การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  ภาคสนาม,  โรงเรียนประถม

นักเรียนชั้น ป.๖ ออกภาคสนามตามหาตาน้ำ

เส้นทางที่รถตู้ของโรงเรียนแล่นพาเด็กๆ ป.๖ เดินทางออกภาคสนามเพื่อตามหาตาน้ำโดยมีปลายทางที่หมู่บ้านเขาแก่งเรียง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ส่งมายังก๊อกน้ำของโรงเรียนให้ได้ใช้ประโยชน์

สังเกตเห็นได้ว่าระหว่างทางในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมสูงขึ้นขึ้นมาบริเวณถนน บางจุดมีน้ำหลาก และที่สำคัญหมู่บ้านเขาแก่งเรียงซึ่งเป็นจุดหมายของเด็กๆ กำลังเผชิญกับพายุฝนที่เทลงมาจนทำให้เกิดน้ำท่วม บางบ้านที่เด็กๆ พักอาศัยมีน้ำท่วมล้อมรอบบริเวณบ้าน ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ที่ครูวางไว้มาล่วงหน้าต้องปรับเปลี่ยน แล้วคว้าเอาสถานการณ์ตรงหน้าที่กำลังเผชิญมาเป็นโจทย์ให้เด็กๆ เรียนรู้แทน

จากผู้เข้ามาศึกษาตามหาตาน้ำ สู่บทบาทของผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมร่วมกับชาวบ้าน
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้ให้นักเรียนมองเห็นถึงความจริงของธรรมชาติ ทำความเข้าใจและเรียนรู้กับภัยที่กำลังเกิดขึ้น

  • ทำไมน้ำถึงท่วม?
  • ลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านที่นี่ทำไมต้องยกสูง?
  • ชาวบ้านรับมือกับปัญหาน้ำท่วมอย่างไร?

หลังจากหาคำตอบจากความจริงตรงหน้า พานักเรียนไปสู่การระบุความรู้ และเข้าใจถึงหัวจิตหัวใจของผู้ประสบภัย จากการร่วมเผชิญสถานการณ์นั้นด้วยตัวเอง

“หนูรู้แล้วว่าทำไมบ้านที่นี่ต้องมีใต้ถุนสูง เพราะตรงนี้เป็นทางน้ำผ่าน เวลาน้ำป่ามา หรือฝนตกหนักๆ น้ำก็จะท่วมไม่ถึงในบ้าน”

“ขนาดที่นี่ (หมู่บ้านเขาแก่งเรียง) น้ำท่วมไม่สูงมาก พวกเรายังลำบากเลย แล้วที่อื่นที่หนูดูในข่าวว่ามันท่วมมาเกือบครึ่งบ้าน เขาจะลำบากขนาดไหน”

นอกจากจะประจักษ์ด้วยตนเองเรื่องน้ำที่ท่วมแล้ว นักเรียนยังมีได้สัมผัสกับน้ำใจของผู้คนในชุมชนที่ท่วมท้นยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นป้าหน่อง ป้านอม ป้ายูน ป้าหงวน และป้าทา เจ้าของบ้านทั้ง ๔ หลังที่นักเรียนไปร่วมพักอาศัยซึ่งให้การต้อนรับเด็กๆ เหมือนเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่งของบ้าน ไม่ว่าจะผ่านไปบ้านไหนเป็นอันได้ของกินติดไม้ติดมือกลับมาให้ทำอาหารแทบทุกบ้าน ทั้งหน่อไม้ มะกอก กล้วย ปลาเขื่อน เห็ดโคน และพืชผักสวนครัวที่ชาวบ้านปลูกกันเอง โดยมีคุณป้าเจ้าของบ้านช่วยสอนเด็กๆ ทำเมนูเด็ดพื้นถิ่นที่หากินได้จากที่เขาแก่งเรียงให้ได้ลองกินในทุกๆ มื้อ แม้น่าตาจะดูธรรมดาพบเห็นได้ทั่วไป แต่รสชาติจะมีความพิเศษเฉพาะตัว เด็กบางคนเติมข้าวถึง ๓ จาน แถมออกปากชมว่าฝีมือคุณป้าอร่อยที่สุดในโลกอีกด้วย

การอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับชาวบ้าน เอื้อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนต้นน้ำ ทั้งอาหารการกิน อาชีพ และทักษะการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ รวมทั้งเห็นตัวอย่างการบริหารจัดการทรัพยากรที่ให้ทุกคนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมดูแลซึ่งจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เช่น

  • ใช้น้ำและไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น พยายามใช้น้ำจากน้ำฝนก่อนน้ำจากก๊อก ใช้แสงจากดวงอาทิตย์ก่อนเลือกเปิดไฟ
  • ปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณบ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
  • รองน้ำฝนใส่โอ่งเพื่อใช้อุปโภค บริโภค
  • ประดิษฐ์รางน้ำรองรับน้ำล้างจานเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

ได้เวลาเข้าป่าตามหาตาน้ำ
เมื่อสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงฝนที่เทลงมาในช่วงเช้าเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เจ้าหน้าที่ดูแลป่า รวมทั้งป้าหน่องและป้านอมประเมินสถานการณ์แล้วว่าปลอดภัย ก็ถึงเวลาที่นักเรียนจะพากันเดินทางเข้าป่าเพื่อตามหาตาน้ำ ซึ่งซ่อนอยู่ในพื้นที่ป่าระยะทางเดินเท้าลึกเข้าไปประมาณ ๓ กิโลเมตร

เส้นทางที่เด็กๆ ใช้เดินป่านั้นไม่ง่ายนัก เพราะต้องฝ่าสายฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะๆ เดินลัดเลาะตัดผ่านต้นไม้น้อยใหญ่ ข้ามลำธาร ลุยโคลน ทำให้ลื่นล้มกันอยู่หลายครั้ง เป็นเส้นทางที่ต้องอาศัยใจที่อดทน ไม่ย่อท้อ เพื่อไปให้ถึง “ตาน้ำพุมะกรูด” ฝายที่กักเก็บน้ำในป่า ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ ดังนั้นทักษะการทรงตัวที่ดี การให้กำลังใจกัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้นตลอดเส้นทาง

จนเมื่อเดินมาถึงจุดหมายปลายทาง เด็กๆ ได้พบกับฝายน้ำขนาดใหญ่ ๓ ลูก ตั้งอยู่กลางหุบเขา แวดล้อมด้วยป่าและภูเขาสลับซ้อนที่กักเก็บน้ำไว้จนเต็มฝาย ต่างตกตะลึงในความสวยงามของฝายน้ำที่มีน้ำไหลล้นข้ามคันดินลงห้วย ไหลลัดเลาะป่าเขา ผ่านหมู่บ้าน เรื่อยไปจนตกลงเขื่อนศรีนครินทร์

แม้ว่าวันนี้เด็กๆ จะไม่สามารถเดินเข้าจนถึงจุดที่ตาน้ำผุดออกมาเพราะน้ำท่วมสูงจนมองไม่เห็น แต่ทุกคนก็ได้รับรู้ว่า การมีป่าทำให้มีตาน้ำ และมีน้ำไหลออกมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นลำน้ำให้คน พืช สัตว์ได้ใช้อย่างไม่รู้จบ

การออกภาคสนามในครั้งนี้ นักเรียนเรียนรู้ด้วยความตื่นเต้น ผจญภัย และได้เอาตัวลงไปเรียนรู้เรื่องที่สัมพันธ์กับชีวิตของพวกเขา ได้เห็นความเชื่อมโยงของธรรมชาติและมนุษย์ที่สัมพันธ์และต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จากการได้สัมผัส สังเกต และค้นหาความรู้ด้วยตนเอง รวมถึงได้เห็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนตัวอย่างที่ช่วยดูแลรักษาผืนป่า ผืนน้ำ เพื่อให้คนปลายน้ำอย่างพวกเขาได้กิน ได้ใช้ นี่คือหมุดหมายสำคัญของการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ฝังลึกนำไปสู่ฐานแห่งการก่อเกิดจิตสำนึกที่ดีในการใช้ทรัพยากรได้อย่างรู้คุณค่าต่อไป