การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  รศ.ประภาภัทร นิยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ชีวิตครูต้องธรรมดา

:: บทสนทนาระหว่าง รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ และครูรุ่งอรุณ ในการอบรมผ่านระบบออนไลน์ “หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ โรงเรียนรุ่งอรุณ” วันที่ ๔-๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔

รศ.ประภาภัทร: อาจารย์มาอยู่ใช้ชีวิตที่พะเยา ชีวิตเราธรรมดามาก คนที่มาปฏิบัติธรรมด้วยกันจะเข้าใจ ธรรมดามาก สะดวกสบายมาก เราใช้เสื้อผ้าแค่ ๓ ชุด จริงๆ ชุดเดียว เป็นเครื่องแบบ มี ๓ ชุดไว้ผลัด ไม่ต้องเสียเวลาทำอะไรอย่างอื่น ชีวิตเราเกลี้ยงเกลามาก รู้สึกว่าความธรรมดาช่วยเราได้เยอะ ถ้าเราเป็นคนเยอะ เราจะเสียเวลากับเรื่องอะไรไม่รู้ แล้วเราก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ นี่เราธรรมดา เราได้ทำสิ่งที่ควรทำ มีเวลาเยอะ เพราะฉะนั้นชีวิตครูต้องธรรมดา ทำเรื่องที่ไม่ธรรมดา

ครูเต้ย: รุ่งอรุณเป็นที่ที่ให้โอกาส ฝึกครู แล้วเราก็ไปให้โอกาสเด็ก เราได้รับการฝึก ไปสังเกตชั้นเรียน แต่พอลงสอน พบว่าเรามีช่องโหว่ค่อนข้างเยอะ เราก็เก็บมาทุกข์ว่านักเรียนไปไม่ถึง ฟังที่อาจารย์พูด การเป็นครูต้องมีชีวิตที่เกลี้ยงเกลา ธรรมดา อยากให้อาจารย์ช่วยขยายคำนี้หน่อยครับ

รศ.ประภาภัทร: ถ้าชีวิตเราไม่รกรุงรัง อยู่สบาย อยู่เป็น ไม่ได้สร้างปัญหาให้ตัวเอง อะไรที่มากระทบ เราไม่ได้เอามาเป็นเรื่องเป็นราว เรารับรู้ทั้งหมด รับรู้ได้ดี แต่รับรู้อย่างธรรมดา ไม่ได้แบกให้เป็นทุกข์ ครูเต้ยถามว่าทุกข์เวลาดูเด็ก เหมือนเรามีความรับผิดชอบนะ แต่ทำไมเป็นทุกข์ เพราะมันไม่ธรรมดา คุณรับรู้อะไรแล้วไม่ธรรมดา คุณขลุกอยู่กับเรื่องนั้น อะไรเข้ามาก็เกาะติด

การใช้ชีวิตธรรมดา เริ่มจากธรรมดาแบบโลกๆ คือ ไม่ไปให้ความสำคัญให้ค่ากับอะไรว่าดี ไม่ดี มากเกินไป ไม่ขึ้นกับอะไรจนเป็นทาส ขาดไม่ได้ ใส่กติกาของตัวเองไว้เยอะแยะไปหมด เหมือนทำกรงขังให้ตัวเอง นั่นไม่ธรรมดา สร้างขึ้นเองทั้งนั้น ถ้าจะธรรมดา พันธนาการเหล่านี้ต้องปล่อยไปให้หมด ชีวิตเราจะสบาย ไม่อย่างนั้นเราจะทั้งแบกทั้งหาม เรียกว่า เชือกผูกคอ ปอผูกศอก ตอกผูกข้อเท้า ทุกอย่างถูกผูกมัดไปหมด นั่นล่ะความไม่ธรรมดา ความธรรมดาจะนำไปสู่ปัญญา ทำให้เห็นความจริงที่อยู่เบื้องหลังนั้น

ครูเต้ย: คิดภาพตาม มันอึดอัดมาก เราต้องคลายให้ไว แต่ตัวเรายังไม่สามารถทำได้ว่าคลายให้ไวเป็นอย่างไร วางไม่ลง

รศ.ประภาภัทร: เราต้องมาฝึก เรียกว่าจาคะ มาเอาออก ไม่อย่างนั้นเราจะรับหมดเลย ถ้าคุณไม่มีโอกาสมาฝึก คุณจะเอาออกไม่เป็น เราผูกอะไรไว้เต็มไปหมด อันนี้ก็ไม่ได้กิน เดี๋ยวต้องกินชานมไข่มุก น้ำธรรมดากินไม่ได้ ผมต้องทรงนั้นทรงนี้ เราต้องจาคะ เอาออกให้หมด เอาเรื่องธรรมดาๆ ออกไปก่อน แล้วเรื่องทางใจ เรื่องลึกซึ้ง เราจะเอาออกเป็น ที่เอาออกยากสุดคือความคิด ที่เราเชื่อมันทันที คือตอกเส้นใหญ่ที่สุด ทำให้ปัญญาเราเกิดไม่ได้ ไม่มีอิสระ ตกเป็นทาส เกิดมิจฉาทิฐิ ดื้อดึง บางทีความคิดมันจองจำเรา ไปไหนไม่ได้ จาคะความคิดยากสุด เราต้องมองความคิดให้เห็น เรานึกว่ามันเป็นเรา เราเป็นมัน แยกไม่ออกเลย มันหลอกเรา

ครูแตงโม: แล้วเราจะมองแบบไหนให้ชีวิตเป็นธรรมดามากขึ้นคะ

รศ.ประภาภัทร: ตอนนี้เรามอง เรามีตัวเราเยอะ ที่ทำให้ทุกข์ ที่ไม่ธรรมดา เอาตัวเราเข้าไปทำมันก็เป็นเรื่อง ทีนี้ถ้าเราฝึก ฝึกฟัง อยู่กับการฟัง เราก็ไม่ค่อยมีตัวเรา เราฟังไปเรื่อยๆ อารมณ์ภายนอกไม่กระทบใจเรา เราจะรู้หมด รู้ละเอียดทุกถ้อยคำ แต่พอเราคิด เราจะไม่ได้ยินสิ่งที่เขาพูด เรามาได้ยินเสียงความคิดเราเอง เราก็เสียคุณภาพการฟัง ถ้าเราฟังได้เรื่อยๆ ไม่ใส่คะแนนมัน ไม่ได้ตัดสินอะไร ไม่ได้เอาไปคิดถูกคิดผิดอะไร มันก็ไม่มีผลกับการรับรู้ของเรา จิตคนเราเวลาฟัง มันจะบันทึกไว้เองโดยที่เราไม่รู้ตัว เราจำได้ ผ่านไปหลายวันยังจำได้ เราไม่ต้องเอาตัวเราไปทำ จิตเรามันบันทึกอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราชอบจัดแจง ยิ่งเป็นครูชอบจัดการ ชอบจัดแจง แล้วจะเอาให้มันได้ มันเลยยุ่ง