กิจกรรมการเรียนรู้หลัก
กิจกรรมการเรียนรู้หลัก
เป็นกิจกรรมที่กำหนดไว้ให้สอดคล้องกับหลักสูตร และครูจะนำมาปรับพัฒนาตามบริบทของการออกแบบ Road Map และแผนการเรียนรู้ในแต่ละเทอม ประกอบด้วยกิจกรรม ๕ กิจกรรม โดยแต่ละกิจกรรมจะมีตัวชี้วัดสำคัญ (Key Indicators) เพื่อให้ครูใช้เป็นที่หมายในการสังเกตและประเมินพัฒนาการเด็ก ดังนี้
๑.๑ งานเล่น
เป็นการเรียนรู้โลก รับรู้ และให้ความหมายเมื่อเกิดความเข้าใจต่อเรื่องราวหรือสถานการณ์ต่างๆ จากการเล่น โดยการทดลองลงมือทำจนเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องราวนั้นๆ ของเด็กแต่ละคน ดังนั้นการเล่นจึงควรเป็นกิจกรรมที่สนุก กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาคำตอบจากโลกที่เขาอยู่ เด็กสามารถออกแบบการเล่นให้สอดคล้องกับจินตนาการของแต่ละคน นำไปสู่การคิดเชื่อมโยง การรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ใช้ทักษะการแก้ปัญหา การเล่นจึงเป็นการ “อ่านโลก” ของเด็ก และที่สำคัญการเล่นจึงเปรียบเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงตนเองไปสู่ความสัมพันธ์กับเพื่อน พี่น้อง
การเล่นนอกห้องเรียน ได้เล่นดิน เล่นโคลน เล่นน้ำ เล่นทราย เด็กๆ ยังได้เล่นอิสระกลางแจ้งที่สนามอนุบาล รวมถึงฐานปีนป่ายต่างๆ ในพื้นที่สวน ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างให้เด็กๆ ได้ฝึกกระโดด ปีนป่าย ทรงตัว การสัมผัสพื้นผิวที่มีความแตกต่าง ที่ช่วยสร้างเงื่อนไงในการเล่นได้อย่างหลากหลาย ช่วยพัฒนาระบบประสาทรับความรู้สึก (Sensory Integration) กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก สร้างความมั่นคงของร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อไป
๑.๒ งานบ้าน (กิจวัตรประจำวันและการช่วยเหลือตัวเอง)
เด็กๆ จะฝึกฝนทำงานกิจวัตรและช่วยเหลือตนเองจนเกิดความชำนาญ เช่น การรักษาสุขอนามัยส่วนตัว ล้างมือ แปรงฟัน อาบน้ำ การควบคุมการขับถ่าย ทำความสะอาดหลังการขับถ่าย สวมถอดเสื้อผ้า รับประทานอาหารเอง เป็นต้น อีกทั้งเด็กๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลืองานส่วนรวมมากขึ้นจากการฝึกช่วยงานในห้องเรียน เช่น น้องเล็กช่วยเช็ดของเล่น ยกเก้าอี้ เติมน้ำใส่เหยือก โดยมีพี่ๆ เป็นผู้ช่วยสอนและเป็นต้นแบบให้น้องๆ ซึ่งเป็นโอกาสให้พี่ๆ ได้ฝึกภาษาสื่อสาร ให้คำแนะนำ บอกเล่าขั้นตอนในการทำงานกิจวัตรที่พี่ๆ ได้ฝึกทำจนเกิดความประณีต รวมถึงการจัดสรรเวลาช่วยดูแลแปลงผัก และพาน้องๆ ทำงานร่วมกัน ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กัน ภายใต้บริบทการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กิจวัตรประจำวันและการช่วยเหลือตัวเองที่กล่าวทั้งหมดนี้ ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และภาษา ผ่านการซึมซับเลียนแบบจากการพาทำโดยครู พี่หรือเพื่อนๆ (ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง) เด็กจดจำ เลียนแบบ จนปฏิบัติได้เอง ก่อร่างเป็นพลังแห่งเจตจำนงและความมั่นคงในตนเอง แก้ปัญหาเป็น ดูแลตัวเองได้ รู้หน้าที่ มีวินัย ช่วยเหลือและบริการผู้อื่น เห็นคุณค่าและศักยภาพของตน พร้อมที่จะอยู่กับผู้อื่นอย่างมั่นคง
๑.๓ งานครัว (การทำอาหาร)
เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ส่วนผสมต่างๆ เป็นโอกาสของการรู้จักพืช ผัก ผลไม้ และวัตถุดิบที่นำมาทำเป็นอาหาร ฝึกทักษะการสื่อสาร การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการทำงานและการประกอบอาหาร เรียนรู้การทำงานร่วมกัน อดทนรอคอย แบ่งหน้าที่กันทำอาหาร รวมถึงเห็นการเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบต่างๆ ได้ใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ในระหว่างกระบวนการทำงาน เข้าใจลำดับขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเก็บล้าง การลงมือทำอาหารร่วมกันในห้องเรียน สร้างโอกาสสำคัญให้เด็กๆ ได้ลงมือทำการงานที่มีเป้าหมาย เพื่อให้ทุกคนได้อิ่มท้องจากการรับประทานอาหารดี มีประโยชน์ อีกทั้งได้ทำการงานที่มีความละเอียด ประณีต และใส่ใจ สร้างการรับรู้ความสามารถของตนเองที่จะช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำผู้อื่น ได้ เห็นถึงแหล่งที่มาของอาหารแต่ละจาน นำไปสู่การเรียนรู้และเห็นคุณค่าของการรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ต่อร่างกาย
