การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

เรียนรู้จากไข่เจียวไหม้

#เรื่องเล่าจากงานครัว
เล่าเรื่องโดย : ครูแตงโม- ภาวิดา คำสัตย์ ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ

ในวันที่เด็กๆ และคุณครูลงมือทำอาหารร่วมกันในเมนู “ไข่เจียวลุยสวน” ซึ่งเป็นเมนูที่เด็กๆ นำเสนอว่าอยากทำและอยากกิน ทั้งยังเดทำอาหารร่วมกันในเมนราะเคยลองทำมาคุ้นเคยและมั่นใจว่าทำเองได้ เพราะเคยทำมาแล้ว ครูจึงเปิดโอกาสให้เด็กๆ ทำกันเองทุกขั้นตอน แต่แล้วเพียงกระทะแรก ไข่เจียวลุยสวยที่คิดว่าง่ายๆ กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะไข่ไหม้!

“ไฟน่าจะแรงไป เพราะตอนที่ผมทำมันร้อนมาก อีกอย่าง ผมพลิกไข่ไม่ทันเพราะมันร้อน” พี่โตอนุบาล ๓ ผู้รับอาสาเจียวไข่คนแรกตั้งข้อสังเกต จากนั้นเสนอทางแก้กับเพื่อนๆ ต่อทันทีก่อนที่จะทำกระทะต่อว่า “เราน่าจะต้องเบาไฟลงตอนที่มันเริ่มมีควันออกมา เพราะควันออกมาก็คือมันร้อนเกินไปแล้ว แล้วพอเราได้กลิ่นหอมๆ ก็พลิกไข่เลย เดี๋ยวผมจะลองทำ”

ครูชวนเด็กๆ คุยถึงวิธีที่พี่ อ.๓ ว่าแต่ละคนคิดเห็นกันอย่างไร ทุกคนเห็นด้วยจึงให้พี่ลองทำอีกครั้ง ปรากฏว่าไข่เจียวยังคงไหม้อยู่ จึงลองทำอีกหลายๆ ครั้ง พร้อมกับสังเกตและปรับวิธีการไปด้วย เช่น เอามืออังที่กระทะก่อน ค่อยๆ เทไข่ (ตอนแรกเทรวดเดียว) พอไข่เริ่มมีเสียงดังฉี่จึงกลับด้าน ให้ครูช่วยดูว่าได้หรือยัง พอครั้งถัดไปเด็กๆ ก็ช่วยกันดูเอง โดยมีกลุ่มน้องๆ คอยลุ้นอย่างใจจดใจจ่อและให้กำลังใจพี่ๆ อ.๓ จนสามารถทำได้สำเร็จ ไข่เจียวที่ได้ไม่ไหม้แล้ว

“ผมค่อยๆ เทไข่ลงไปตอนที่จับกระทะร้อนแล้ว แล้วมันจะมีฟองๆ ที่ไข่ ก็เอาตะหลิวดันๆ ไป ถ้ามันพลิกได้ก็พลิกเลย มันจะเหลืองๆ เป็นแผ่น ก็คือกินได้แล้ว” พี่ อ.๓ เล่าถึงวิธีการที่ทำให้ไข่เจียวออกมาเหลืองสวยดูน่ารับประทาน ไม่ไหม้เหมือนในกระทะแรกๆ

เพราะเป็นอาหารที่เด็กๆ อยากทำและอยากกิน เพราะได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ไข่เจียวลุยสวนไหม้ๆ จึงไม่ใช่แค่ปัญหา แต่เป็นโจทย์จริงที่ท้าทายให้เด็กๆ ได้ฝึกคิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จากการตั้งข้อสังเกต ทดลองทำซ้ำๆ ติดตามด้วยท่าทีที่ไม่ท้อถอยต่อปัญหา จนได้ข้อสรุปจากการทดลองของตนเอง แล้วนำมาบอกเล่าเป็นความภูมิใจสู่ผู้อื่นได้

ในวงสนทนาก่อนกลับบ้านวันนั้น พี่ อ.๓ พูดสะท้อนการเรียนรู้เรื่องทำไข่เจียวลุยสวนว่า “เราทำอาหารกินเองได้ คือเราพึ่งพาตัวเองได้ คือพึ่งพาก็คือดูแลตัวเอง ไม่ต้องให้พ่อแม่ช่วย และผมก็ทำไข่เจียวได้เก่งแล้วนะ คือไม่ไหม้น่ะ” สะท้อนให้เห็นว่า เขารับรู้ความสามารถของตนเองที่เกิดจากการลงมือทำซ้ำๆ ไปด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นยังเชื่อมโยงเรื่องราวของตนไปสู่คุณค่าของการทำอาหารกินเองได้อีกด้วย

การพาเด็กทำงานครัวจึงไม่ใช่เพียงการพาเขาทำอาหารเป็นและอร่อย หากคือการเรียนรู้ต่างๆ เช่น ทักษะการคิด ทักษะการแก้ไขปัญหา ความมุ่งมั่นทำการงานให้สำเร็จ การรับรู้ความสามารถของตนเอง ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำด้วยตัวเอง