บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

การจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ (๕)

Gift2:: เด็กคือกระจกให้ครูมองเห็นตัวเอง – ครูปิยะดา พิชิตกุศลาชัย (ครูกิ๊ฟท์) ครูอนุบาล ::

“น้องคนหนึ่งเราเห็นเขามาตั้งแต่อนุบาล ๑ ตอนมาโรงเรียนแรกๆ เขาสะพายกระเป๋า ถือร้องเท้า แล้วก็ร้องไห้พร้อมจะวิ่งออกจากโรงเรียนอยู่ตลอด เพราะไม่อยากอยู่โรงเรียน ข้าวโรงเรียนไม่แตะสักคำเดียว แม่ต้องเอาข้าวเปล่ากับหมูแผ่นหั่นใส่กล่องเล็กๆ มาให้ทุกวัน กังวลกับทุกเรื่อง วันหนึ่งลืมเอากระติกน้ำมา ชีวิตวันนั้นอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีกระติกน้ำ เราก็ค่อยๆ พาเขาเข้าใจให้คลายกังวล จนมีอยู่วันหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเขาร้องไห้เรื่องอะไร แต่ร้องยาวนานมาก เราก็พาเขาไปนั่งคุยกันสองคนที่ห้องอื่น

ส่วนหนึ่งในใจเราคือหงุดหงิด จะร้องอะไรขนาดนั้นนะ มันนานมากเลย อีกส่วนหนึ่งก็ห่วงครูคู่ห้อง ทิ้งพี่เขาอยู่คนเดียวจะไหวไหม ระหว่างนั้นก็พยายามพูดให้เขาคลายอารมณ์ โดยบอกเขาว่า “หนูหายใจเข้านะ” ระหว่างพูดประโยคนั้น เราถึงเห็นตัวเองว่าเราไม่ได้หายใจ คือเรามัวแต่โมโห หงุดหงิด จนไม่ได้หายใจ จากนั้นพอบอกเขาว่าหนูหายใจเข้านะ เราก็หายใจเข้าด้วย หายใจออกนะ เราก็หายใจออกไปพร้อมกับเขา จนเราสองคนลมหายใจเป็นปกติ แล้วเราถึงมาคุยกันให้เขาค่อยๆ คลายอารมณ์ลง

หลังจากนั้นพอเขาโตเป็นพี่อนุบาล ๓ เราได้ยินเขาบอกน้องๆ ว่า “เนี่ย ตอนพี่อยู่ อ.๑ พี่สะพายกระเป๋า ถือร้องเท้าร้องไห้ทุกวันเลยนะ เพราะพี่กังวล กลัวแม่จะไม่มารับตอนกลางวัน แต่แม่มารับนะ วันนี้พี่ไม่ร้องแล้ว” เขาเล่าด้วยความภาคภูมิใจมาก คำที่เขาพูดกับน้องๆ เป็นคำที่เราเคยบอกเขามาก่อนว่าแบบนี้เรียกว่ากังวลนะ สิ่งที่เขาพูดเหมือนเขากำลังสอนน้องว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ยังไงแม่ก็มา เราเลยแอบยิ้มในใจว่าดอกผลที่เราฟูมฟักมา ๓ ปี จนวันนี้เขาเข้าใจแล้วว่าตัวเขาเป็นอย่างไร ความกังวลในชีวิตเขาก็น้อยลง

เด็กอีกคนก็น่ารักมาก เราทำกิจกรรมขอบคุณ-ขอโทษกัน แล้วสืบต่อมาเป็นกิจกรรมตู้ไปรษณีย์ เด็กๆ สามารถส่งจดหมายไปขอบคุณหรือขอโทษใครก็ได้ในห้อง มีน้องคนหนึ่งส่งเป็นภาพวาด เราก็ให้เขาเล่าว่าจะส่งให้ใคร เขาบอกว่าส่งให้เพื่อนคนนี้ ขอโทษที่เมื่อวานเขาตะคอกใส่ เราเลยหันไปหาคนรับ “เอ้า คนรับ เขาส่งให้แล้ว คนรับจะตอบว่าอะไรคะ” ในใจเราก็คิดตามประสาผู้ใหญ่ว่าคงตอบว่าไม่เป็นไรมั้ง แต่น้องคนนั้นตอบว่า “เราก็ต้องขอโทษเหมือนกันที่เราทำให้ภูฟ้าต้องตะคอกใส่เรา” เรารู้สึกว่า คิดได้อย่างไรเนี่ย คือเขาไม่ได้มองว่าเพื่อนขอโทษเขาเรื่องอะไร แต่เขามองว่าแล้วเขาทำอะไรให้เพื่อนต้องตะคอกใส่ ซึ่งเป็นความคิดที่ลึกมากที่เขาเข้าใจตัวเองก่อน ว่าเขานี่ละเป็นเหตุของเรื่องต่างๆ มากมาย

เด็กๆ มีเรื่องให้เราเรียนรู้อยู่ทุกวัน เราและเด็กเรียนรู้ไปพร้อมกัน ทำให้เราเข้าใจตัวเราเอง เด็กเขาก็เข้าใจตัวเขา เราและเด็กเติบโตไปด้วยกัน
………………
เก็บตกจากวงสนทนาการจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และครู-บุคลากร โรงเรียนรุ่งอรุณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