บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

หลอมรวมจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู

“ครูจะนำพานักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร หากครูไม่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง”
“เอาใจมาให้ได้ก่อน ความรู้จะตามมา”
“ห้องเรียนที่เปี่ยมพลังการเรียนรู้เชิงคุณค่าและมีความสุข”

วันที่ ๒๕-๒๖ เมษายน ๒๕๖๐ คณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณทั้งโรงเรียนอนุบาล ประถมและมัธยม เตรียมการเปิดปีการศึกษาใหม่ ๒๕๖๐ ด้วยการจัดการความรู้เชิงปฏิบัติการ “หลอมรวมจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู” เพื่อเป้าหมายการออกแบบแผนการสอนที่สร้างห้องเรียนที่มีพลังและมีความสุข

วันแรก สร้างแรงบันดาลใจด้วยการชมวิดีโอสารคดีเรื่องครูรุจีสมร โรงเรียนวรรณวิทย์ และห้องเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น Children full of life แล้วจัดการความรู้ (KM) จากการชมวิดีโอในประเด็นคำถาม  โรงเรียน นักเรียน ครู เป็นอย่างไร?  ทำไมครูจึงเป็นเช่นนี้?  ผลที่เกิดขึ้นที่ได้เห็นคืออะไร? แล้วมองกลับมาที่ตนเองว่าเห็นและรู้สึกอย่างไร? ครูจะนำไปใช้อย่างไร? เพื่อจะเป็นครูผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง

ครูทุกคนที่ได้ชมล้วนประทับใจในความเป็นครูของครูรุจีสมร ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีจิตใจสูง ทุ่มเท ยืนหยัด พร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือนักเรียนของตน และได้เรียนรู้ในอีกบริบทหนึ่งของห้องเรียนประถมของญี่ปุ่น ซึ่งครูสามารถนำปัญหาและสถานการณ์จริงในชีวิตเรื่องการสูญเสียมาสร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ ครูสัมผัสถึงจิตใจของเด็กๆ และนำพาให้เด็กๆ ในห้องได้แบ่งปันทุกข์สุขร่วมกัน ก่อเกิดห้องเรียนที่มีพลังและมีความสุข

ลำดับต่อมาเป็นกิจกรรม “พลิกความคาดหมาย” อาทิ ให้ครูเขียนกลอน วาดภาพ แล้วถูกฉีกทำลายลง การแสดงบทบาทสมมติที่ไม่เคยทำ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้นำพาให้ครูประจักษ์ความจริงเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตนที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล เช่น ด่วนสรุป คาดหวัง ผิดหวัง คับข้องใจ กังวล กลัว ฯลฯ จนในที่สุดครูเข้าใจตนเอง เชื่อมโยงไปสู่การเข้าใจผู้อื่น เข้าใจนักเรียน และช่วยกันถอดบทเรียนจากกิจกรรมที่ทำให้ครูเข้าใจว่า การสร้างการเรียนรู้ต้องประกอบด้วย ๑. การกำหนดเป้าหมาย (เชิงเนื้อหา/คุณค่า/ทักษะ) ๒. กระบวนการเรียนรู้ (ที่มีขั้นตอนไปสู่เป้าหมาย) ๓. การประเมินผลไปสู่คุณค่า โดยเป็นการเรียนรู้แบบ Active learning

นำไปสู่โจทย์ท้าทายถัดไปว่า แล้วครูจะนำองค์ประกอบเหล่านี้มาออกแบบแผนการสอนในห้องเรียนได้อย่างไร?

“ต้องขอบคุณกิจกรรมนี้ที่ทำให้มองเห็นด้านในของเราได้ดีมาก”
“วันนี้เราได้ก้าวผ่านความรู้สึกหลายอย่าง เช่น ความโกรธ การแสดงออกที่ไม่คุ้นเคย ได้ออกจากพื้นที่ปลอดภัย”
“รู้จักสภาวะอารมณ์ของเรา ไม่หลงไปอยู่กับความคิด รู้ตัวและเผชิญกับมัน ภูมิใจที่ทำได้”

ในช่วงท้าย รศ.ประภาภัทร นิยม นำพูดคุยถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ได้ชื่นชม ให้กำลังใจและเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้กับคณะครู ด้วยการให้ความรู้เรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) ที่ประกอบด้วย Head ( Core competencies), Hand (Core skills) และ Heart (Core Value)

