การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

พบกันเพื่อตั้งเป้าหมายด้วยตนเอง

เรื่องโดย : ครูแอร์ และครูกิฟท์ ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ

เปิดเรียนสัปดาห์แรกที่เป็นระบบออนไลน์ คุณครูอนุบาลชวนคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ มาพบกัน เพื่อร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กๆ ได้รู้จักตนเอง ผ่านการตั้งเป้าหมาย “หนูอยากทำอะไรต่อ”

บ่อยครั้งที่เราผู้ใหญ่ชอบตั้งเป้าหมายการพัฒนาเด็กที่อยูในการดูแลของเรา อยากให้เขาเติบโตเป็นแบบนั้น เก่งด้านนี้ จนบางครั้งเราอาจหลงลืมไปว่า ถ้าเด็กๆ ได้มีโอกาสสำรวจตนเอง ว่าตอนนี้เขาสามารถทำอะไรได้แล้ว และอยากที่จะพัฒนาหรือทำอะไรให้ได้ต่อไปอีก ที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น แล้วจะทำด้วยวิธีการแบบไหน นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าการตั้ง “เป้าหมาย” เช่นกัน

เป้าหมายไม่จำเป็นต้องใหญ่โต หรือต้องใช้เวลาที่ยาวนาน แต่เป็นเป้าหมายที่ให้เด็กเกิดความพยายามทำสิ่งที่ตนยังไม่ถนัดหรือคุ้นเคย ตัวอย่างเป้าหมายที่จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ เช่นเป้าหมายที่เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องความอดทนและการรอคอย มีความท้าทายตามช่วงวัยที่เขาจะสามารถทำได้ โดยมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุน ชวนเด็กพูดคุยทบทวนว่าตอนนี้เขากำลังเรียนรู้หรือเผชิญเรื่องอะไรอยู่ จะแก้ปัญหาอย่างไร จะก้าวผ่านอุปสรรคด้วยวิธีไหน และเมื่อทำสำเร็จแล้วเขารู้สึกอย่างไร หรือถ้าทำไม่สำเร็จล่ะ รู้สึกอย่างไร และจะทำอย่างไรต่อ

ตัวอย่างเป้าหมายในใจเด็กๆ อนุบาลที่บอกเล่าให้คุณพ่อคุณแม่และคุณครูฟัง เช่น
“หนูอยากเล่นกับเพื่อน” “อยากมาปีนเขาที่โรงเรียน” “อยากทำงานบ้าน อยากถูห้องให้สะอาด” “จะทำอาหารในห้องเรียน” “อยากเล่นเก่งขึ้น ไม่ทะเลาะกัน” “อยากเอาตัวอักษรมาผสมกันและอ่านได้” “ตอนนี้หนูหกขวบและหนูอยากจะเจ็ดขวบ จะได้ขี่จักรยานได้” “หนูจะกินเยอะขึ้น จะได้แข็งแรง” “อยากโหนบาร์ได้ดี” (ครูจำได้ว่าเด็กคนนี้เพิ่งจะโหนบาร์ได้เมื่อปลายเทอมที่แล้ว) “อยากสอนน้องทำงานบ้าน” “หนูจะมาโรงเรียนแบบหน้ายิ้มหน้าสดใส เดินมาเอง”

การให้เด็กฝึกตั้งเป้าหมายของตนเองเช่นนี้ จะทำให้เด็กมี “เจตจำนงในการเรียนรู้” (Willingness to learn) รับรู้ว่าตัวเขาเองมีพลังในการเรียนรู้ รู้จักมองหาโจทย์ที่ท้าทาย และลองทำด้วยความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย เริ่มต้นจากเรื่องราวเล็กๆ ดังตัวอย่างที่เด็กๆ บอกข้างต้น เช่น อยากปีนต้นไม้ได้ อยากอ่านได้ ซึ่งเป็นเรื่องราวการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากฉันทะของตัวเด็กเอง ดังนั้นเด็กๆ ก็พร้อมที่จะหาหนทางในการพัฒนาเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นให้จงได้

ในเส้นทางนี้ผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กอย่างคุณพ่อ คุณแม่ และคุณครู จะทำหน้าที่เป็น “โค้ช” คอยอยู่ใกล้ๆ ช่วยแนะนำนิดๆหน่อยๆ ให้กำลังใจเยอะๆ และที่สำคัญ ให้คุณค่ากับเป้าหมายที่เด็กๆ ตั้ง ถึงแม้บางเรื่องจะดูเล็กน้อยหรือง่ายสำหรับเรา เพราะสำหรับเด็กแล้ว นั่นคือหมุดหมายใหญ่ในใจเขาที่จะพาเขาก้าวไปสู่หมุดหมายอื่นๆ ต่อไป

เมื่อเด็กๆ ได้อยู่ในกระบวนการเช่นนี้ สุดท้ายเขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และเมื่อเด็กๆ ได้สะสมเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ทีละนิดทีละหน่อย เท่ากับเรากำลังให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าของตนเองที่เกิดขึ้น จากการที่เขาสะสมเป้าหมายและลงมือทำ เขาจะมีความรักและเคารพในตนเอง มีวิธีการเลือกการใช้ชีวิตในทางที่ถูกที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องที่การบอกสอนด้วยคำพูดของผู้ใหญ่ไม่อาจเข้าไปถึงใจเด็กได้ดีเท่ากับการที่เขาได้มีประสบการณ์ตรง ได้เผชิญ เรียนรู้และลงมือทำด้วยตัวของเขาเอง