การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

ให้โอกาสเด็กได้เผชิญเรื่องยาก

เล่าเรื่องโดย : ครูคะนิ้ง-วราภรณ์ ภักดีวงษ์ ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ

“แม้ว่าเทคโนโลยีจะเจริญมาก ทำให้เราสะดวกสบาย แต่กลับกลายเป็นว่าชีวิตในอนาคตข้างหน้าของพลโลกกลับไม่ง่าย เพราะฉะนั้นการที่จะเตรียมคนให้ไปเผชิญความยาก สามารถดำรงชีวิตอยู่ให้รอดปลอดภัยและมีความสุข กลายมาเป็นโจทย์ของครูด้วย” รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวกับครูรุ่งอรุณในการอบรมครูเมื่อไม่นานมานี้

แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็กเติบโตมาพร้อมเผชิญเรื่องยาก?

ในช่วงกิจกรรมส่งเสริมระบบรับความรู้สึกบูรณาการ (SI หรือ Sensory Integration) ครูสังเกตเห็นเด็กหญิงอนุบาล ๓ คนหนึ่งกำลังเดินไต่เชือกอย่างช้าๆ สองมือจับเชือกด้านบน สองเท้าค่อยๆ ก้าวไปบนเชือกที่แกว่งไกว นี่เป็นครั้งแรกที่เธอลองไต่เชือก เมื่อไต่ไปจนสุดทางและต้องลง ดูเหมือนเธอจะหาวิธีลงไม่ได้ จึงหันมามองครูแล้วส่งเสียงเรียก

ครูที่สังเกตการณ์อยู่ไม่ไกลประเมินแล้วว่าเด็กหญิงน่าจะทำได้ และเชือกไม่ได้สูงจากพื้นมากนัก จึงไม่ได้เดินเข้าไปช่วย เพียงบอกให้เธอลองหาวิธีด้วยตัวเอง “ลองดูนะคะ” พร้อมกับยิ้มให้กำลังใจ ส่งสัญญาณว่า “ครูคอยมองอยู่ ครูอยู่ตรงนี้นะ” เด็กหญิงจึงหันกลับไปพยายามหาวิธีเองอีกครั้ง

ระหว่างนั้นเด็กชายอนุบาล ๓ ส่งเสียงบอกมาว่า “ถ้าทำไม่ได้ก็นั่งลงสิ นั่งลงก่อน แล้วค่อยๆ หย่อนตัวลง” เด็กหญิงทำตามอย่างช้าๆ จนลงจากเชือกได้สำเร็จ “สนุกมากเลย หนูอยากทำอีก ไม่เห็นน่ากลัวเลย” เธอร้องบอกคุณครูด้วยรอยยิ้มที่ทั้งภูมิใจและโล่งใจ แล้วกลับไปไต่เชือกใหม่ รอบหลังๆ ครูสังเกตเห็นเธอเดินได้คล่องแคล่วและมั่นใจมากขึ้น

ครูเพียงรอสักนิด ไม่รีบเข้าไปแทรกแซง ครูจึงได้เห็นเด็กพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และได้เห็นความมีน้ำใจช่วยเหลือกันของเด็กๆ เป็นบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ และความสำเร็จเล็กๆ นี้เองที่ทำให้เด็กหญิงกล้าเผชิญโจทย์ที่ท้าทายยิ่งขึ้นในวิชามวยไทย นั่นคือ การเดินไต่เชือกบริเวณริมบึงที่พื้นด้านล่างเป็นน้ำ แม้ตอนเริ่มต้นเด็กหญิงมีสีหน้ากังวลอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่ถอย จนสามารถไต่เชือกได้สำเร็จ เธอบอกกับครูหลังจากลงมาที่พื้นว่า “ตื่นเต้นนิดหน่อย” แต่มือที่แตะมือครูนั้นเย็นเฉียบ

เป็นอีกครั้งที่เด็กหญิงกล้าเผชิญเรื่องยาก และสามารถเอาชนะความกลัวในใจตนได้ มากไปกว่านั้น เธอยังนำประสบการณ์นี้ไปสอนน้องได้อย่างมั่นใจ

วันนั้นขณะเด็กหญิงกำลังไต่เชือก ด้านหน้าเธอเป็นน้องอนุบาล ๑ ที่อยากเล่นเหมือนพี่ๆ บ้าง แต่พอขึ้นมาแล้วเชือกแกว่ง จึงส่งเสียงดัง หน้าตาเลิ่กลั่ก “ทำไมเชือกมันสั่น! เชือกมันสั่น!” เด็กหญิงจึงบอกน้องอย่างใจดีว่า “ค่อยๆ เดินไปนะ เอามือจับเชือกอย่างพี่” เธอบอกน้องด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เห็นอกเห็นใจ และใจเย็น สายตาคอยมองดูน้องค่อยๆ ทำตาม จนน้องเดินไปได้สุดทาง แล้วกลับมาเดินใหม่ เด็กหญิงก็ยังคงป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ เพื่อคอยดูแลน้อง

เพราะเคยเผชิญอุปสรรคเดียวกัน เด็กหญิงจึงเข้าใจความกลัวในใจของน้องเล็ก มีใจอยากช่วยเหลือให้น้องทำได้ เหมือนที่เธอเองเคยทำได้มาแล้ว โดยนำความรู้จากประสบการณ์ของเธอมาบอกสอนน้อง

เพราะเคยเผชิญอุปสรรคและความกลัวในใจ ได้ลองทำ คิดหาวิธี มีเพื่อนช่วยแนะ มีครูที่เชื่อมั่นคอยให้กำลังใจ จนทำได้ด้วยตัวเอง และทำซ้ำๆ จนชำนาญ จึงเกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง มั่นใจในสิ่งที่ตนรู้จนบอกสอนผู้อื่นได้ และพร้อมเผชิญเรื่องยากต่อไป

อยากให้เด็กพร้อมเผชิญ เราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เผชิญ (เรื่องยากตามวัย) ด้วยตัวเองค่ะ