Uncategorized,  การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เรียนรู้วิทยาศาสตร์แสนสนุกกับครูชาลี

เรื่อง : วันดี สันติวุฒิเมธี, 21 พฤศจิกายน 2561

เมื่อนึกถึงห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ทุกคนคงจินตนาการภาพห้องแล็บ มีหลอดแก้วทดลอง กล้องจุลทรรศน์ แต่ “ห้องเรียน” วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กมัธยมของครูชาลี  มโนรมณ์  แห่งโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทางเลือกแถวหน้าของเมืองไทยกลับเป็นสายน้ำ ภูเขา ท้องทะเล ผืนทราย และโลกใบใหญ่รอบตัว นักเรียนของครูชาลีต้องแบกเป้หนักอึ้งเพื่อเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรร่วมไปกับขบวนธรรมยาตราเพื่อเรียนรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างเส้นทาง เด็กวัยรุ่นที่เคยชินกับโลกออนไลน์ต้องถูกตัดขาดจากโทรศัพท์มือถือเพื่อนอนหลับในเต็นท์ท่ามกลางป่าเขา มองดูท้องฟ้าและหมู่ดาวแทนแสงสีฟ้าจากจอมือถือ พวกเขาได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์จาก “โลกใบใหญ่” พร้อมกับเรียนรู้ “โลกใบเล็ก” ฟังเสียงหัวใจของตนเองไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ครูชาลีสอนลูกศิษย์จึงไม่ใช่ “ความรู้” หากเป็น “การเรียนรู้” ที่ไม่มีวันสิ้นสุด โดยมีครูเป็น “เพื่อนร่วมทาง” มิใช่ “ผู้สอนสั่ง” ให้ปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว

“โจทย์ที่ได้รับตอนไปสมัครเป็นครูที่โรงเรียนรุ่งอรุณวันแรก เจอคำถามถึงความหมายของการเรียนรู้ว่า วิชาพวกนี้เรียนไปทำไม มีประโยชน์กับตัวเราอย่างไร ถ้าตอบยังไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาสอน ให้เด็กไปเล่นยังมีประโยชน์กว่า”

ครูชาลีกล่าวถึงโจทย์ใหญ่แรกสุดที่ได้รับจาก รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ

“ตอนแรกก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน แต่พอเจอคำถามพวกนี้มันก็กลับมาคิดว่า ทำไมเราไม่เคยคิดเรื่องพวกนี้ เพราะเราเรียนตามที่หนังสือบอกมาเท่านั้น”

หลังจากตอบคำถามข้างต้นได้ ครู “มือใหม่” ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยม เปิดตำราฟิสิกส์ เคมี ชีวะ สอนไปตามแบบแผนที่ครูวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่สอนกัน แล้วเขาก็พบว่า เด็กไม่สามารถเข้าใจได้จาก “ตัวหนังสือ” ที่ท่องจำกันตามตำรา

“ตอนแรกผมก็สอนฟิสิกส์ตามสูตรเลยว่า F=ma เด็กก็ทำหน้างง เราก็ถามว่า งงตรงไหน ก็ตามสูตรไง ผมจึงเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กไม่สามารถมองเห็นรูปธรรม หรือให้ความหมายกับมันได้”

นับจากวันนั้น ครูชาลีก็เริ่มเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่จาก “การเรียนรู้ตามตำรา” สู่ “การให้ความหมาย” สิ่งที่เรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

“เราเริ่มกลับมามองว่า การเรียนรู้จริงๆ มันคือการให้ความหมาย ไม่ใช่การเรียนรู้ที่อยู่บนข้อมูลที่คนอื่นเขาบอกมา คือถ้าเราไม่ให้ความหมายกับเรื่องนั้น มันก็ไม่มีความหมาย”

หลังค้นพบคำตอบ ครูชาลีจึงเริ่มเปลี่ยนวิธีการสอนฟิสิกส์ เคมี ชีวะใหม่ จากการ “เปิดหนังสือเรียน” สู่การ “เปิดโลกประสบการณ์ตรง” พาเด็กออกนอกห้องเรียนสี่เหลี่ยมสู่ผืนทรายและสนามหญ้ารอบโรงเรียน

“ตอนเรียนเรื่องแรงเสียดทาน เราให้โจทย์นักเรียนว่า ให้ลากต้นมะพร้าวจากหน้าโรงเรียนมาตรงจุดนี้ ผ่านพื้นปูน พื้นหญ้า พื้นทรายบ้าง ให้เขาสัมผัสว่าไอ้ที่ลากผ่านมาเนี่ย รู้สึกอะไร มันก็เป็นประสบการณ์ตรงว่า พื้นผิวที่ต่างกัน ก็ออกแรงต่างกัน หลังจากนั้นจึงเริ่มพาเข้าห้องทดลองเพื่อเรียนรู้รายละเอียดเพิ่ม พอมาถึงจุดนี้ เด็กก็เข้าใจง่ายขึ้น การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงสำคัญมาก

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เด็กๆ นักเรียนของครูชาลีก็เริ่มเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกมากยิ่งขึ้น ห้องเรียนของพวกเขาคือสิ่งแวดล้อมรายรอบตัวและทุกสิ่งในธรรมชาติต่างส่งผลกระทบถึงกัน วิชาเคมีของครูท่านนี้จึงไม่มีหลอดทดลองในห้องแล็บ หากเป็นริมทะเลเพื่อให้เด็กๆ ได้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศด้วยตนเอง

“เคมีคือการเรียนในสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ผู้เรียนสามารถจินตนาการถึงปรากฏการณ์ของมันได้ ผมจึงพาเด็กๆ ไปถึงอ่าวคุ้งกระเบน เมืองจันทบุรี เพื่อให้เด็กศึกษาเรื่องธาตุคาร์บอนที่เปลี่ยนรูปไปจับกับออกซิเจนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากนั้นพืชได้รับเข้าไปก็นำไปเปลี่ยนเป็นน้ำตาลโดยการจับคู่ใหม่ระหว่างคาร์บอนกับออกซิเจน และไฮโดรเจน พอสัตว์กินพืชไปก็ทำให้คาร์บอนเกิดการเปลี่ยนแปลงอีก การรวมตัวได้สารตัวใหม่ที่สมบัติต่างไปจากเดิม เรื่องพวกนี้มันเกิดอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา เราต้องทำให้เด็กมองเห็นจากประสบการณ์ตรงของพวกเขาเองว่าการเปลี่ยนถ่ายธาตุและสารประกอบทำให้เกิดวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตอย่างไร การพาเด็กไปออกภาคสนาม ทำการทดลองพิสูจน์เลยทำให้เด็กเรียนวิทยาศาสตร์อย่างสนุกและเข้าใจง่ายมากขึ้น”

ทริปที่จัดว่าโหดสุดสำหรับเด็กนักเรียนของครูวิทยาศาสตร์ท่านนี้ คือ การร่วมขบวนธรรมยาตราซึ่งต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่าหนึ่งร้อยกิโล เด็กทุกคนต่างเป็นเด็กเมือง เคยมีชีวิตสะดวกสบาย ต้องเผชิญกับการเดินทางด้วยสองเท้าพร้อมแบกเป้หนักอึ้งอยู่บนหลังท่ามกลางแดดร้อนจ้าเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางพร้อมกัน

เราจะออกทริปครั้งหนึ่งต่อเทอม เรามองว่าเด็กยุคใหม่แทบไม่รู้จักปัญหาสิ่งแวดล้อมและไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่ามาจากตัวเขา โดยเฉพาะเด็กเมืองเป็นกลุ่มบริโภค เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำไปหรือกินไปมันมีผล กระทบมากมาย เราจึงมีวิชาเรียนเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อเชื่อมโยงให้เขาเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ภาวะโลกร้อน น้ำแข็งละลาย ฤดูกาลเปลี่ยน  แล้วประเทศไทยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง  เลยพาเขาไปเดินธรรมยาตราที่ชัยภูมิ ระยะทางร้อยกว่ากิโล ใช้เวลาเดินประมาณ 8 วัน หลังจากเดินเสร็จเราก็พาเดินป่าอีก 2 วัน โจทย์ของการเรียนรู้คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมคืออะไร เขาต้องฝึกใช้สายตาสังเกตสิ่งแวดล้อมสองข้างทางที่เดินผ่าน”

นอกจากเด็กๆ จะได้ฝึกใช้ประสาทสัมผัสเรียนรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “ห้องเรียนธรรมชาติ” สองข้างแล้ว สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้มากไปกว่านั้น คือ “ห้องเรียนชีวิต” ที่ทำให้พวกเขาพัฒนาตัวเองสู่ความเป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น

“ปกติจะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ เมื่อต้องแบกเป้ใบใหญ่ๆ เดินท่ามกลางแดดร้อน มีเด็กบางคนร้องห่มร้องไห้ไม่ไหวแล้ว เราก็บอกให้เขาสู้ต่อ เราได้เห็นศักยภาพข้างในที่มันเติบโตขึ้น กลับไปคืออยู่ง่าย กินง่าย ไม่เรื่องมาก ตอนแรกนู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ พอกลับไปบ้าน เขาจึงรู้สึกว่าบ้านคือสวรรค์เลย การเดินธรรมยาตราช่วยยกระดับจิตใจของเขา เด็กหลายคนไม่เชื่อว่าจะสามารถอดทนได้ เด็กจะเปลี่ยนเยอะมากหลังจากเดินธรรมยาตรา”

จุดเด่นของครูชาลีในการสอนวิทยาศาสตร์ คือ “ความสนุกจากความไม่รู้” เพราะนั่นทำให้เขาเป็นครูที่พยายามค้นหาการเรียนรู้แบบใหม่ๆ อยู่เสมอ

จริงๆ เราเป็นคนที่สนุกกับการไม่รู้ พอเจอเรื่องที่เราไม่รู้ ก็หาคำตอบให้รู้ เราจึงเป็นครูที่ไม่ค่อยทุกข์กับการไม่รู้ แล้วเราก็ไม่รู้สึกเสียหน้ากับความไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ เรามักจะบอกเด็กๆ ว่า ถ้าครูรู้หมดก็บ้าแล้ว อย่างเรื่องเคมีในโลกใบนี้ ถ้ามีอยู่ล้านส่วน ครูรู้ถึง 1% รึเปล่ายังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นถ้าเธอรู้เท่าครูคือโง่เลย บางทีครูก็ไม่ต้องรู้ทั้งหมด เรื่องไหนที่เราไม่รู้ เราก็พยายามเอาตัวเข้าไปรู้ เราก็จะสนุกไปกับการที่เรารู้อะไรเพิ่ม เราไม่ได้รู้สึกแย่กับการที่เราไม่รู้จนท้อใจ

ครูชาลีกล่าวอีกว่า ครูและนักเรียนต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน หากครูรอที่จะต้องรู้ทุกเรื่อง จะเป็นผลเสียที่ไม่กล้าพาเด็กลงมือทำกิจกรรมใดๆ หากแต่ถ้ามองว่า ครูและนักเรียนเผชิญสิ่งเบื้องหน้าร่วมกัน เรียนรู้ไปพร้อมกัน จะเป็นการช่วยจัดระบบคิด และทำให้ครูเรียนรู้เพิ่มไปด้วย

นับจากวันแรกที่ถูกผู้ก่อตั้งโรงเรียนตั้งคำถามว่า “เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำไม” ครูชาลีจึงค่อยๆ ค้นหาคำตอบระหว่างทางร่วมไปกับเด็กๆ จนถึงวันนี้เวลาผ่านไปเกือบยี่สิบปีแล้ว นอกจากเด็กจะเติบโตขึ้นจนหลายคนมีอาชีพการงานที่มั่นคงและมีความสุขจากการเรียนรู้อยู่เสมอแล้ว ครูวิทยาศาสตร์คนนี้ก็ “เติบโต” จากข้างในด้วยเช่นกัน

“เราเห็นตัวเองชัดขึ้น จากที่ยังไม่ใส่ใจในเรื่องระบบคิดมากนัก พอต้องมาสอน ก็มองเชิงระบบมากขึ้น บวกกับพอไปปฏิบัติธรรมก็พากลับมาย้อนมองตัวเอง เข้าใจตัวเองมากขึ้น เราเคยเจอเหตุการณ์ที่ผลงานของเราไม่ได้รับการพูดถึงจนทนไม่ได้เลยไปถามอาจารย์ประภาภัทรว่า แล้วงานของเด็กเราเป็นยังไง อาจารย์ถามว่าคุณพอใจมั้ยล่ะ บอกก็ดีครับ ท่านเลยบอกว่า พอใจแล้วก็ดี แล้วจะเอาอะไรอีก พอได้ยินแบบนี้ก็รู้ว่า…เออว่ะ เราจะเอาอะไรอีก ถ้าเราเอาความพอใจของเราไปไว้ผิดที่ ยังต้องการคำชม แสดงว่าเรายังมีตัวตนอยู่ ตอนนี้เราก็นิ่งขึ้น ก็ชัดเจนขึ้น พัฒนาเรื่องภาวะอารมณ์”

ทุกวันนี้ครูชาลียังคงสนุกกับการ “ฝังไมโครชิพการเรียนรู้” ไว้ในหัวใจเด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนทางเลือกแห่งนี้ และยังคงมีความสุขกับการเฝ้ามองดูเด็กคนแล้วคนเล่าที่ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยพร้อมกับแววตาเปล่งประกายอยากเรียนรู้โลกใบใหญ่ต่อไป…เพราะครูท่านนี้เชื่อว่าตราบใดที่เรารู้สึกว่า “ไม่รู้” นั่นหมายความว่าเรายัง “ต้องเรียนรู้” ต่อไป แต่หากเรารู้สึกว่า “รู้แล้ว” เมื่อไหร่ นั่นหมายความว่า ความรู้สึกอยากเรียนรู้ของเรากำลังสิ้นสุดลงนั่นเอง

เรื่อง : วันดี สันติวุฒิเมธี, 21 พฤศจิกายน 2561
ที่มา : http://www.happinessisthailand.com/2018/11/kru-chalee