บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

โครงการแตกฉานภาษาพัฒนาความคิด

language-ws12ช่วงปิดภาคเรียนคือช่วงเวลาเรียนรู้และพัฒนาตนของคุณครูรุ่งอรุณ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ คุณครูทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม และบุคลากรส่วนสนับสนุน มาร่วมกันทำกิจกรรมพัฒนาตนในโครงการ “แตกฉานภาษาพัฒนาความคิด” เพื่อให้ครูได้ประเมินสมรรถภาพและประสิทธิภาพในการใช้ภาษาของตัวเอง มองเห็นข้อติดขัด และมองเห็นแนวทางที่จะพัฒนาการใช้ภาษาของตัวเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมี รศ.ประภาภัทร นิยม คุณครูสุนิสา ชื่นเจริญสุข คุณครูสกุณี บุญญะบัญชา คุณครูอัจฉรา สมบูรณ์ คุณครูอารีย์ จันทร์แย้ม คุณครูเสมอแข พัวภูมิเจริญ และคุณครูรุ่นพี่ เป็นวิทยากรกระบวนการพาทำกิจกรรมและชวนคุณครูสะท้อนย้อนมองตนในแต่ละกิจกรรม

รศ.ประภาภัทรกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการพัฒนาครูในครั้งนี้ว่า ครูรุ่งอรุณนั้นมีศักยภาพสูงอยู่ในตัว แต่อาจยังใช้ไม่หมด หรือไม่ได้เอามาใช้ให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพในด้านภาษาและการสื่อสารที่สำคัญมากต่อวิชาชีพครู เป็นเครื่องมือที่ครูต้องใช้กับนักเรียนของเราอยู่ตลอดเวลา เพราะครูต้องพูดสอน  สิ่งที่นักเรียนจะได้คือการฟังคำพูดของคุณครู ดังนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้คำพูดของคุณครูนั้นเป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์ เป็นวาจาแห่งจิตบริสุทธิ์ และเป็นวาจาที่เป็นธรรม

“วาจาศักดิ์สิทธิ์” คือพูดแล้วนักเรียนอยากฟัง ฟังแล้วเชื่อ
“วาจาแห่งจิตบริสุทธิ์” คือวาจาที่จริงใจ ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง
“วาจาที่เป็นธรรม” คือฟังแล้วเด็กเกิดปัญญาเข้าถึงความจริงทั้งในตัวเองและสิ่งต่างๆ ได้

“ยุคนี้คนไทยพูดกันไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะถ้าพูดเรื่องสำคัญๆ ปัญหาใหญ่ๆ พูดกันเท่าไรไม่รู้เรื่อง แล้วก็เลี่ยงที่จะพูด หรือใช้ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ สิ่งที่เราจะทำเรียกได้ว่าเป็น Key Success อันหนึ่ง คือการพูดกันให้เข้าใจ พูดกันให้ได้ความหมายที่ดี พูดกันให้ลงรอย และพูดกันเพื่อสร้างจิตใจ สร้างความรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูโดยตรง วันนี้เราลองจัดกิจกรรมเพื่อให้ทุกคนได้ประจักษ์ว่าเราจะประเมินตัวเราเองไว้ที่ตรงไหน ความติดขัดขัดข้องของเราอยู่ที่ตรงไหนบ้าง เหมือนส่องกระจกดูตัวเองในเรื่องประสิทธิภาพในการพูดของเรา” รศ.ประภาภัทรกล่าวก่อนเริ่มกิจกรรม

  • กิจกรรมที่ ๑ : ๒๐ คำถาม
  • กิจกรรมที่ ๒ : เรียบเรียงภาษาจาก  “คำครูที่ได้” เป็นถ้อยคำภาษาที่สละสลวยและเข้าใจง่าย คนละ ๓ นาที
  • กิจกรรมที่ ๓ : โยนิโสมนสิการ (Wise Reflection) จากสิ่งของ ๑ ชิ้น ที่นำไปสู่การเรียนรู้ ๓ ระดับ – รู้ภายนอก รู้ความหมายที่เกี่ยวข้อง และรู้เข้าไปในใจตนเอง
AAR กิจกรรม “เรียบเรียงภาษา”