๑.๔ คิดอ่านเขียน (การฟังนิทาน เรื่องเล่า ร้องเพลง และบทร้องเล่น)
การพัฒนาทักษะทางภาษาของผู้เรียนบนความรื่นรมย์และจินตนาการ ส่งผลให้มีจิตใจที่เบิกบาน เด็กๆ ได้ร้องเพลงเคลื่อนไหวตามเนื้อเรื่องในนิทานวงกลม ได้ท่องร้องบทกวีบทเพลงเกี่ยวกับธรรมชาติตามฤดูกาล การเคลื่อนไหวแสดงท่าทางของสัตว์ผ่านการใช้นิ้วมือและท่าทาง ฝึกทักษะการฟัง ระบุ ตีความ ต่อยอดและถ่ายทอดความคิดด้วยภาษาของตนเอง การขยายช่วงเวลาของความจดจ่อในการฟังให้ยาวขึ้นตามวัย จนกระทั่งมีความเข้าใจเรื่องราว ครูพบว่าเด็กๆ จดจำคำร้องหรือเรื่องราวได้แม่นยำ นำคำศัพท์ใหม่ๆ ไปใช้ในการสนทนา และสนุกกับการคิดท่าทางตามจินตนาการอย่างอิสระ จนกระทั่งนำมาแต่งบทร้องหรือบทละครกันเอง ซึ่งครูยังสามารถใช้เป็นกิจกรรมฝึกทักษะ สร้างแรงบันดาลใจ และใช้เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจจากการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย
๑.๕ การเรียนรู้แบบโครงงาน
เป็นกิจกรรมที่มีกระบวนการให้เด็กๆ เรียนรู้การทำงานอย่างเป็นลำดับขั้นตอน พึ่งพาตนเอง การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม อดทนรอคอย เผชิญปัญหาอุปสรรค และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง นำมาเรียงเป็นลำดับตามหัวข้อดังต่อไปนี้
- การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเด็กสามารถฟังเรื่องราว ตอบคำถามหรือร่วมแสดงความคิดเห็นจากการใช้ประสบการณ์เดิมที่ตนมีอยู่ จับประเด็นใจความสำคัญแล้วพูดได้อย่างเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผล
- สนใจ สงสัย ตั้งคำถาม เด็กมีความสนใจเรื่องราวและสิ่งรอบตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดความสงสัยและตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การคิดคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้อย่างหลากหลาย และการค้นคว้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ
- ค้นคว้า คิดวางแผน ลงมือทดลองทำอย่างต่อเนื่อง เด็กค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องที่ตนสนใจ ทั้งจากการพูดคุยสอบถามผู้รู้ ค้นคว้าจากหนังสือภายในโรงเรียน รวมถึงการกลับไปค้นคว้าต่อที่บ้านกับพ่อแม่ คัดเลือกข้อมูลที่ต้องการ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาคิดวางแผนกระบวนการเรียนรู้ ลงมือทดลองทำพร้อมบันทึกสรุปการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องล
- ถ่ายทอดเป็นชิ้นงาน เด็กสามารถสรุปการเรียนรู้ของตนเองออกมาในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น การพูดอธิบายจากประสบการณ์ ประมวลเชื่อมโยงความรู้ ทักษะ คุณธรรม คุณค่า ถ่ายทอดเป็นชิ้นงานรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม หรือการแสดงในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
โครงงาน “พาพี่นวลไปหาหมอ”
ในโรงเรียนรุ่งอรุณมีห่านอยู่ฝูงหนึ่ง ขณะเดินสำรวจธรรมชาติในโรงเรียน เด็กๆ สังเกตเห็น พี่นวล ห่านตัวโปรดของเด็กๆ ไม่ออกไปว่ายน้ำกับเพื่อนฝูงเพราะขาเจ็บ เมื่อกลับมาที่ห้อง เด็กๆ ยังสนทนาเรื่องพี่นวลกันต่อ ทุกคนรู้สึกสงสารพี่นวลและอยากพามันไปหาหมอ ครูจึงชวนเด็กๆ พูดคุยเรื่องพี่นวล เช่น จะพาไปหาหมอที่ไหน ใครจะเป็นคนพาไป แล้วจะเอาค่ารักษาพยาบาลมาจากไหน เด็กๆ ช่วยกันเสนอความเห็นอย่างหลากหลาย จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะทำขนมปังขายเพื่อเป็นค่ารักษา แม้ว่าในท้ายที่สุดคุณหมอจะบอกว่าการรักษาคงไม่ช่วยอะไรมาก เพราะพี่นวลอายุมากแล้ว แต่เด็กๆ ก็ไม่ยอมแพ้ และยืนยันให้คุณหมอช่วยรักษา เด็กๆ ช่วยกันพาพี่นวลไปหาคุณหมอจนครบตามนัด และดูแลพี่นวลตามคำแนะนำของคุณหมอ โดยมีผู้ปกครองและครูคอยสนับสนุนช่วยเหลือ โครงงานที่มีความหมายเช่นนี้เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ทักษะการสังเกต การฝึกสะท้อนย้อนมองตน และการแก้ไขปัญหา ซึ่งสร้างการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งให้ทั้งกับเด็กๆ และครู