รุ่งอรุณ Zero Waste

โรงเรียนรุ่งอรุณ  เป็นชุมชนที่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและนำมาบูรณาการสู่ชีวิต  จนกลายเป็นวิถีชีวิต วิถีชุมชน เริ่มต้นที่การมีสติในการใช้ การบริโภคทรัพยากรของเด็กๆ ครู ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ และทุกคนในชุมชน   บนการดำเนินงานด้วยหลักวิถีพุทธที่นำมาใช้วิเคราะห์ ผสานกับการวางแผน ออกแบบ จัดการทรัพยากรทั้งปวงที่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ ให้เชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างเกื้อกูลกันครบวงจร  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลักคือการเป็นชุมชนที่มีของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste) ก่อเกิดคุณค่าและคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็กๆ ด้วยการจัดการ

อาคารเรียนของโรงเรียนรุ่งอรุณตั้งอยู่ท่ามกลางร่มไม้ใหญ่ เขียวขจี  มีสวนป่าร่มรื่น เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักเรียนในเรื่องของธรรมชาติและระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งกิ่งไม้ใหญ่จากต้นไม้และสวนป่าก็ถูกนำมาใช้เผาเป็นถ่านกลับไปใช้ในโรงครัว  ช่วยประหยัดพลังงานได้

บึงน้ำใหญ่กลางโรงเรียนถูกออกแบบขุดไว้ไม่เพียงแค่เป็นบึงน้ำตามธรรมชาติที่งดงาม หากยังเป็นบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ ช่วยรับน้ำมากในหน้าฝน  ส่วนดินจากบึงน้ำก็ถูกนำไปเป็นเขื่อนดินล้อมรอบพื้นที่โรงเรียนเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วม

เศษอาหารจากโรงครัว ร้านค้า ตลาดนัด  นำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ส่วนเศษผักผลไม้ เศษใบไม้ถูกแปรเปลี่ยนนำมาทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำชีวภาพ รดน้ำผักแปลงผักอินทรีย์และต้นไม้ให้งอกงาม

น้ำใช้ น้ำทิ้งจากอาคารเรียน จากโรงครัว ถูกนำมาบำบัดในบ่อบำบัดระบบปิดและระบบเปิดที่นักเรียนมัธยมร่วมทำโครงการบำบัดน้ำเสีย  ก่อนจะกลายเป็นน้ำใสใช้รดน้ำต้นไม้และคืนลงสู่คลองสาธารณะ

สถานีคัดแยกขยะ  ส่วนหนึ่งในโครงการ “ของเสียเหลือศูนย์ Zero Waste” ของชุมชนรุ่งอรุณที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนในชุมชนเปลี่ยนทัศนคติของการ “ทิ้ง”  ให้เป็นการวนสิ่งต่างๆ กลับมาใช้ใหม่   เพื่อแยกทรัพยากรออกจากขยะและเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร  ช่วยลดปัญหาขยะล้นชุมชนและส่งเสริมวัฒนธรรม “คนไทย…ไม่สร้างขยะ”  

ห้องเรียนปลอดขยะ ของนักเรียนรุ่งอรุณตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยม  เป็นอีกตัวอย่างของพลังของคนตัวเล็กๆ ที่มีส่วนร่วมในระบบการจัดการทรัพยากรครบวงจร

สถานีซ่อม-สร้าง  ของเสียก็ซ่อมหรือสรรค์สร้างเป็นสิ่งใหม่  ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องเรือน เครื่องใช้เก่า  ต้นไม้ในสวนป่า จากเศษวัสดุต่างๆ ถูกนำมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า

ทุกๆ ส่วนในวงจรของระบบการจัดการทรัพยากรล้วนเกาะเกี่ยว เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  เป็นกระบวนการขั้นตอนที่ช่วยสนับสนุนกันและกัน

ระบบการจัดการทรัพยากร “ครบวงจร”  ของโรงเรียนรุ่งอรุณเกิดขึ้นจากความพร้อมใจของคนในชุมชน  เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  จนเกิดเป็นความรู้ของชุมชน และนำมาลงมือทำด้วยตัวเองอย่างจริงจัง ผสานการออกแบบระบบและการจัดการด้วยวิธีการที่เหมาะสม   จนสามารถขับเคลื่อน ปรับ เปลี่ยนการจัดการทรัพยากรภายในชุมชนได้อย่างมีคุณค่า กลายเป็นชุมชนที่มีพลัง  มีความเข้มแข็ง เป็นชุมชนที่ผู้คนรู้คุณค่า รู้กิน รู้อยู่ รู้ใช้ รู้พอดีในการใช้ทรัพยากรและรู้ถึงความพอเพียงของการใช้ชีวิตที่วันนี้ไม่เพียงแต่เห็นผลที่เกิดขึ้นกับตนเองและกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน   แต่เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราที่ได้มีส่วนช่วยสร้างจิตสำนึกในสังคม และช่วยรักษาทรัพยากรของโลกเราไว้ให้ยั่งยืน

