อนุบาล

โรงเรียนอนุบาล
บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิปัญญา

ชั้นเรียนคละอายุ (อนุบาล ๑-๓)

กิน อยู่ ดู ฟังเป็น ในวิถีบูรณาการ
ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เขียนไว้ในหนังสือ การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น ถึงแนวทางการจัดการศึกษาแนวพุทธที่พัฒนาเด็กตามหลักไตรสิกขา คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา เมื่อนำหลักไตรสิกขาสู่ระดับชั้นอนุบาลของรุ่งอรุณ วิถีชีวิตและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ จึงมีเป้าหมายให้เด็ก กิน อยู่ ดู ฟังเป็น สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ ปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ และกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อันเป็นคุณธรรมสำคัญที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ของวัยเด็ก โดยบูรณาการ ๔ สาระที่สำคัญสำหรับปฐมวัย ได้แก่ ตัวเรา ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคม (พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน ครู ลุงคนสวน ป้าแม่ครัว ฯลฯ) และภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ลงในทุกกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก อาทิ กิจวัตรประจำวัน การเล่น การออกกำลังกาย นิทาน ศิลปะ ดนตรี การทำอาหาร การเดินชมธรรมชาติ กิจกรรมจิตอาสา และโครงงานตามความสนใจ ซึ่งสอดคล้องไปกับฤดูกาลของแต่ละภาคเรียน

ชั้นเรียนคละอายุ
โรงเรียนอนุบาลของรุ่งอรุณจัดการเรียนรู้แบบคละอายุ หรือ ชั้นคละ ในแต่ละห้องเรียนมีเด็กอนุบาล ๑ อนุบาล ๒ และอนุบาล ๓  อายุ ๓ ถึง ๖ ขวบ ในจำนวนเท่าๆ กัน รวม ๒๕ คน การจัดการเรียนรู้แบบคละอายุนี้ตอบสนองธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่จะฝึกฝนทักษะชีวิตและทักษะสังคมอย่างเข้มข้นให้กับเด็กๆ ด้วยสภาพแวดล้อมเสมือนสังคมจริงที่ส่งผลสู่พัฒนาการขีดสุด (Optimal Development) ของแต่ละช่วงวัย มีเด็กๆ ต่างอายุ ต่างพัฒนาการ ความสามารถ ลักษณะการเรียนรู้และความต้องการเรียนรู้  มาอยู่ร่วมกัน ในห้องเรียนที่เสมือนบ้านนี้มีทั้งพี่ใหญ่ พี่กลาง และน้องเล็ก ใช้เวลาอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง ซึ่งเอื้อโอกาสในการเรียนรู้ตามพัฒนาการของวัย พี่ใหญ่  มีโอกาสรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และการเป็นผู้นำที่เอื้ออาทร อ่อนโยน พี่กลาง  มีโอกาสทวนซ้ำและพัฒนาทักษะต่างๆ ที่ยังไม่ชำนาญให้มีความแม่นยำมากขึ้น เกิดความมั่นใจ ค้นพบความถนัด และรู้สึกถึงคุณค่าของตน น้องเล็ก มีโอกาสสังเกต เก็บเกี่ยวคุณค่า ประสบการณ์ และเลียนแบบจากพี่ๆ เพื่อขยายศักยภาพให้มากขึ้น

๕ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

๑. ความสม่ำเสมอในกิจวัตร
กิจวัตรประจำวันในห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กๆ จะต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เมื่อเด็กมาถึงโรงเรียนในตอนเช้า เขาจะตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน  เริ่มตั้งแต่การทักทายสวัสดีครู  จัดเก็บรองเท้าของตนให้เป็นระเบียบ จัดแยกของตนที่เตรียมมาจากบ้านเข้าที่ เช่น นมสำหรับดื่ม ชุดนอน ชุดที่จะใช้สำหรับเปลี่ยน เล่นอิสระในห้องเรียน ทำความสะอาดและจัดเก็บของเล่น สวดมนต์ ทำสมาธิ ใส่ปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนของตน จัดโต๊ะอาหาร ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ถอดใส่เสื้อผ้า อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย รวมถึงกวาดและถูพื้นห้องเรียน เป็นการฝึกฝนเด็กๆ ให้รู้จักช่วยเหลือตนเองขั้นพื้นฐาน ฝึกความอดทน ความมีวินัย ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน และการมีจิตอาสา การฝึกฝนทั้งหมดนี้เป็นการทำซ้ำๆ ให้เป็นปกติ จนเกิดเป็นพฤติกรรมหรือศีลที่สร้างวินัยให้กับเด็ก

๒. การเตรียมความพร้อมของร่างกาย
การดูแลและช่วยเหลือตนเองเริ่มที่ความพร้อมของร่างกายเป็นอันดับแรก เด็กๆ จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การควบคุมร่างกายตนเองในการเล่นอิสระในห้องเรียน การเล่นกลางแจ้ง และการเล่นอย่างมีแบบแผนที่จัดโดยครู เช่น การเล่นส่งเสริมการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory Integration : SI) การเรียนว่ายน้ำ การเรียนมวยไทย ซึ่งส่งเสริมพัฒนาการของระบบรับความรู้สึก ระบบประสาทสัมผัสของร่างกาย และระบบประสาทสัมผัสชนิดใกล้  อันได้แก่  ระบบรับความรู้สึกในหูชั้นใน ระบบรับความรู้สึกของเอ็นและข้อ ระบบรับความรู้สึกสัมผัส รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก  มัดใหญ่ เพื่อพัฒนาร่างกายที่เหมาะสมกับวัย

๓. นิทาน
ธรรมชาติของเด็กทุกคนชื่นชอบนิทาน ครูจึงนำนิทานมาเป็นสื่อสร้างแรงบันดาลใจและจินตนาการ (Input) และเป็นสื่อในการแสดงความรู้ขาออกของเด็กๆ (Output) โดยชวนเด็กๆ ล้อมวงฟังนิทานหุ่นตั้งโต๊ะ หรือนิทานปากเปล่า ชวนเด็กๆ โลดแล่นจินตนาการไปกับนิทานและซึมซับคุณค่าจากเรื่องราวโดยการพูดไปพร้อมกับครู เพราะจดจำจากการได้ฟังหลายครั้ง แล้วเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับความหมายของแต่ละบทไปพร้อมกันทั้งห้อง การสร้างผลงานศิลปะจากนิทาน โดยครูจะคัดสรรนิทานที่สอดคล้องกับฤดูกาลของภาคเรียน คุณค่าของเรื่องราวที่อยากให้เด็กซึมซับ และสอดคล้องกับโครงงานที่เด็กกำลังสนใจในภาคเรียนนั้นๆ เช่น เด็กๆ ในห้องกำลังสนใจเรื่องผัก นำไปสู่โครงงานปลูกผักและทำอาหารจากผักที่ปลูก ครูจะเลือกนิทานเกี่ยวกับผักมาเล่าให้เด็กฟัง แล้วอาจชวนเด็กๆ ช่วยกันแต่งนิทานบอกเล่าเรื่องราวของผักที่พวกเขาปลูกหรืออาหารจากผักที่พวกเขาช่วยกันปรุง เป็นต้น

๔. ภาษาและการสื่อสาร
ภาษาเป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมโยงโลกภายใน (ความคิด จิตใจ) และโลกภายนอกเข้าด้วยกัน เด็กเริ่มเรียนรู้ภาษาด้วยการซึมซับและเลียนแบบผู้ใหญ่ ภาษาที่ทำให้เกิดความเข้าใจสำหรับเด็กวัยนี้ควรเป็นภาษาที่สั้นกระชับ และสื่อความหมายชัดเจน เด็กๆ จะซึมซับภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมดนตรี การร้องเพลง การเคลื่อนไหวตามเพลง การฟังนิทาน ฯลฯ โดยครูจะจัดสรรโอกาสให้เด็กได้ฝึกระบุความรู้สึก ความรู้ ความเข้าใจ ความคิดและจินตนาการของตน เช่น ตอบคำถาม เล่าเรื่องราวประสบการณ์ของตน ระบุความรู้สึกจากเรื่องราวที่ประสบ แต่งนิทานวงกลม ซึ่งต้องใช้ทักษะต่างๆ อย่างบูรณาการ ครูจะเป็นผู้คอยเชื่อมโยงให้คำศัพท์ และหยิบยกประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน ส่วนภาษาเขียนนั้น เด็กเริ่มด้วยการฝึกฝนถ่ายทอดความคิด ความเข้าใจ และความรู้สึกของตนด้วยภาพวาด บางครั้งเขียนบรรยายประกอบด้วยความหมายที่ตนเองเข้าใจ ต่อมาจึงฝึกลอกคำศัพท์ตามครู เช่น เครื่องปรุงอาหาร วิธีการปลูกผัก

  • เป้าหมายด้านทักษะภาษาและการสื่อสารในเด็กปฐมวัย
    ภาษาไทย: พูด-อ่านอย่างชัดถ้อยชัดคำ บอกความรู้สึกและสิ่งที่ต้องการได้ อธิบายความเข้าใจ ความคิดเชื่อมโยง และการอุปมาอุปไมยได้อย่างคล่องแคล่ว สร้างสรรค์ สื่อสารกับเพื่อนและครูอย่างสุภาพ วาดภาพหรือเขียนเพื่อแสดงความรู้และความเข้าใจ
    ภาษาอังกฤษ: มีความสุขและไม่เกร็งกับสภาพแวดล้อมภาษาอังกฤษ พูดถูกต้องชัดเจน ฟังเข้าใจและปฏิบัติตามได้

๕. กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้
กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้จะหมุนเวียนเปลี่ยนไป สอดคล้องกับโครงงานที่เด็กสนใจ เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กๆ พัฒนาทักษะชีวิต และเกิดพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา เช่น การทำอาหารจากผักที่เด็กๆ ช่วยกันปลูก การทำขนมตามฤดูกาล ศิลปะ งานประดิษฐ์ หัตถกรรม การปักผ้า ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุนทรียภาพและคุณภาพภายในของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องสมาธิและความเพียร เด็กๆ จะวาดหรือเลือกลวดลายด้วยตนเองแล้วนำมาเย็บเป็นถุงผ้าสำหรับใส่เครื่องเขียน หรือเย็บและปักหมอนให้แม่ในวันแม่ การเดินชมธรรมชาติและปิกนิก โดยในหนึ่งสัปดาห์จะมีวันพิเศษที่เด็กๆ ออกไปชมธรรมชาติและปิกนิกนอกสถานที่ แล้วนำอาหาร ขนม มาแบ่งกันรับประทาน เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝึกการเป็นผู้ให้ และการดูแลของใช้ของตนเองทั้งไปและกลับจากปิกนิก

การเรียนรู้แบบโครงงาน
ขณะเด็กๆ ทำกิจวัตรและกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละวัน ครูจะสังเกตและฟังว่าเด็กๆ กำลังสนใจเรื่องอะไร แล้วนำหัวข้อนั้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างครูกับเด็ก จนกระทั่งนำไปสู่หัวข้อที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของโครงงาน ซึ่งเป็นการเรียนรู้เชิงลึกที่เด็กจะได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง เรียนรู้เรื่องภาษา การสื่อสาร วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และพัฒนาทักษะต่างๆ โดยมีหัวใจสำคัญคือการเรียนรู้เชิงคุณค่าทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม โดยมีกระบวนการเรียนรู้ ๗ ขั้นตอน ดังนี้

  • กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน
    ๑.สิ่งที่เด็กสนใจ  ๒.พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างครูกับเด็ก  ๓.ค้นคว้าหาข้อมูล ๔.มีคำถาม ทดลองปฏิบัติ ๕.สังเกต ติดตาม บันทึกผล ๖.สรุปเชื่อมโยงข้อมูล ๗.เด็กถ่ายทอดความรู้เป็นผลงาน

โครงงาน “พาพี่นวลไปหาหมอ”
ในโรงเรียนรุ่งอรุณมีห่านอยู่ฝูงหนึ่ง ขณะเดินสำรวจธรรมชาติในโรงเรียน เด็กๆ สังเกตเห็น พี่นวล ห่านตัวโปรดของเด็กๆ ไม่ออกไปว่ายน้ำกับเพื่อนฝูงเพราะขาเจ็บ เมื่อกลับมาที่ห้อง เด็กๆ ยังสนทนาเรื่องพี่นวลกันต่อ ทุกคนรู้สึกสงสารพี่นวลและอยากพามันไปหาหมอ ครูจึงชวนเด็กๆ พูดคุยเรื่องพี่นวล เช่น จะพาไปหาหมอที่ไหน? ใครจะเป็นคนพาไป? แล้วจะเอาค่ารักษาพยาบาลมาจากไหน? เด็กๆ ช่วยกันเสนอความเห็นอย่างหลากหลาย จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะทำขนมปังขายเพื่อเป็นค่ารักษา แม้ว่าในท้ายที่สุดคุณหมอจะบอกว่าการรักษาคงไม่ช่วยอะไรมาก เพราะพี่นวลอายุมากแล้ว แต่เด็กๆ ก็ไม่ยอมแพ้ และยืนยันให้คุณหมอช่วยรักษา เด็กๆ ช่วยกันพาพี่นวลไปหาคุณหมอจนครบตามนัด และดูแลพี่นวลตามคำแนะนำของคุณหมอ โดยมีผู้ปกครองและครูคอยสนับสนุนช่วยเหลือ โครงงานที่มีความหมายเช่นนี้เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ทักษะการสังเกต การฝึกสะท้อนย้อนมองตน และการแก้ไขปัญหา ซึ่งสร้างการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งให้ทั้งกับเด็กๆ และครู

โครงการห้องเรียนสำหรับพ่อแม่


โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เลี้ยงลูกดีวิถีไทย” เป็นโครงการห้องเรียนสำหรับพ่อแม่เด็กวัยอนุบาล ๑ เมื่อแรกเข้าเรียน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ สื่อ กิจกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองในฐานะกัลยาณมิตรคู่แรกของเด็ก ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่างเป็นองค์รวมโดยมีแนวคิดว่าเด็กเป็นผล พ่อแม่เป็นเหตุ ดังนั้น บุคลิก ท่าที และธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจึงได้รับการหล่อหลอมและซึมซับจากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องการเรียนการสอนตามแนวทางของโรงเรียน เพื่อการเลี้ยงดูและสร้างวิถีกิจวัตรทางบ้านที่สอดคล้องกัน

พ่อแม่/ผู้ปกครองจะมาร่วมเรียนรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน ๓๐ ชั่วโมง (๗ ครั้ง) โดยเนื้อหาพื้นฐานของหลักสูตรประกอบด้วย ๔ สาระ ได้แก่  ๑.ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  ๒.กระบวนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  ๓.สื่อ กิจกรรม และสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ (ศิลปะและหัตถการ การเล่น กิจวัตรประจำวันและการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของวัย ภาษา สิ่งแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ)  และ ๔.บทบาทของพ่อแม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสาระ Active Learning การสะท้อนผลการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ของผู้เรียน โดยมีครูอนุบาลทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) ผลที่เกิดขึ้นคือ ความตระหนักในบทบาทของพ่อแม่ผู้ปรับเปลี่ยนที่ตนเอง พร้อมที่จะเคียงข้างเรียนรู้ร่วมไปกับลูก