การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

เด็กทุกคนอยากได้รับการยอมรับจากคนที่เขาสนใจ

#เรื่องเล่าจากห้องเรียน
ในช่วงเล่นอิสระยามเช้า ครูสังเกตเห็นเด็กๆ กลุ่มหนึ่งล้อมวงร้องเพลงและเต้นกันอย่างสนุกสนาน โดยมีพี่ อ.๒ คนหนึ่งร้องนำและเต้นเป็นดาวเด่นอยู่กลางวง ไม่น่าเชื่อว่าก่อนหน้านี้ไม่นาน พี่ อ.๒ คนเดียวกันนี้เพิ่งเดินน้ำตาซึมมาบอกคุณครูว่า “ทำไมไม่มีใครเล่นกับหนูเลย”

เด็กทุกคนอยากเป็นที่รัก อยากมีเพื่อน เพียงแต่ประสบการณ์เขายังน้อย จึงไม่รู้วิธีเข้าหาเชิงบวก ไม่รู้จะชวนเพื่อนเล่นอย่างไร เราจึงเห็นเด็กบางคนเดินไปผลักของเล่นเพื่อนบ้าง ผลักเพื่อนบ้าง เพียงเพราะอยากเล่นด้วย แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนๆ ถึงไม่อยากเล่นด้วย

“ครูต้องคอยอ่านสถานการณ์ให้ออก บางกรณีเราปล่อยให้เด็กๆ จัดการกันเองได้ แต่บทบาทสำคัญของครูคือ ต้องเข้าไปช่วยคลี่คลายสถาณการณ์ ให้เด็กๆ ได้รับรู้ต้นสายปลายเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นและจะหาวิธีการแก้ไขอย่างไร นี่คือการเรียนรู้สังคมและการแก้ปัญหาของเด็กบนสถาณการณ์จริง บางครั้งครูอาจนำเรื่องนั้นมาเป็นประเด็นพูดคุยต่อในห้องให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันก็ได้” ครูแอร์ ครูใหญ่ฝ่ายอนุบาล กล่าวถึงบทบาทของครูในสถานการณ์ดังกล่าว

หัวใจสำคัญคือท่าทีของครูต่อสถานการณ์ตรงหน้า หรือต่อตัวเด็กที่เป็นต้นเรื่อง ที่จะไม่ปล่อยผ่าน แต่หาจังหวะเข้าไปพูดคุยกับเด็ก (เป็นรายบุคคล) ด้วยท่าทีที่อ่อนโยน มีเมตตา ไม่มองว่าเขาเป็นปัญหา แต่พยายามเข้าใจ สืบเสาะหาเหตุของการกระทำนั้น ตั้งคำถามชวนเด็กทำความเข้าใจตัวเอง เช่น ที่หนูผลักเพื่อน หนูอยากบอกอะไร รู้สึกอย่างไร หนูต้องการอะไร คำถามเหล่านี้ช่วยฝึกให้เด็กค่อยๆ ทบทวนตัวเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง แล้วระบุออกมา เป็นก้าวแรกๆ ในการเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเอง

เด็กๆ กลุ่มนี้จะอยู่ในสายตาครู และมักมีเหตุการณ์ให้ครูต้องเข้าไปช่วยเหลือบ่อยครั้ง แต่ขณะเดียวครูต้องใส่ใจเวลาที่เด็กไม่มีปัญหาด้วย อาจจะเข้าไปเล่น ทักทาย หรือสบตาแล้วยิ้มให้ ให้เด็กรู้ว่าครูรับรู้เขา ซึ่งจะช่วยเสริมพฤติกรรมเชิงบวกของเด็กได้ ส่งผลไปถึงเด็กๆ ในห้องที่จะรับรู้เป็นปกติ ไม่รู้สึกว่าเพื่อนเป็นตัวปัญหา

ในทางกลับกัน ถ้าครูเข้าหาเฉพาะตอนเด็กมีปัญหา จะยิ่งไปเสริมพฤติกรรมเชิงลบ เพราะเขาเรียนรู้ว่าทำดีแล้วครูเฉย แต่พอก่อเรื่องแล้วครูสนใจ เด็กยังไม่เข้าใจหรอกว่าปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ เขาเพียงต้องการให้ครูสนใจ

ถ้าเด็กอยากเล่น แต่ไม่รู้จะเข้าหาเพื่อนอย่างไร ครูอาจช่วยพาเด็กเข้าไปหาเพื่อนก่อน เล่นไปด้วยกัน เมื่อเห็นว่าเด็กๆ เล่นกันเองได้ ครูค่อยถอยออกมา แต่ถ้าเล่นๆ ไปแล้วเริ่มกระทบกระทั่งกัน ครูค่อยเข้าไปใหม่ ให้เวลาเด็กค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัว

บางครั้งครูจะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นหัวข้อพูดคุยในห้อง โดยไม่ระบุชื่อเด็ก ไม่เพ่งโทษหาคนผิด เพียงเล่าถึงเหตุการณ์ แล้วชวนเด็กๆ หาวิธีการหรือทางออกร่วมกัน พี่ อ.๓ ที่มีประสบการณ์จะเป็นคนบอกว่าแบบไหนควรทำแบบไหนไม่ควรทำ เราต้องทำแบบไหน น้องเล็ก อ.๑ จะนิ่งฟัง พี่ อ.๒ ช่วยเสริมบ้าง แล้วคุณครูจะช่วยสรุปความคิดเห็นของเด็กๆ อีกครั้ง “ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก เรามาใช้วิธีนี้กันนะ เรามาให้กำลังใจกันนะ” ให้เด็กซึมซับรับรู้ว่าเราอยู่ด้วยกัน เรารับรู้กัน และเรากำลังช่วยกัน

กระบวนการต่างๆ เหล่านี้เปิดโอกาสให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัว ดังเช่นพี่ อ.๒ นักร้องนักเต้นขวัญใจเพื่อนๆ ในตอนต้น เพราะชอบร้องชอบเต้น วันหนึ่งเขาร้องเพลงและเต้นอยู่คนเดียว บังเอิญเป็นเพลงที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่เด็กๆ ในขณะนั้น แล้วเขาร้องอย่างมีความสุข สนุกสนาน ร้องจนจบเพลง เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ พากันเข้ามารุมล้อม วันต่อมาก็ชวนมาร้องมาเต้นด้วยกัน เขาพบว่าตนเองได้รับการยอมรับ เป็นที่รักของเพื่อนๆ พฤติกรรมเชิงลบจึงค่อยๆ หายไป เพราะเขารู้แล้วว่าจะเข้าหาเพื่อนอย่างไร ทั้งยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวกอื่นๆ ตามมา เช่น ช่วยเพื่อนเก็บและทำความสะอาดของเล่นหลังเล่นเสร็จ

เด็กๆ อนุบาลเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิต เรื่องราวในชีวิตประจำวันคือโจทย์จริงให้เด็กได้เรียนรู้ เพียงครูเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส ให้เด็กได้ลองผิดลองถูก สังเกต เรียนรู้ เขาจะค้นพบวิธีการในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขด้วยตัวของเขาเอง

ที่มา : จากวงสนทนาสะท้อนการเรียนรู้ของครูอนุบาลรุ่งอรุณ – ครูแอร์ ครูอีฟ ครูแตงโม ครูปราง ครูโบว์ ครูกิ่ง ครูวิ ครูเก๋ ครูคะนิ้ง