บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

Training for the Trainer สู่การเรียนรู้แบบ Active Learning

ค้นหาหัวใจของความเป็นโค้ช หัวใจของความเป็นครู
พัฒนาครูไปสู่ตัวผู้เรียน
ครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน

วันที่ ๕-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรโค้ชและกระบวนกรวิถีพุทธ (Training for the Trainer) ให้กับกลุ่มครูพระที่เป็น “โค้ช” เพื่อฝึกทักษะการเป็นโค้ชให้กับพระที่จะไปสอนศีลธรรมในโรงเรียน และกลุ่มครูโรงเรียนประชารัฐ ด้วยกระบวนการโค้ชชิ่งและสร้างชุมชนผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ (PLC) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้แบบใฝ่รู้ (Active Learning) ให้กับผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสองกลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มครูพระสอนศีลธรรม จำนวน ๒๕ รูป โดยความร่วมมือกับสำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ซึ่งเป็นกลุ่มพระที่เคยผ่านการอบรมทักษะการเป็นโค้ชมาแล้ว และมีภารกิจที่จะต้องไปเป็นโค้ชให้กับครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนต่อไป
  • กลุ่มผู้บริหารและครู โรงเรียนบ้านปงหัวหาด จ.แพร่ และโรงเรียนป่ากลาง (มิตรภาพที่ ๑๑๖) จ.น่าน จำนวน ๒๐ คน ในโครงการโรงเรียนประชารัฐ ภายใต้การดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งมาศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติในโรงเรียน

เนื่องจากกลุ่มผู้เข้าอบรมมีเป้าหมายที่ต้องการเน้นต่างกันในบางเรื่อง แต่สามารถเรียนรู้ได้จากกิจกรรมที่ออกแบบไว้ โดยการสังเกตการสอนในห้องเรียนในระดับประถม/มัธยม การสะท้อนห้องเรียน การร่วมประชุมสะท้อนผลหลังการสอน (After Action Review; AAR) กับครูผู้สอนของรุ่งอรุณ ทดลองออกแบบแผนการจัดการเรียนแบบ Active Learning ที่ระบุวัตถุประสงค์ ๓ ด้าน – ด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านคุณค่า กระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อ และการประเมินผล ตลอดจนการแบ่งกลุ่มฝึกสอน (Micro teaching) การสะท้อนผลหลังการสอนเพื่อถอดบทเรียนการเรียนรู้ที่จะนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละกลุ่มต่อไป

การสะท้อนห้องเรียนมัธยมหลังสังเกตการสอน
เห็นอะไรในครู?
“ครูไม่ทำอะไร (ฮา) ครูนั่งยิ้ม สังเกต จดประเด็น เป็นกัลยาณมิตร น้อมไปสู่เด็ก ไม่ให้เด็กเกร็ง เดินดู ครูนิ่มนวล น้ำเสียง การตั้งคำถาม ท่าที ผายมือ สร้างบรรยากาศให้เด็กปลอดภัยที่จะกล้าพูด เมื่อเด็กสะท้อน ครูพยายามเชื่อมโยง เช่น เด็กคนหนึ่งบอก “สนุก” ครูถามว่า “สนุกยังไง สนุกเรื่องอะไร” บทบาทโค้ช แทนที่จะอธิบาย เปลี่ยนเป็นคำถามที่ได้จากการสังเกตที่เด็กพูดออกมา”ในช่วงหนึ่งของการอบรม รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้นำผู้เข้าร่วมการอบรมร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อค้นหา “หัวใจของความเป็นโค้ช หัวใจของความเป็นครู” ซึ่งสกัดออกมาเป็น ๓ หัวใจหลัก ได้แก่

หัวใจดวงแรก “ชมให้เป็น”
…ต้องมีความจริงใจ ชมด้วยความเมตตา ใจซื่อตรงกับตัวเอง ใจจะเปิดเมื่อเราชมเป็น มีสุข สบายใจ มิฉะนั้นหน้าจะปิด ยิ้มไม่ออก
…การเริ่มต้นเป็นโค้ช “เราต้องตรวจสอบความรู้สึกเราก่อน” ใจเราต้องเปิด ใจเราต้องยิ้ม ตรงไปตรงมา อยู่กับตัวเอง
…ในวง PLC ให้เริ่มด้วยเรื่องที่ชื่นใจ เมื่อเล่าเรื่องดีๆ จิตใจจะฟู ยินดีและอยากรับฟังกัน เมื่อเปิดใจ สิ่งที่ไม่ใช่จะถูกพูดออกมาด้วยตัวของเขาเอง

รศ.ประภาภัทรอธิบายว่าหัวใจดวงแรกเป็นการยกจิตใจของเรา (โค้ช/ครู) และของผู้ได้รับคำชม (ครู/นักเรียน) เมื่อเราชมคนอื่นเป็น จิตใจของผู้เอ่ยปากชมจะเบิกบานขึ้น การเป็นโค้ชจึงสนุกเพราะเหตุนี้ อย่าฝึกเจาะรายละเอียดเฉพาะจุดด้อย ถ้าเราหามุมมองที่เป็นจุดเด่นขึ้นได้ จิตใจเราจะชุ่มชื่นขึ้น เราจะยกจิตใจตนเองได้ดีขึ้น ทุกๆ การกระทำของเด็กหรือของครูล้วนมีจุดดี เด็กๆ ทำครั้งแรกอาจยังไม่ดี จุดที่ควรชมคือความพยายาม ไม่ล้มเลิก แล้วลองทำต่อ เปลี่ยนจาก Fix mindset เป็น Growth mindset ช่วยให้ไม่รู้สึกแย่กับตัวเอง

หัวใจดวงที่ ๒ “แก้สถานการณ์ได้” สามารถประยุกต์สถานการณ์ให้เป็นไปตามความสนใจและนำไปสู่เป้าหมายได้

หัวใจดวงที่ ๓ “เรียนรู้อย่างเท่าเทียม”
การเป็นโค้ช/ครู บางครั้งอดไม่ได้ที่คิดว่ารู้ดีกว่าเขา แต่ภาวะเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดเวทีการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นโค้ช/ครูต้องเปิดใจที่ให้กว้างขึ้น ทำตัวให้กลมกลืนกับผู้เรียน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะเราเองเคยเป็นเด็กมาก่อน แต่เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ เราลืมว่าเด็กเป็นอย่างไร เด็กไม่ชอบให้ใครมาสอน “ทำเป็นอยู่ ไม่ต้องมาบอก”

ครูที่แท้จริงคือตัวเราเอง เรา(ครู)เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดประสบการณ์