข้าวที่เขาปลูก เขาทำทุกขั้นตอน การทำนาเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วธรรมชาติของมนุษย์ไม่ค่อยชอบเรื่องง่ายนะ  ถ้าจะเรียนรู้ต้องเผชิญเรื่องยาก แต่ว่าครูต้องมีวิธีการที่จะจูงใจและตั้งคำถามที่จะท้าทายเขา   สมองก็จะเจริญเติบโต    ถ้ามีเรื่องที่ท้าทายความคิดความสามารถอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว  เราจึงไม่พบว่ามันเป็นเรื่องยากลำบากอะไร เป็นเรื่องที่เด็กทำได้อยู่แล้ว หรือบางทีเราประมาทเด็ก  ไม่คิดว่าเขาจะมีความสามารถมาก เราพบว่าเขาเก่งกว่าผู้ใหญ่อีก อย่างเช่น   ให้เขาทำหนัง ทำละคร เขาทำเต็มที่ เก่งกว่าผู้ใหญ่เยอะเลย เป็นผู้กำกับมืออาชีพได้ เขามีความสุข เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์นี้ล่ะที่ทำให้เราตัดสินใจใช้การเรียนรู้แบบนี้  เขาก็เติบโตทางความคิด วุฒิภาวะทุกอย่าง

ก่อนประกาศนโยบายนี้ก็มีการวิจัย แล้วอาจารย์ก็อยู่ในทีมวิจัยนี้ด้วย   มีหลายงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องนี้ รวมถึงขนาดห้องเรียนที่ผิดปกติ ขนาดโรงเรียนที่ผิดปกติ ขนาดชั้นเรียน  ซึ่งมีจำนวนเด็กมากเกินไป แล้วก็เรื่องของเวลาเรียนที่มีประสิทธิภาพ  เราไม่ได้พูดถึงว่าจะทำให้เป็นนโยบายว่าเรียนวิชานี้กี่ชั่วโมง วิชานั้นกี่ชั่วโมง เราพูดเพียงแต่ว่าไม่จำกัดชั่วโมงเรียนไว้ตายตัวเหมือนอย่างที่หลักสูตรแกนกลางกำหนดได้ไหม อย่างเช่น ภาษาไทยต้องเรียนปีละ ๒๐๐ ชั่วโมง เราพบว่าบางแห่งภาษาไทยไม่แข็งแรง ก็ต้องเพิ่มขึ้นมาบ้าง อย่าจำกัดตามที่หลักสูตรแกนกลางกำหนด ให้โอกาสโรงเรียนเขาได้แก้ปัญหาตามความจำเป็นของเขา เช่น บางโรงเรียนเป็นเด็กชนเผ่าที่อพยพมา ภาษาไทยไม่แข็งแรง เขาก็ขอเพิ่มชั่วโมง ซึ่งเราก็เห็นความจำเป็น

นโยบายที่ประกาศมาตอนนี้    ข้อดีต้องพูดถึงเจตนารมณ์ให้ชัดเจน ว่าต้องการให้เด็กเติบโตทุกด้าน ทุกมิติ และต้องการให้ครูมีสมรรถนะมากขึ้น เจตนารมณ์ต้องชัดเจนทั้งสองข้อ ไม่อย่างนั้นครูจะคิดว่าเลิกบ่ายสองโมง ครูสบายแล้ว ที่จริงไม่ใช่ ครูจะต้องเก่งมากขึ้น ทำให้เด็กเรียนแล้วได้ผลสัมฤทธิ์และผลลัพธ์ในการพัฒนาทุกด้าน คือวิธีการเอาไปปฏิบัติต้องระมัดระวัง ถือเป็นจุดอ่อนที่สุด เพราะถ้าหากว่าโรงเรียนไม่ได้ฝึกครูจริงๆ ทำไม่ได้หรอก ตรงนี้ชัดเจน ถ้าครูไม่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ยาก ไม่ใช่ว่าทำได้ทุกโรงเรียน แต่ก็เป็นเงื่อนไขที่ดีที่ทำให้โรงเรียนต้องลุกขึ้นมาฝึกครู ผู้อำนวยการต้องลุกขึ้นมาเก่งด้วยเหมือนกัน ต้องใช้ศึกษานิเทศก์มาแนะนำ มีการโค้ชกัน ซึ่งเรื่องนี้เราก็พูดกันมาล่วงหน้าแล้ว ก็ทดลองทำแล้วดูว่าตรงไหนต้องปรับปรุง ต้องพัฒนา

เราเปิดโอกาสให้เขาได้บอกมาเลยว่าถ้าเขาจะทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็กดีขึ้น เขาจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เขาก็บอกกันมา ตอนนั้นนโยบายหนึ่งคือลดภาระของครู ครูไม่ต้องทำงานอื่น ไม่ต้องไปอบรมข้างนอก เราใช้คำว่าคืนครูให้ศิษย์  ให้ครูใช้เวลากับผู้เรียนให้เต็มที่ก่อน อย่าเอาเขาไปทำอย่างอื่น เราพบว่า ๒๐๐ วันใน ๑ ปี ครูหายไป ๘๔ วัน อยู่กับผู้เรียนไม่ถึง ๑๒๐ วัน ที่หายไปก็ไปอบรมข้างนอกโรงเรียน ไปทำงานธุรการ ไปเขียนผลงาน ไปทำประเมินภายนอก ผลก็ตกอยู่กับผู้เรียน ดังนั้นเราเลยใช้นโยบายคืนครูให้ศิษย์ก่อน แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ลดภาระครูลงเลย จากส่วนกลางที่ส่งลงไป โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน  ตุลาคม อบรมกันอุตลุดเลย ครูก็จะหายไป

ต้องพูดให้ชัดว่าเราเน้นเรื่องประสิทธิภาพของการที่ครูจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในเวลาที่จำกัด ในเวลาที่มีอยู่ ต้องแก้ปัญหาผู้เรียนให้ได้ บางเขตฯ เขาชัดมาก เขาบอกเลยว่าขอเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาไทยได้ไหม เขาพูดเลยว่าช่วงบ่ายจะสอนด้านงานอาชีพ ด้านการเกษตรเลยได้ไหม เราก็อนุมัติ เพราะเราเชื่อว่าระดับโรงเรียนจะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด เพราะเขาอยู่ใกล้ชิดกับผู้เรียน เขารู้ปัญหาว่าทำไมเด็กคนนี้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนถึงไม่ดี เขารู้หมดว่าปัญหาคืออะไร แต่ว่าเขาไม่เคยได้ลุกขึ้นเป็นผู้แก้ปัญหา เพราะเขาถูกสั่งอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้เราอยากให้เขาลุกขึ้นบอกว่าเขาอยากจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็เสนอมา ผู้อำนวยการเขตฯ บางแห่งเขาดีมาก รับฟังแล้วก็ปรับแก้ปัญหาไปเลย ให้โรงเรียนทำในสิ่งที่ควรจะทำ โรงเรียนควรจะแก้ปัญหาได้เอง และมีอิสระในการที่จะจัดการให้การแก้ปัญหานั้นลุล่วง”