วันที่สอง ครูแบ่งกลุ่มคละโรงเรียน (ทุกกลุ่มประกอบด้วยครูอนุบาล ประถม มัธยม) แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันแรกมาออกแบบแผนการสอนเชิงคุณค่าที่ประกอบด้วย O L E (Objective / Learning Process / Evaluation)  และทำห้องเรียนจำลอง (Micro teaching) ลองมือสอนจากตามแผนที่ออกแบบไว้ โดยเลือกครูทำหน้าที่เป็นผู้สอน และครูที่เหลือสวมบทบาทเป็นนักเรียน แล้วร่วมกันสะท้อนผลหลังการสอนทั้งในมุมของผู้สอนและผู้เรียนว่าอะไรที่เป็น/ไม่เป็นไปตามแผน เหตุเพราะอะไร แล้วจะแก้ไขอย่างไร

การออกแบบแผนการเรียนการสอนของรุ่งอรุณนั้นมีระบบการทำงานเป็นทีม มีโค้ชซึ่งเป็นครูใหญ่/ครูรุ่นพี่/ครูที่มีประสบการณ์ และมีเพื่อนๆ ครูร่วมทีม “ช่วยกันคิด แนะนำ ติติง แก้ไขและทบทวนด้วยความเป็นกัลยาณมิตร” โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่นักเรียน โดยครูจะคัดเลือกประเด็นที่กลุ่มสนใจมาสร้างแผนการสอน กำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ครูต้องการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เลือกกิจกรรมและสื่อที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ครูสามารถเปิดใจรับรู้ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึก สภาวะภายในของตนและผู้อื่น มีการรับฟังกัน เคารพและเชื่อมั่น ไม่ตัดสิน ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นบรรยากาศการเรียนรู้และพัฒนาตนไปบนความสุข ความสนุก และการเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เป็นโอกาสที่ครูแต่ละโรงเรียน-อนุบาล ประถม มัธยม ได้รู้จักกันมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งจากครูรุ่นพี่ ครูน้องใหม่ ครูต่างระดับและต่างสาขาวิชา ซึ่งช่วยให้ครูสามารถนำไปปรับใช้ได้บนหน้างานการสอนของตนเองต่อไป

“ความรู้ที่เรามีอยู่เปลี่ยนแปลงได้ เรียนรู้ใหม่ได้” รศ.ประภาภัทร นิยม

“๒๐  ปีรุ่งอรุณ เราเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง  สิ่งนั้นที่พี่มีความสุขมากคือ พวกเราสะท้อนเรื่องการฟัง  ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุดที่จะยืนหยัด ทำให้สังคมของเราเต็มไปด้วยความสุข ตลอด ๒ วันที่ผ่านมาเราทำเรื่องนี้ออกมาได้สำเร็จ เราไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะ Perfect หรือล้มเหลว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราเรียนรู้และเราฟังกันจริงๆ แล้ว” ครูสุนิสา ชื่นเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูใหญ่ฝ่ายอนุบาล

“รู้สึกมีความสุข รู้สึกว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว เป็นเรื่องของความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์จากนี้ไป ภูมิใจที่รุ่งอรุณมีครูคุณภาพ ครูหลายๆ คนพร้อมที่จะไปช่วยเหลือคนอื่น ไปช่วยเหลือ โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ” ครูสกุณี บุญญะบัญชา ครูใหญ่ฝ่ายประถม

“รู้สึกดีว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการทำงานกันทั้ง ๓ โรงเรียน ภูมิใจมากที่มีโค้ชกว่า ๒๐ คน สนุกที่ได้เห็นการแลกเปลี่ยน เห็นทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ คำว่าครูกับผู้เรียนรู้อยู่ใกล้ๆ กัน” ครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ครูใหญ่ฝ่ายมัธยม

“จากที่ฟังครูพูดสะท้อนมา จริงๆ แล้วครูเริ่มต้นที่ตนเอง Trust ตัวเอง  Respect คนอื่น ยอมวางตัวเองไป ยอมรับนักเรียน มองเห็นความหลากหลาย มาปรับที่ตนเองเยอะมาก… พอครูปลดปล่อยด้านในของตนเองได้ ก็นำไปสู่การจัดการด้านนอกได้ชัดขึ้น ยิ่งได้หลักการไปก็จะเป็นการจัดการตนเองที่มีทิศทาง” ครูเปรมปรีติ หาญทนงค์ หัวหน้าหน่วยโครงงานบูรณาการสังคม-ภาษาไทย มัธยม

“ทีมมีความหมาย คนสำคัญคือโค้ช ถ้าเราไม่มีโค้ช เราต้องเป็นโค้ชให้ตัวเอง” ครูชัชฎาภรณ์ ศิลปสุนทร ผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายประถม