บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ข้อคิดเพื่อการเป็นพ่อแม่รุ่งอรุณ: สร้าง GRIT ให้ลูกอย่างไร? โดย รศ.ประภาภัทร นิยม

พ่อแม่และครูร่วมกันสร้างเป้าหมายการเรียนรู้วัยอนุบาล ๑

ข้อคิดเพื่อการเป็นพ่อแม่รุ่งอรุณ : สร้าง GRIT ให้ลูกอย่างไร?
โดย รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
ในวันปฐมนิเทศผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ๑  ปีการศึกษา ๒๕๕๙
วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙  ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ
♦ ♦ ♦

อาจารย์ประภาภัทร นิยม ได้กล่าวต้อนรับผู้ปกครองเข้าสู่ชุมชนรุ่งอรุณ และได้ให้ข้อคิดดีๆ ในการเป็นพ่อแม่รุ่งอรุณ  ขอถอดความและเรียบเรียงออกมาดังนี้

…การเป็นพ่อแม่รุ่งอรุณถือว่าไม่ง่าย ยากระดับหนึ่ง แต่ยากระดับเบื้องต้นเท่านั้น ยังมียากไปกว่านี้อีก พ่อแม่ที่มีลูกมากกว่า ๑ คน ได้ผ่านความยากระดับที่ ๑ มาแล้ว มาเจอความยากระดับที่ ๒ พ่อแม่ที่มีลูกคนแรกต้องใจเย็นๆ จะรู้ว่าการเลี้ยงลูกยาก ความยากเป็นเรื่องสนุก  อาจารย์ขอแนะนำให้ชมคลิป TED TALK  ของ Angela Lee Duckworth: The key to success?  พูดถึงเรื่อง Grit แปลว่าความแข็งแกร่ง ความอึด  ซึ่งอาจารย์ขอแปลว่า กัดไม่ปล่อย การไปสู่ผลสำเร็จให้ได้โดยไม่เลิกรา ถ้าพ่อแม่มีลูกที่มีบุคลิกแบบนี้ พ่อแม่จะนอนตายตาหลับ

จากที่ชมคลิป TED TALK  พบว่าเด็กมี Grit ทุกคน แต่เริ่มหายไปเมื่อโตขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เช่นการฝึกขี่จักรยานเมื่อทุกคนอยู่ในวัยเด็ก สนุก ล้ม เจ็บ แต่ไม่ยอมเลิก ไม่ได้ทุกข์ร้อน ทุกคนมีบทเรียนที่ได้ แล้วแก้ข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับเด็ก ถ้าเด็กพบเรื่องที่มีความหมายต่อจิตใจ ต่อความคิด โดนใจ ก็จะทำให้เด็กมุ่งมั่นต่อสิ่งนั้น แต่ผู้ใหญ่/พ่อแม่มักเข้ามาจัดการ ทำให้โอกาสที่จะเด็กจะได้พัฒนา Grit ของตนตามวัยที่เพิ่มขึ้นนั้นมีน้อยลง  จึงเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน  พ่อแม่หลายคนอาจจะเคยเสียดายโอกาสของตนที่ไม่ได้พัฒนามันขึ้นมา การที่จะทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จในทุกเรื่องต้องมี  Grit ต้องกัดไม่ปล่อย  ซึ่งเป็นเรื่องที่พัฒนาได้ พัฒนาที่จิตใจ เช่นเดียวกับการตั้งเจตจำนงในชีวิตที่เรียกว่าการตั้ง Growth mindset  ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับ Fixed mindset  สามารถจำแนกความแตกต่างได้ดังนี้

Growth mindset  

  • มองความล้มเหลวเป็นหนทางแห่งความสำเร็จ ชอบลองสิ่งใหม่ๆ
  • คำวิจารณ์ช่วยให้เราพัฒนาไปข้างหน้าได้ คนเราชอบคำวิจารณ์และพอใจที่ได้คำวิจารณ์  เด็กๆ ก็ชอบคำวิจารณ์ ไม่ต้องการแค่คำชมว่าเก่งหรือคำตำหนิ
  • เด็กๆ สามารถเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆ ที่ตนต้องการได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะเรียนรู้และลงมือทำ เด็กไม่เคยบอกว่าทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้จักความยาก เด็กทำได้ทุกอย่างเมื่อต้องการ  เวลาที่หงุดหงิดเมื่อเจอสิ่งที่ยาก เด็กจะฮึดสู้และลงมือทำต่อไป ลุกขึ้นทำใหม่ ผ่านความขัดใจไปได้  ต่างจากผู้ใหญ่ที่กว่าจะผ่านความขัดใจไปได้ พิรี้พิไร ไม่ทำ หมดกำลังใจ
  • ฉันชอบให้คนชื่นชมว่าพยายามเป็นอย่างมาก อยากให้เห็นถึงความพยายามที่ทำให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ชมว่าเก่ง  แล้วถ้าพบคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ จะได้รับแรงบันดาลใจอย่างมาก  จะเรียนรู้ในทันที

ในขณะที่ Fixed mindset 

  • ไม่ชอบความท้าทาย ไม่ชอบให้ใครมายุ่ง  ไม่สามารถเห็นอะไรได้มากกว่านี้แล้ว  ถ้าทำได้ไม่ดี คือทำไม่ได้ ทำได้แค่นี้
  • ความล้มเหลวคือขีดจำกัดความสามารถของตน  ตัดสินตัวเอง
  • คำวิจารณ์และเสียงตอบรับเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนบุคคล   แค่ความคิดเห็นที่ต่างกัน
  • ถ้าพบคนที่ประสบความสำเร็จ จะรู้สึกด้อย ถูกคุกคาม เวลาที่เจออะไรยากๆ ที่ทำให้หงุดหงิด จะเลิกทำ
  • ฉันชอบให้คนอื่นชมว่าเก่งและฉลาด

จากงานวิจัยนี้พูดไว้เกี่ยวกับเบื้องหลังของ Fixed mindset  ก็คือ ความขี้อิจฉา พอมีความขี้อิจฉา ก็เกิดการบดบังปัญญา  ซึ่งก็คือ กิเลส เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง

Pages: 1 2 3