รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ครูรุ่งอรุณทบทวนตนบนเส้นทางครูแห่งสติ

อาจารย์ก้าวเข้าสู่ปีการศึกษา ๒๕๕๙  รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม และคณะครูใหญ่โรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยม พร้อมคณะครู มาพบปะพูดคุยและพาคณะครูรุ่งอรุณทบทวนตนบนเส้นทางครูแห่งสติ โดยอาจารย์ประภาภัทรได้บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับเชิญไปนำเสนอเรื่องการประยุกต์ใช้การเจริญสติในโรงเรียนวิถีพุทธในประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัย Jeonjuin ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อไม่นานมานี้ว่า ผู้ร่วมประชุมที่เป็นชาวต่างชาติต่างมีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติ และการมีสติในชีวิตประจำวันเป็นอย่างดี เรื่องนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นหนทางในการพัฒนาตนและพัฒนามนุษย์เพื่อชีวิตที่มีความสุข

หลังจากนั้นอาจารย์ประภาภัทรได้นำคณะครูปฏิบัติเจริญสติร่วมกัน พร้อมทบทวนตนบนเส้นทางแห่งครูสติ ที่โรงเรียนรุ่งอรุณได้นำลงสู่การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของครูและนักเรียนมาโดยตลอด เห็นได้จากหลักสูตรสถานศึกษาวิถีพุทธของโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งประกอบด้วยคุณค่าหลัก ๓ องค์ประกอบคือ คุณค่าที่ ๑ คือ ไตรสิกขา ที่ปรากฏในการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่ชีวิต คุณค่าที่ ๒ คือกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ ที่ปรากฏอยู่ในในระบบการศึกษาที่เน้นเรื่องของคุณค่า และคุณค่าที่ ๓ คือ สติปัฎฐาน ๔ ที่มีในชุมชนแห่งการปฏิบัติภาวนาของรุ่งอรุณ

หลังปฏิบัติเจริญสติแล้ว คุณครูทั้งหมดได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สะท้อนถึงการนำเรื่องของสติไปใช้ในการเรียนการสอนของตน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณครูล้วนตระหนักถึงคุณค่าของการเจริญสติ และพยายามเดินบนเส้นทางแห่งครูสตินี้

ในตอนท้ายอาจารย์ประภาภัทรได้ฝากข้อคิดไว้กับคุณครูทุกท่านว่า

“ …เริ่มด้วยศรัทธาและไมตรี และต้องทำให้ถึงที่สุด ให้สุดๆ ไปเลย ที่จริงแล้วถ้าเราทำทุกอย่างให้สุดๆ มันจะไปเจอทุกอย่างในที่เดียวกัน ไม่ได้แยกส่วน ชีวิตเรากับชีวิตคนอื่นเนื่องด้วยกัน มีผลต่อกันตลอดเวลา ชีวิตเรากับสิ่งแวดล้อม ชีวิตเรากับการทำงาน และสุขภาพเรากับงานก็เป็นเรื่องเดียวกัน…. การทำงานก็จะเป็นสุขขึ้น จากใจที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน กายเราดูแลได้ ถ้าเรารู้จักกาย ใจ ฝึกใจตลอดเวลา และรับรู้สิ่งที่เข้ามาสัมผัสเรา รับรู้ว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรควรคิด ไม่ควรคิด อะไรที่เป็นทุกข์ อะไรที่ไม่เป็นทุกข์ เราก็จะสอนตัวเราเองได้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกันหมด ชีวิตเรากับการงาน กิจวัตรประจำวัน สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ การกิน โลกที่แวดล้อมเราอยู่ ทำให้ถึงที่สุดเถอะ เช่น ครูทำแผนการสอน ก็จินตนาการให้รอบ ให้หมดเลยว่าไปเกี่ยวข้องอะไรกับใคร ไปทำอะไรให้ดีๆ ที่ไหนบ้าง เราก็จะชุ่มชื่นหัวใจว่าสิ่งที่เราทำ แม้แค่คิดก็สนุกแล้ว

…ฝากเอาไว้ว่าพวกเราน่าจะมีชีวิตที่มีความสุขทั้งกายและใจ… เอาใจมานำ เรารู้ว่าจะฝึกใจอย่างไร ฝึกสติให้เกิดขึ้นอย่างไร ก็ขอให้ดำเนินไปตามนี้ ก็จะเป็นกุศลที่คนเราเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ไม่เสียของ ไม่เป็นโมฆะอีกต่อไป เป็นมนุษย์ผู้สร้างสรรค์ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในที่สุด อยู่อย่างเป็นประโยชน์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน จะทำอะไร ไปที่ไหน หรืออยู่ที่ไหน ได้ประโยชน์ตลอดเวลา ต่อทั้งตนเอง คนรอบข้าง และคนบนโลกนี้

…ขอให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข มีชีวิตปลอดภัยในที่สุด”