การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  รศ.ประภาภัทร นิยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

หลักสูตรฐานสมรรถนะรุ่งอรุณ เตรียมเด็กพร้อมเผชิญโลกยุค Disruption

“แม้ว่าเทคโนโลยีจะเจริญมาก ทำให้เราสะดวกสบาย แต่กลับกลายเป็นว่าชีวิตในอนาคตข้างหน้าของพลโลกกลับไม่ง่าย เพราะฉะนั้นการที่จะเตรียมคนให้ไปเผชิญความยาก สามารถดำรงชีวิตอยู่ให้รอดปลอดภัยและมีความสุข กลายมาเป็นโจทย์ของครูด้วย”

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึงโจทย์ใหญ่ที่เป็นความท้าทายของครูรุ่งอรุณ (รวมถึงครูทุกคนด้วย) กับการเตรียมเด็กให้พร้อมเผชิญโลกยุค Disruption นี้ ในการอบรมผ่านระบบออนไลน์เรื่อง “หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ” กับทีมครูรุ่งอรุณทั้งโรงเรียน เมื่อที่ ๔-๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา

การประชุมในครั้งนี้ คุณครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนรุ่งอรุณ และคุณครูสกุณี บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้ชวนคุณครูทั้งสามระดับ อนุบาล ประถม และมัธยม มองสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่ายุคแห่งความปั่นป่วน หรือ Disruption ชวนกันคิดว่าเราจะอยู่ในยุค Disruption นี้อย่างไร คนที่จะอยู่รอดได้อย่างดีในยุคนี้ควรต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แล้วโรงเรียนรุ่งอรุณมีความพร้อมในการเตรียมและพัฒนาความสามารถให้กับนักเรียนในยุค Disruption นี้อย่างไร

คำถามต่างๆ เหล่านี้พาคุณครูกลับมาทบทวนจุดยืนด้านการศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณที่ รศ.ประภาภัทรได้วางรากฐานไว้ตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียน ที่เชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนเรียนรู้และพัฒนาได้ เป็นกระบวนการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนลงมือเรียนรู้ผ่านการกระทำจนเกิดเป็นความเข้าใจด้วยตัวของเขาเอง (Self-Directed Learner) ทบทวนปรัชญา วิสัยทัศน์ และ School Concept ตลอดจน DOE (Desired Outcomes of Education) ของประเทศ ที่นำมาสู่การกำหนดคุณลักษณะผู้เรียนของรุ่งอรุณ (DOL; Desired Outcomes of Learning) ใน ๔ ด้าน ประกอบด้วย
๑. มีความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง สติปัญญาและความดีงาม
๒. รู้จักให้ความหมาย เห็นความเชื่อมโยงและเข้าถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ
๓. เป็นผู้สร้างสรรค์และสานประโยชน์ในทุกสถานการณ์
๔. มีสติปัญญา มองเห็นความสัมพันธ์อย่างเป็นองค์รวม

จาก DOL จึงนำไปสู่การกำหนด “สมรรถนะของผู้เรียน ๖ ด้าน” (ดูรายละเอียดในภาพประกอบ) ที่รุ่งอรุณเชื่อว่าเป็นสมรรถนะสำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์ในโลกอนาคต แล้วจัดทำ “หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ” เพื่อจัดการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะเหล่านี้อย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้ คุณครูสุวรรณาและคุณครูสกุณีได้ชวนคุณครูแลกเปลี่ยนความเข้าใจในความหมายและคุณค่าของคำว่า “สมรรถนะ” ตลอดจนสมรรถนะทั้ง ๖ ของรุ่งอรุณ ก่อนจะนำไปสู่การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในแต่ละหน่วยวิชาและระดับชั้นต่อไป

ก่อนจะแยกย้ายกันไปออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ ในช่วงบ่ายคุณครูได้สนทนากับ รศ.ประภาภัทร นิยม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดขึ้นในประเด็นที่แต่ละคนสงสัย บทสนทนาตอนหนึ่ง รศ.ประภาภัทรได้ให้ความหมายของคำว่า “อยู่รอด” ของพลเมืองหรือพลโลกในอนาคตว่า ไม่ใช่เพียงความสามารถอันเป็นประโยชน์เฉพาะตน แต่ต้องเป็นประโยชน์หรือมีผลทางสร้างสรรค์ต่อผู้อื่นด้วย

“เขา (พลโลก) ต้องมีความตระหนักถึงเพื่อนร่วมโลกว่าจะอยู่กันให้รอดปลอดภัยได้อย่างไร ไม่ใช่รอดคนเดียว เป็นจิตสำนึกในเชิงคุณค่าของชีวิตมนุษย์ เพราะฉะนั้นการมาเป็นครูต้องเจอโจทย์นี้ ที่จริงไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ครูควรต้องทำโจทย์นี้อยู่แล้ว แต่ไม่ทราบว่าจิตสำนึกนี้ของครูหายไปไหน ตั้งแต่เมื่อไร ยุคนี้จึงกลายเป็นว่าครูเป็นอาชีพเฉยๆ แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมนุษย์ สร้างสังคม สร้างโลกที่ดี เพราะนั้นเราต้องกลับมาใหม่ กลับมาที่บทบาทที่แท้จริงของครู”

หนทางที่จะพาครูกลับมาสู่บทบาทที่แท้จริงได้นั้น รศ.ประภาภัทรให้หลักไว้ว่า ครูต้องหมั่นเจริญสติสัมปชัญญะเป็นที่พึ่งให้แก่ตนเอง ครูจึงจะเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้เรียนได้ อยากให้เด็กเป็นเช่นไร ครูต้องเป็นเช่นนั้นก่อน ชีวิตครูต้องธรรมดา ความธรรมดาจะนำไปสู่ปัญญา และทำให้เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า ขอให้ครูทุกคนปฏิบัติงานให้เป็นการปฏิบัติธรรม

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการยกเครื่องหลักสูตรแกนกลางสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จาก Standard-based Curriculum ไปสู่ Competency-based Curriculum โดยจัดทำโครงการวิจัยในโรงเรียนนำร่องในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และได้นำหลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนนำร่องเหล่านี้ ก่อนจะขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในปีต่อไป