บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ

ทำทุกอย่างให้ถึงคุณค่าแล้วจะสนุก

IMG_9997-1หนึ่ง…พูดแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่มีกำลังใจ
สอง…ทำสิ่งที่รัก ที่ถนัด ให้ดีที่สุด
สาม…ความสัมพันธ์

ข้างต้นนี้เป็นหลักการ ๓ ข้อ ที่ รศ.ประภาภัทร นิยม นำมาแบ่งปันกับคุณครูโรงเรียนรุ่งอรุณเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (๑๔ ธ.ค.๕๘) หลักการดังกล่าวเป็นสิ่งที่อาจารย์ประภาภัทรเรียนรู้มาจากการไปศึกษาดูงานที่เมืองฟุกุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมืองนี้เป็นต้นแบบของแนวคิด “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Village One Product)” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่คนในชุมชนเห็นปัญหาร่วมกัน นั่นคือ ชุมชนชนบทในปัจจุบันกลายเป็นชุมชนผู้สูงอายุ เพราะคนหนุ่มสาวย้ายไปอยู่ในเมือง จะทำอย่างไรให้ชุมชนที่มีแต่ผู้สูงอายุสามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เลี้ยงตัวเองได้ และแข่งขันกับเศรษฐกิจกระแสหลักได้

การเห็นปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การมองหาสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นจุดแข็งของชุมชน แล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จนเกิดเป็น One Village One Product ที่เป็นต้นแบบให้หลายประเทศทั่วโลกเดินทางมาศึกษาและนำไปปรับใช้ในประเทศของตน

ดังเช่นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ในแถบภูเขา ทั้งหมู่บ้านมีพื้นที่เพาะปลูกและอยู่อาศัยเพียง ๒๐% ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าและเขา แม้จะยากจนแต่หมู่บ้านนี้ก็ดูแลป่าและน้ำเป็นอย่างดี เมื่อคิดจะสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน ผู้นำในชุมชนคนหนึ่งมองหาว่าอะไรคือคุณค่าที่โดดเด่นของหมู่บ้าน แล้วก็พบว่าสิ่งนั้นคือ “ใบไม้”เพราะร้านอาหารต่างๆ ในญี่ปุ่นนิยมนำใบไม้มาตกแต่งจานอาหารเพื่อเพิ่มสุนทรียะและมูลค่า เขาจึงชวนคนในหมู่บ้านมาตัดใบไม้ส่งขายให้กับร้านอาหารทั่วประเทศญี่ปุ่น

ในตอนแรกมีชาวบ้านซึ่งแน่นอนว่าล้วนแล้วแต่เป็นผู้สูงอายุมาร่วมด้วย ๕ คน ทำไปได้ ๑ ปี ปรากฏว่าล้มเหลว ขายไม่ได้ แต่แทนที่จะล้มเลิกแล้วทำงานกินเงินเดือนของตัวเองไป ลุงที่เป็นคนต้นคิดกลับตัดสินใจลาออกจากงานแล้วออกศึกษาวิจัยไปตามร้านอาหารต่างๆ อย่างจริงจัง เพื่อดูว่าแต่ละร้านต้องการใบไม้แบบไหน อย่างไร ในที่สุดก็พบว่าหัวใจสำคัญคือ “ความสด” ของใบไม้ เขาจึงกลับมาพัฒนาระบบการขายใบไม้เสียใหม่ สอนให้ลุงๆ ป้าๆ ในหมู่บ้านเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อรับคำสั่งซื้อจากร้านอาหารโดยตรง ถ่ายรูปใบไม้ส่งให้ร้านอาหารเลือก ตัดเก็บและแพ็คใบ้ไม้อย่างประณีต แล้วจัดส่งอย่างรวดเร็วเพื่อคงความสด จ้างศิลปินรุ่นใหม่ที่เก่งๆ มาช่วยออกแบบแผ่นพับโฆษณาผลิตภัณฑ์ ความมุ่งมั่นตั้งใจเหล่านี้ทำให้หมู่บ้านนี้กลายเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงเรื่องผลิตภัณฑ์ใบไม้ตกแต่งจานอาหาร และทำให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านสามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้

นอกจากหมู่บ้านนี้ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่ลุกขึ้นมาสร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชน จนเกิดผลิตภัณฑ์นับร้อยๆ อย่าง หัวใจสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในแต่ละชุมชนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้สำเร็จ คือการที่ทุกคนมองเห็นปัญหาร่วมกัน แล้วร่วมกันทำบนหลักการ ๓ ข้อข้างต้น คือ พูดแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่มีกำลังใจ ทำสิ่งที่รักให้ดีที่สุด และความสัมพันธ์ เพราะความสัมพันธ์เป็นที่มาแห่งความสำเร็จ เพราะความสัมพันธ์ก่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อาจารย์ประภาภัทรกล่าวตอนหนึ่งว่า

“อาจารย์เล่าเพื่อให้พวกเราค่อยๆ ใคร่ครวญว่าชุมชนแห่งการเรียนรู้คืออะไร… เรามีสิ่งดีๆ เยอะ เราระบุได้ เราบอกได้ ของดีพวกนี้ เราลองทำมันให้ดีที่สุด แต่มีคำถามว่า แล้วเรามีแรงบันดาลใจที่จะทำมันไหม แรงบันดาลใจนี้จะมาจากไหน มาจากตัวเราเอง ไม่มีใครสร้างให้เราได้ เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง เราต้องหาคุณค่าของสิ่งที่ทำให้เจอ แล้วทำมันให้ดีที่สุด ทำให้ถึงคุณค่าของทุกเรื่องที่เราทำ ทุกเรื่องมีคุณค่าที่แท้จริงอยู่”

“ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ เราจะไม่มีแรงฮึด ไม่มีแรงบันดาลใจ แล้วเราจะใช้ชีวิตอย่างดาษๆ ธรรมชาติมนุษย์ไม่ใช่เช่นนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะหาความภาคภูมิใจไม่เจอ”

“ทำทุกวันอย่างไม่ธรรมดา ทำทุกอย่างให้ถึงคุณค่าของมันแล้วเราจะสนุก”