รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

Art Fair : Art Share สื่อสารผ่านงานศิลปะ

โครงงานศิลปะ (Art Project) ของนักเรียนชั้นมัธยมปลายในเทอม ๒/๒๕๖๐ นี้ ครูศิลปะให้นักเรียนสำรวจตัวเอง “สนใจเรื่องอะไร” “มีเครื่องมืออะไร” แล้วสื่อสารความสนใจหรือความถนัดของตนออกมาผ่านชิ้นงานศิลปะ ตามแนวคิดของงานอาร์ตแฟร์ Art Fair: ART SHARE ที่จะจัดขึ้นปลายภาคเรียนนี้ เมื่อคิดแล้วก็นำเสนอแนวคิดกับทีมครูศิลปะที่มาช่วยฟัง ช่วยถาม ช่วยมอง ช่วยชี้แนะ ให้นักเรียนมองเห็นเส้นทางการทำงานของตัวเองชัดขึ้น สามารถวางแผนการทำงาน แล้วลงมือทำงานตามที่แต่ละคนคิดไว้ จะได้รู้ว่าทำแล้วเป็นอย่างที่คิดไว้ไหม ถ้าไม่เป็นไปตามแผน จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือแม้แต่เป็นไปตามที่คิดไว้ แล้วจะทำอะไรต่อ จะพัฒนางานไปในทิศทางไหนที่จะตอบโจทย์หรือเนื้อหา (Content) ที่ตั้งไว้

หลังจากนักเรียนทำงานกันมาได้ระยะหนึ่ง ในสัปดาห์ที่ ๔ คุณครูศิลปะได้เชิญสองศิลปินตัวจริง คุณทรัมป์-รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา เซรามิกดีไซเนอร์ และคุณเป๋-ธนวัต มณีนาวา ดีไซเนอร์ที่นำข้าวของเหลือใช้รอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานภายใต้แบรนด์ “ทำดะ TAM:DA” (https://www.facebook.com/TamdaDesign) มาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานของตนเอง ให้นักเรียนได้เห็นวิธีคิด กระบวนการทำงาน และการพัฒนางาน เป็นการเรียนผ่านประสบการณ์จริงของศิลปินที่นักเรียนสามารถเชื่อมโยงกับการทำงานของตนเองได้

คุณทรัมป์-รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา (ซ้าย) และ คุณเป๋-ธนวัต มณีนาวา (ขวา)

ศิลปิน Fine art อย่างคุณทรัมป์มองว่า งานศิลปะ (Art) เกิดจากแรงภายในของศิลปิน ส่วนงานออกแบบ (Design) เกิดจากแรงภายนอก เช่น โจทย์จากลูกค้า ความต้องการแก้ปัญหาบางอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ งานศิลปะและงานออกแบบล้วนแล้วแต่เป็นงานสื่อสาร สื่อสารกับผู้คน สื่อสารกับสังคม ซึ่งการทำงานศิลปะของตนนั้นมีจุดเริ่มต้นจาก “เนื้อหา (Content)” คือความคิดและความรู้สึกที่อยากจะสื่อสารออกไป ซึ่งในมุมมองของตนแล้ว “เนื้อหา” เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานศิลปะ

“เราทำงานอะไร ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราสนใจเรื่องอะไร แล้วเราสนใจมันมากพอหรือยัง” – คุณทรัมป์-รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา

ขณะที่คุณเป๋ ธนวัต เล่าถึงงานออกแบบของตนว่ามี ๒ ลักษณะ คือ งานที่เกิดจาก “ความสนุก” และ “มุมมอง” ที่มีต่อสิ่งของหรือวัสดุที่พบเห็น พลิกเปลี่ยนมุมมอง สนุกกับการเล่นกับวัสดุ แล้วลงมือทำ และงานได้รับโจทย์มา แล้วไปหาของมาทำเพื่อตอบโจทย์ แต่ไม่ว่าจะเป็นงานลักษณะใด สิ่งสำคัญคือ “ต้องลงมือทำ”

“คิดแล้วทำ ทำแล้วไม่ต้องสำเร็จทุกอย่าง ทำแล้วพังก็ได้ แต่เราจะรู้ว่าพังเพราะอะไร เรายังไม่รู้อะไร เวลาไม่รู้เราต้องไปหาความรู้ ไปศึกษาหรือคุยกับคนที่รู้ เพื่อมาพัฒนางานของเรา” – คุณเป๋-ธนวัต

หลังจากฟังศิลปินเล่างานของตัวเองแล้ว นักเรียนแต่ละคนก็ผลัดกันออกมาบอกเล่างาน หรือ Art Project ของตนบ้าง โดยวิทยากรและคุณครูช่วยกันซักถาม แนะนำ ชวนคิดชวนมอง เช่น การลงรายละเอียดเนื้อหาให้ลึกและชัดขึ้น การพลิกมุมมอง การท้าทายให้ก้าวออกจาก comfort zone ไปทำงานที่ท้าทายมากขึ้น การทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ซึ่งเป็นมุมมองที่นักเรียนสามารถหยิบจับไปพัฒนางานของตนให้มีคุณค่าและน่าสนใจยิ่งขึ้น

โรงเรียนรุ่งอรุณขอขอบคุณศิลปินทั้งสองท่านที่สละเวลามาบอกเล่าประสบการณ์ พูดคุยและช่วยชี้แนะนักเรียนในครั้งนี้ รอติดตามชมผลงานของนักเรียนในงาน Art Fair: ART SHARE ปลายภาคเรียนนี้