บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนประถม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

การจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ (๔)

K.Wa:: เข้าใจตัวเองแล้วจึงเข้าใจคนอื่น – ครูทิวา เสมวิมล (ครูวา) ครูประถม ::

“เราตั้งความหวังว่าเราอยากเป็นครูที่ดี เราอยากทำดี อยากให้ห้องเรียนเรียบร้อย เด็กฟัง เด็กตั้งใจ สอนได้อย่างที่เราตั้งใจจะสอน  ผลที่เกิดขึ้นคือมันมีความกดดันทั้งตัวเองและไปกดดันเด็กๆ จนมีเหตุการณ์หนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากเด็ก

วันนั้นเด็กๆ เขาทำความสะอาดห้องกัน เด็กคนหนึ่งเขาโกรธเพื่อน เลยเดินออกไปที่ระเบียงข้างนอก แล้วปิดประตู  พออารมณ์ดีขึ้น เขาจะกลับเข้ามาในห้องแล้วเข้าไม่ได้ ก็ทุบกระจกใหญ่เลย เราก็ตกใจวิ่งไป แล้วหันไปดุเด็ก ๕-๖ คนนั้นว่า “ใครแกล้งเพื่อน” ทุกคนก็บอกว่าไม่ได้ทำ ซึ่งตอนนั้นเด็กทุกคนอยู่ไกลจากประตู เพราะเขาถูพื้นกันอยู่ แต่เราไม่ได้เอะใจอะไร ใจตัดสินไปแล้วว่า ๕-๖ คนนี้ต้องแกล้งเพื่อนแน่นอน เลยบอก งั้นลองดูว่าประตูมันจะปิดเองได้ไหม ก็เปิดประตูแล้วเลื่อนปิด ปรากฏว่ากลอนมันหล่นลงมาเอง

ณ ตอนนั้นเรารู้สึกเลยว่า โห ตัวเราตัดสินเด็กไปโดยที่เขาไม่มีความผิดอะไรเลย ก็เลยนั่งคุยกัน แต่ตอนนั้นใจยังไม่ยอมรับผิด ยังรู้สึกว่าเราครู เราผิดไม่ได้ จนเราค่อยๆ ทำงานไป เรียนรู้จากเด็กไป โรงเรียนเริ่มพาไปพบอาจารย์อมรา (อ.อมรา สาขากร) พาไปปฏิบัติธรรม เราค่อยๆ ย้อนมองตัวเองเป็น เริ่มเข้าใจตัวเองไปเรื่อยๆ จนมีอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เราเริ่มเห็นแล้วว่า การเข้าใจตัวเองนั้นส่งผลต่อคนรอบข้างจริงๆ

วันนั้นเราพาเด็กทำการทดลองเรื่องน้ำซึมผ่านดิน เราเตรียมทุกอย่างไว้อย่างดี แล้วบอกเด็กว่าต้องระวังนะ ถ้าหกจะไม่ได้ทำนะ เสียงเข้มมาก แต่มีกลุ่มหนึ่งเขาซนมาก กำลังจะเทน้ำแล้วแย่งกัน ปรากฏว่าน้ำหก ใบงานเปียกหมดเลย เราหันไปปุ๊บ ภาพหนึ่งที่สะท้อนในความรู้สึกคือ หน้าเด็กทุกคนอยู่ประมาณว่า ตายแน่ๆ ณ ตอนนั้นเราเห็นเลยว่าเรากำลังโกรธ เห็นอารมณ์ตัวเอง ก็เลยหยุดนิดหนึ่ง แล้วบอกเด็กๆ ว่าไม่เป็นไร ไปเอาผ้ามาเช็ดนะ แต่ว่ากลุ่มหนูไม่ได้ทำการทดลองแล้ว ให้แยกไปอยู่กับเพื่อนกลุ่มละคน

สภาวะนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้มากๆ คือการเข้าใจตัวเอง เราทันกับความรู้สึกและเข้าใจตัวเอง แล้วมันส่งผลกับเด็กมาก เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราย้อนมองตัวเองบ่อยๆ สอนแล้วเกิดอะไรขึ้น กลับมาทบทวนตัวเองว่าเราทำอะไร ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงเกิดขึ้น

สิ่งที่พบในใจคือความสนุกบนงาน รู้สึกสนุกกับความจริงที่อยู่ต่อหน้า ทั้งการสอน ทั้งชีวิตที่อยู่กับเด็ก ทำให้เราเห็นเด็กแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เข้าใจเขา เขามีธรรมชาติการเรียนรู้อย่างไร ทำงานกับเขาเหมือนเป็นเพื่อนกัน เพราะถ้าเราเข้าใจตัวเอง มองตัวเองเป็น ใจเราจะเปิดที่จะมองคนอื่น แล้วเห็นในความเป็นเขาแต่ละคน เห็นความสุขของคนอื่น ทำให้เราพบความสุขในใจจริงๆ
………………
เก็บตกจากวงสนทนาการจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และครู-บุคลากร โรงเรียนรุ่งอรุณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