โครงการ “ของเสียเหลือศูนย์ Zero Waste”
ความเป็นมา
ก่อนที่จะมีวิธีการจัดการกับ “ขยะ” อย่างเหมาะสมนั้น โรงเรียนเคยประสบปัญหาจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจำนวนมาก เฉลี่ยวันละถึง ๒๐๖ กก. (ก.พ. ๔๗) เนื่องจากไม่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง จึงใช้โอกาสนี้เป็นเงื่อนไขจัดการเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้แก่ทุกคนภายในชุมชนของโรงเรียน ทั้งเป็นการร่วมสร้างสรรค์แนวทาง ลดปัญหาขยะล้นเมืองให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยมีความมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายที่ท้าทาย คือการเป็น ชุมชนที่สามารถจัดการขยะและของเสียได้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนทั้งนักเรียน ครู บุคลากร ตลอดจนผู้ปกครอง ที่มีจิตสำนึกแห่งการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีลักษณะนิสัย “ไม่สร้างขยะ” อยู่ในวิถีชีวิต มีความพยายามที่จะลดปริมาณการทิ้งขยะออกสู่  กทม.ให้น้อยลงเรื่อยๆ

แผนการดำเนินงาน
เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายในการทำให้ “ของเสียเหลือศูนย์” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทางโรงเรียนได้นำหลักวิถีพุทธ มาใช้วิเคราะห์และวางแผนโครงการ ในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนที่คิดว่า “ขยะ” เป็นสิ่งสกปรก น่ารังเกียจ

ขั้นที่ ๑ แยกทรัพยากรออกจากขยะ
สำรวจปัญหา จัดระบบและสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็นมาเตรียมรองรับ และเริ่มการประชาสัมพันธ์เชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครคัดแยก “ทรัพยากร” ๓ ประเภทออกจากขยะที่นำส่งกทม. (ขยะย่อยสลายยาก ขยะห้องน้ำ ขยะพิษ) ได้แก่
๑. เศษอาหาร บริจาคเป็นอาหารสัตว์
๒. ย่อยสลายง่าย ส่งไปหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ
๓. รีไซเคิล ที่จะขายออกไปเพื่อผลิตกลับมาใช้ใหม่

ขั้นที่ ๒ เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร
เป็นช่วงบูรณาการลงสู่หน่วยการเรียนในแต่ละระดับชั้น ในลักษณะการจัด “สถานีสิ่งแวดล้อม” ที่เป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงปฏิบัติการนอกห้องเรียน ได้แก่ สถานีคัดแยกขยะ สถานีน้ำจุลินทรีย์ สถานีปุ๋ยหมักชีวภาพ ที่นำไปสู่กิจกรรมแปลงผักอินทรีย์ รวมถึงการสร้างสรรค์หนทางนำขยะกลุ่มย่อยสลายยากกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น การเปลี่ยนกล่องนมเป็นกรีนบอร์ด

ขั้นที่ ๓ ปรับพฤติกรรมเพื่อลดการสร้างขยะ
เป็นช่วงของการรณรงค์ให้ ลด-ละ-เลิก วิถีการบริโภคที่ก่อให้เกิดของเสียหรือ “ขยะ” ที่ไม่อาจนำกลับมาใช้ได้อีก ได้แก่การรณรงค์ให้ร้านค้าเลิกใช้ขวด ถุง ถ้วยพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหารและเครื่องดื่ม ส่งเสริมให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เปลี่ยนไปใช้ภาชนะที่สามารถล้างและนำกลับมาใช้ได้อีก อาทิ ปิ่นโต ตะกร้า ถุงผ้า เป็นต้น เพื่อเป้าหมายในเรื่องของเสียเหลือ 0 ในที่สุด

. กลุ่มครูและบุคลากร เข้าร่วมกิจกรรม “อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม” ตามความสมัครใจ ช่วยกันทำการคัดแยกขยะ ณ จุดทิ้งที่ปลายทางเพื่อร่วมกันรับรู้ปัญหา เก็บสถิติและตรวจสอบคุณภาพการคัดแยกขยะ จากแต่ละระดับชั้นหรือแต่ละฝ่ายและกลายเป็นกลุ่มแกนนำที่ช่วยกันปลุกกระแส “แยกขยะก่อนทิ้ง” ให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

. กลุ่มนักเรียน ร่วมกันสร้างบรรยากาศของ “ชั้นเรียนปลอดขยะ” ด้วยการลงมือจัดและปรับปรุงระบบคัดแยกขยะประจำชั้นเรียนของตน เพื่อให้การแยกขยะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในโรงเรียนที่ทุกคนร่วมปฏิบัติได้ถูกต้อง

. กลุ่มผู้ปกครองและชุมชนใกล้เคียง ผู้ที่สนใจสามารถจัดระบบคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนขึ้นเพื่อนำมาส่งให้โรงเรียนรับไปจัดการแปรรูปหรือใช้ประโยชน์ต่อไปได้ เป็นการร่วมกันปลูกฝังลักษณะนิสัยรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่ลูกหลานทั้งที่บ้านและโรงเรียน

ปัจจุบันโครงการ “ของเสียเหลือศูนย์” ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในชุมชน จึงไม่มีถังรองรับสำหรับทิ้งขยะ มีแต่สถานีคัดแยกขยะเล็กๆ กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ในโรงเรียนรุ่งอรุณ

ดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โรงเรียนรุ่งอรุณ
โทร ๐๒-๘๔๐-๒๕๐๑ ต่อ ๑๖๐