โครงงานบูรณาการคุณค่าสู่ชีวิต

หน่วยบูรณาการสู่ชีวิต เป็นการเรียนรู้ผ่านโครงงานบูรณาการ ซึ่งเป็นการเรียนที่นำนักเรียนเข้าถึงคุณค่าของสิ่งที่อยู่รอบตัว ผ่านแก่นเรื่อง (theme) ที่เชื่อมโยงกับชีวิตของนักเรียน เป็นการสร้างกระบวนการเพื่อให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจไปสู่ความเข้าใจถึงประโยชน์และคุณค่าของสิ่งที่เรียนที่มีผลต่อคนและสรรพสิ่งทั้งหลายอย่างไร เป็นความเข้าใจเรื่องระบบความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่นและสิ่งอื่น ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การที่นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ได้สังเกต ใส่ใจ คิดพิจารณา ศึกษาค้นคว้า ฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็น และถ่ายทอดความรู้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ จนนักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงจิตใจและความคิดของตนเอง มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียนได้อย่างแท้จริง

โครงงานบูรณาการ “ข้าวไทย วิถีไท”
ระดับชั้น ป.๕
โครงงาน “ข้าวไทย วิถีไท” มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนไทย ผ่านการลงมือทำนาปลูกข้าวด้วยตัวของนักเรียนเอง การทำนาซึ่งเป็นรากเหง้าของคนไทยจะทำให้นักเรียนเห็นและเข้าใจมิติต่างๆ ของสังคมไทย ตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนโดยอิงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเสมือนเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ การได้เห็นถึงวิธีปรับตัวของผู้คนให้เข้ากับลักษณะภูมิประเทศ เช่น การสร้างเรือนมีใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อเก็บอุปกรณ์ทำนา การทำนาปลูกข้าวให้เหมาะสมกับดิน ฟ้า อากาศ ลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาที่เข้าใจธรรมชาติ ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ มีการดำรงชีวิตบนวิถีพอเพียงตามหลักพระพุทธศาสนาอันเป็นรากเหง้าทางความคิดและความเชื่อของคนไทย

นักเรียนในฐานะชาวนาตัวน้อยต้องรู้จักนาของตนเอง โดยการสังเกตสภาพพื้นที่ ลักษณะดิน พืชและสัตว์ที่อาศัยในนา ซึ่งการสังเกตจะช่วยนักเรียนเปิดโลกการเรียนรู้มองเห็นว่าสัตว์หลายชนิดเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน พืชหลายชนิดชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นพืชชนิดใด มีประโยชน์หรือไม่อย่างไร การตั้งข้อสงสัยและการรู้จักหาคำตอบนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำนา

การวางแผนการทำนายังนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของพื้นที่กับการบริหารจัดการ โดยมีพันธุ์ข้าวและน้ำเป็นตัวแปรสำคัญ ดังนั้นนักเรียนจะได้ศึกษาลักษณะพันธุ์ข้าวและลักษณะภูมิศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้นักเรียนยังจะได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ข้าว โดยศึกษาข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย เช่น สืบค้นจากตำราในห้องสมุด สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต พิพิธภัณฑ์ การสัมภาษณ์บุคคล เป็นต้น แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ จัดลำดับ สรุปเป็น Timeline ประวัติศาสตร์ข้าว เชื่อมโยงไปสู่ประวัติศาสตร์ชาติไทย จนนักเรียนสามารถค้นพบด้วยตัวเองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองมาได้จนปัจจุบันนี้ก็ด้วยคนไทยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินทำมาหากิน  จนมีคำพูดติดปากคนไทยที่กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่กล่าวมานี้ นักเรียนยังจะได้รับรู้ถึงบุญคุณของแผ่นดิน บุญคุณของข้าว บุญคุณของบรรพบุรุษ ได้รับรู้ถึงความเหนื่อยยากลำบากของชาวนา เพื่อย้อนกลับมาเรียนรู้ภายในจิตตนเองแล้วพบว่า “ความมุ่งมั่น อดทน และความเพียร เป็นที่ตั้งแห่งความสำเร็จ” “การทำสิ่งใด ต้องทำด้วยความประณีต” เป็นต้น และจากนี้ไปพวกเขาจะตระหนักว่า “การกินข้าวให้หมดทุกเม็ด” คือจุดเริ่มต้นของการเห็นคุณค่าภายในใจตนเอง

โครงงานร่วมสร้างฝายหินทิ้ง สำนักสงฆ์เต่าดำ จ.กาญจนบุรี
ระดับชั้น ป.๖
จากการเรียนรู้ในหน่วยบูรณาการ “น้ำคือชีวิต” ระดับชั้น ป.๖ นักเรียนได้ตามรอยเส้นทางน้ำประปามาจากไหน ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของน้ำกับป่า เข้าใจปัญหาและคุณค่าของน้ำ รู้ว่าน้ำมาจากป่า น้ำมีความจำเป็นกับชีวิต ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นความรู้จากความเข้าใจที่ได้จากการศึกษาภาคสนาม เช่นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บ้านบนเขาแก่งเรียง ความรู้ความเข้าใจเช่นนี้ทำให้นักเรียนอยากช่วยทำที่กักเก็บน้ำ จนนำไปสู่การทำโครงงานเพื่อตอบแทนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการอภิปรายและสรุปร่วมกันว่าจะทำฝายกั้นน้ำ โดยร่วมกับอาสาสมัครสร้างฝายชะลอน้ำที่สำนักสงฆ์เต่าดำ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่พักสงฆ์ที่พระอาจารย์สิริปัญโญภิกขุและคณะสงฆ์ได้มาพำนักเพื่อปฏิบัติภาวนา เพื่อช่วยให้พระสงฆ์มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่าในช่วงฤดูแล้ง

“หากเราทำทุกอย่างเต็มที่ แม้มีอุปสรรค เราจะเห็นความมีน้ำใจต่อกัน และเราจะทำสำเร็จ” – ด.ญ.อลินนันท์ พันปีทิพย์ (อัญ) ป.๖/๑

“ได้เห็นความเพียรของพระที่เดินขึ้นลงเขามาบิณฑบาตตทุกวัน” – ด.ญ.นนทกร รังษีวงศ์ (ปูนปั้น)

“เมื่อทำพลาด เตะหรือเผลอเหยียบเท้าเพื่อน ก็ให้อภัยกัน ได้เรียนรู้การทำงานด้วยกัน ความอดทน ความตั้งใจ การแบ่งงานจะทำให้สำเร็จได้เร็วขึ้น” – ด.ญ.โรสลิล เมฆทวีพงศ์ (เรลีน)