เสียงสะท้อนของครูหลังจบกิจกรรม…

ครูฟีม-วิชญ์วศิน สินทวี ครูมัธยม : “จากกิจกรรมในช่วงเช้า (กิจกรรมการตั้งคำถาม ๒๐ คำถาม และกิจกรรมพูดอภิปรายในเวลา ๓ นาที จากคำครูที่จับสลากได้) พบข้อขัดข้องที่เราช่วยกันแลกเปลี่ยนว่า เรารู้สึกมีความกังวล มีความกลัวบางอย่าง ผมมองว่าสิ่งสำคัญของการสื่อสารอยู่ที่การได้แลกเปลี่ยน แต่เมื่อเรากลัว ยึดติดว่าสิ่งที่เราสื่อออกไปจะถูกต้องหรือเปล่า มันกลายเป็นผลสะท้อนกลับมาว่าเราติดแล้วเราไม่กล้าสื่อสารสิ่งนั้นออกไป ผมมองว่าถึงแม้การที่เราพูดออกไปแล้วมันจะผิด แต่ว่าสิ่งที่ผิดมันจะเป็นพื้นฐานให้เราได้แลกเปลี่ยนกันต่อเพื่อเข้าสู่เป้าที่มันใกล้หรือถูกต้องมากยิ่งขึ้น”

ครูอีฟ-ทิพย์ทมนต์ สวัสดี ครูอนุบาล “ได้กลับมาย้อนดูตัวเอง เรารู้อยู่แล้วว่าการใช้ภาษาเรายังไม่ดีเท่าไร ยิ่งได้มาทำกิจกรรมยิ่งเห็นชัด คลังคำศัพท์เรามีไม่เยอะ คำศัพท์ที่จะระบุความหมายไปตรงๆ ก็ไม่ค่อยจะมี เวลาพูดจึงคลุมเครือ ก็สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเรามีแค่นี้ แล้วเราไปคุยกับเด็ก เด็กเขาจะได้อะไรไปบ้าง แล้วเราควรจะทำอย่างไรกับตัวเราเอง คนที่คลังคำศัพท์น้อยก็คือเรา คนที่จะทำให้มันเพิ่มขึ้นก็คือเรา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราเองที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น”

ครูเฟิร์น-ณัฏฐนิช ศิริดม ครูอนุบาล “ตอนที่เราพูดคุยกันอยู่ในวง นอกจากเราได้เรียนรู้ปัญหาที่ทำให้การสื่อสารของเราไม่สมบูรณ์ เช่น ความกังวลใจ ความตื่นเต้น ความกลัวไม่ดี ความติดดีต่างๆ ยังทำให้เห็นคุณค่าของภาษาที่พี่ๆ สะท้อนกันในวง ทำให้เห็นแนวทางว่าเราจะพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและอาศัยกัลยาณมิตร อาศัยชุมชนที่เราช่วยกันเรียนรู้จริงๆ เราถึงจะพัฒนาศักยภาพของเราได้”
 ก่อนจบการกิจกรรมการเรียนรู้ในวันนั้น รศ.ประภาภัทร นิยม กล่าวให้โอวาทเพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้และพัฒนาตนของครูและบุคลากรต่อไปว่า

“การเรียนรู้ในวันนี้มีค่ามาก หลายคนได้เห็นกระจกส่องดูตัวเอง ได้พบว่าประสิทธิภาพในการใช้ภาษาของเราอยู่ตรงไหน หลายคนบอกว่าวันนี้ได้อ่านหลายอย่าง ได้อ่านสถานการณ์ ได้อ่านสิ่งของ ได้อ่านวัตถุ สุดท้ายแล้วต้องกลับมาอ่านใจของตัวเอง ความติดขัดเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราไม่ชำนาญ เพราะฉะนั้นลองไปตรงๆ ลองอ่านใจตัวเองให้เยอะๆ ตั้งคำถามไปที่ใจของตัวเอง เราจะอ่านใจตัวเองออกเรื่อยๆ แล้วต่อไปเราจะอ่านภาษาใจของคนอื่นออกด้วย เด็กเขามีภาษาน้อย แต่เขามีความพยายามที่จะสื่อสารกับเรา ถ้าเราอ่านใจเขาออก เราจะเข้าใจเขามากๆ”

“คุณลองใช้ภาษาด้วยตัวคุณเอง ที่เรียกว่าสร้างความรู้ด้วยภาษาของตัวเอง ใช้ภาษาสดๆ ของตัวเอง วันนี้ทุกคนได้ด้นสดตลอดเวลา แล้วเราก็พบว่าเรากระท่อนกระแท่น เราก็คงต้องด้นสดต่อไป แล้วต้องเชื่อมั่นในด้นสดของเรา มันจะดีหรือไม่ กระท่อนกระแท่นขนาดไหนก็ตาม แต่เราก็ต้องใช้มัน หนามยอกเอาหนามบ่ง แล้วค่อยๆ ด้นให้มันเป็นเพลงขึ้นทุกที อิมโพรไวซ์ให้เป็นเพลงให้ได้ ไม่ต้องไปกังวล”