บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  ศิษย์เก่า,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

พี่สอนน้อง: เราไม่ได้แค่สอนน้อง แต่เราสอนตัวเราด้วย

“พี่สอนน้อง” โครงการดีๆ ที่ชักชวนศิษย์เก่ารุ่งอรุณ RA15 ใช้เวลาว่างช่วงรอเปิดภาคเรียนในสถาบันอุดมศึกษา มาช่วยสอนช่วยติวน้องๆ มัธยมในวิชาไอทีและชีววิทยา น้องๆ ได้เรียนรู้จากพี่ที่พูดคุยภาษาเดียวกัน  ขณะที่พี่เองก็ได้เรียนรู้และพัฒนาตนหลายด้านกับการเป็น “ครูของน้องๆ” ในครั้งนี้

นางสาวณัฐณิชา จ.จิตต์เจริญชัย (เดล)
นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ คณะสถาปัตยกรรม สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
วิชาที่สอน: ไอที ม.ต้น กลุ่ม Graphic

ทำไมถึงมาสอน?
“ตอนนั้นคุณครูต้อย (ครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ครูใหญ่ฝ่ายมัธยม) ก็ชวนหลายๆ คนว่าอยากให้มาช่วยสอนน้องๆ แล้วพอดีว่าหนูสะดวก ปกติปิดเทอมก็นั่งๆ นอนๆ รู้สึกว่าเราเรียนที่นี่ ก็อยากแบ่งปันความรู้กลับมาบ้าง พอมาทำก็รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์มากขึ้น ต้องเตรียมแผนการสอน ต้องตื่นแต่เช้าเหมือนสมัยเรียน แต่มาสอนแล้วเห็นน้องๆ มีความสุข หนูก็มีความสุข”

สอนอะไร สอนอย่างไร?
“หนูคุยกับเปตองก่อนว่าเขาสอนอะไรใน ม.ปลาย แล้วมาวางแผนการสอนของหนูให้น้องเขาสามารถต่อยอดตอน ม.ปลายได้ ก็จะมีการออกแบบโปสเตอร์ (Poster design) และการออกแบบคาแรกเตอร์ (Character design) โดยใช้โปรแกรม Photoshop และ Illustrator”

“หนูจะสอนตามหัวข้อที่เตรียมไว้แค่ช่วงสั้นๆ ให้งาน แล้วปล่อยให้น้องลงมือทำงาน เพราะถ้าเรายิ่งสอนมาก น้องเขาก็ไม่ฟัง ก็ให้เขาไปเรียนรู้จากการทำงานจริงเลย หนูจะเปิดกว้างให้น้องเขาทำเรื่องที่เขาชอบ เพราะคิดว่าถ้าน้องได้ทำในเรื่องที่เขาชอบหรือสนใจ เขาจะตั้งใจ เขาจะทำอย่างมีความสุข ตอนน้องทำงานหนูก็จะเดินดูว่าเขาทำได้ไหม หรือถ้าน้องถาม แสดงว่าเขาไม่เข้าใจแล้ว ก็อธิบายไปเป็นรายคน พยายามคิดเป็นขั้นตอนแล้วค่อยๆ บอกน้อง คือเราทำเองเราอาจจะคิดว่าง่าย เพราะเราทำบ่อย แต่มันอาจจะยากสำหรับน้องที่ไม่เข้าใจ เราก็ต้องใจเย็นๆ หรือมองกลับไปสมัยเราอยู่ ม.๑ เรายังได้ไม่เท่าน้องเขาเลย ก็ค่อยๆ สอนไป เพราะน้องแต่ละคนพื้นฐานไม่เท่ากัน”

วางเป้าหมายการสอนไว้อย่างไร?
“หนูให้ความสำคัญเรื่องความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการใช้โปรแกรม บอกน้องไปว่างานไม่มีถูก ไม่มีผิด ขอให้ออกมาเป็นตัวน้องที่สุด แล้วความรู้สึกชอบไม่ชอบมันตีเป็นคะแนนยาก มันเป็นเรื่องคุณภาพ เลยไม่ได้ดูผลงาน แต่ดูตั้งแต่เขาทำ ดูกระบวนการคิดของเขา บางคนเขาวาดในกระดาษออกมาสวย แต่เขาอาจจะทำโปสเตอร์ออกมาไม่ละเอียดเท่าที่ออกแบบไว้ เพราะเขาอาจไม่ถนัดโปรแกรมเพราะเขาเพิ่งเริ่มฝึก แล้วการวาดในกระดาษมันง่ายกว่า เพราะฉะนั้นหนูจะดูในกระดาษของเขาด้วย ดูความคิดความสร้างสรรค์ ซึ่งเวลาให้งานหนูจะให้น้องสเก็ตช์ในกระดาษก่อนทุกครั้ง เหมือนตอนที่หนูเรียนกับครูตอง (ครูศิลปะ) ครูก็ให้สเก็ตช์ในกระดาษก่อน”

เป็นครูใหม่ เจอปัญหาอะไรไหม?
มาตอนแรกเราฮึดมาก เราอยากให้ เราอยากให้น้องทำได้แบบนี้ๆ แต่พอมาสอนถึงได้คิด เราจะให้เยอะๆ เลยมันไม่ได้ งานมันต้องใช้เวลา ถ้าเราอัดๆๆ คุณภาพมันจะไม่ได้ ก็ต้องปรับ แล้วแรกๆ จะพูดวนไปวนมา เกร็งด้วย แต่พอสอนๆ ไปเริ่มผ่อนคลาย ถามแล้วน้องเขาโต้กลับมา มีเล่นมุก เราจะรู้สึกผ่อนคลายว่าเราไม่ได้พูดอยู่คนเดียว น้องเขาฟังเรานะ”

ได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นครูในครั้งนี้?
“หนูเป็นคนพูดเร็ว พูดวนไปวนมา ก็ต้องตั้งสติ ดูว่าเราพูดอะไรไปแล้ว ถ้าพูดจบแล้วก็โอเค ถ้าไม่มีสติมันมันจะวนอยู่อย่างนั้น ไม่จบสักที มาสอนแต่ละวันมันไม่เหมือนมาสอนคนอื่น แต่เราได้ทบทวนความรู้ให้ตัวเองด้วย เพราะสิ่งที่หนูสอนหนูก็ต้องใช้ในอนาคต  เลยรู้สึกว่าการที่เรามาสอนน้อง มันไม่ได้แค่สอนน้อง แต่มันสอนตัวเราด้วย ทั้งได้ทบทวนความรู้และฝึกเรื่องความรับผิดชอบ