CIMG9884b
บทความทั่วไป

สัมภาษณ์ รศ.ประภาภัทร นิยม โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

รศ.ประภาภัทร นิยม “รุ่งอรุณ” โรงเรียนแห่งการเรียนรู้

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2552

สุรนันทน์         วันนี้เรามาพูดคุยกับรศ.ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณครับ โรงเรียนรุ่งอรุณปีนี้ปี่ที่เท่าไหร่ครับ

ประภาภัทร      ปีที่ 13 แล้วค่ะ

สุรนันทน์         สิบกว่าปี แนวคิดของโรงเรียนยังเหมือนเดิม

ประภาภัทร      ยัง เหมือนเดิม ยังอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน ของนักเรียน โดยเฉพาะของเด็ก เพราะว่าธรรมชาติการเรียนรู้สำคัญมาก ถ้าเรามองกันให้เป็นภาพใหญ่เรื่องของมนุษย์ การพัฒนามนุษย์ มนุษย์เราเกิดมาอย่างแรกเลยที่ต่างจากสัตว์อื่นคือเดินตัวตรง กระดูกสันหลังตั้งตรงกับพื้นโลก แล้วก็มีวิธีคิด คิดเป็น แล้วพอมีวิธีคิดก็มีภาษาเป็นตัวจับความคิดที่ชัดเจนสื่อสารได้

สุรนันทน์         แต่พอพูดตรงนี้ โรงเรียนอื่นก็สอนให้เด็กพูด คิด เหมือนกันไม่ใช่หรือ

ประภาภัทร      ธรรมชาติ การเรียนรู้ตรงนี้มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคนอันนี้คือพื้นฐาน แต่ว่าโรงเรียนบางทีก็ไปปิดกั้นธรรมชาตินั้น การที่เขากลายเป็นผู้ถูกสอน ต่างจากที่เป็นผู้เรียนด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นผู้ถูกสอนกับผู้เรียนต่างกัน โรงเรียนส่วนใหญ่ทำนักเรียนให้กลายเป็นผู้ถูกสอน แล้วก็รู้แต่ในเรื่องที่จำกัดที่ครูตัดสินใจมอบหมายให้ บอกว่าต้องเรียนอย่างนี้ ต้องเรียนเฉพาะเรื่องราวอย่างนี้ เนื้อหาอย่างนี้ วิชาอย่างนี้ แล้วก็เรียนด้วยวิธีอย่างนี้ แล้วก็ไปสอบ ก็ไปไม่ถึงการพัฒนา ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์มนุษย์พร้อมที่จะเรียนอยู่แล้ว แต่บางเรื่องที่เขาพร้อมจะเรียนหมายความว่าเรื่องนั้นมีความหมายต่อเขาด้วย เขาจะเกิดแรงจูงใจในการที่จะเรียนซึ่งต่างกันตรงนี้ การเป็นผู้ถูกสอนบางทีเขายังไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียน

สุรนันทน์         อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างว่าคืออะไร เพราะพ่อแม่บางคนอาจจะไม่รู้จัก อาจจะบอกว่ารุ่งอรุณคงเหมือนกันเพราะจะต้องมีครู

ประภาภัทร      ครูจำเป็น ต้องมี แต่ว่าครูก็ต้องรู้บทบาทที่จะไม่ไปกินพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กมากนัก ไม่อย่างนั้นครูก็จะบงการหมดทุกอย่าง ครูจะต้องรู้ระยะที่จะต้องปล่อยให้เขาเรียนรู้เอง ต้องปล่อยให้เขาทำเอง ให้เขาคิดเอง เหมือนเด็กอนุบาลอย่างนี้ เขาเรียนรู้ได้ตั้งหลายอย่างอย่ามัวแต่ไปประคับประคองเขาอย่างเดียว ไม่ใช่ทำแทน คิดแทนไปหมด

สุรนันทน์         ถ้าผมส่งลูกผมมา ผมควรจะต้องคาดหวังอะไร

ประภาภัทร      ต้องคาด หวังคุณภาพของการเรียนรู้ของเขา เขาต้องเป็นผู้เรียนที่เป็นครูของตัวเองได้ มีความคิดความอ่านที่มุ่งหมายว่าจะเรียนอะไรเพื่อประโยชน์ เพื่อมีชีวิตที่เป็นอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการ อย่างเด็กอนุบาลเราให้เขาทำอาหาร โรงเรียนอื่นอาจจะไม่ให้เด็กอนุบาลทำอาหาร ทอดปลาทูเป็น ทำน้ำพริกเป็น ทำส้มตำเป็น แกงส้มเป็น คือเขาสามารถทำได้อย่างผู้ใหญ่ทำ แต่บางทีครูอนุบาลหรือว่าพ่อแม่มักจะคิดว่าลูกยังเล็กอยู่อย่าเพิ่งให้ทำเลย เด็กอนุบาลเขาล้างจานล้างถ้วยเป็น เขาเก็บช้อนจานแยกออกจากกันเป็น เขารู้จักว่าขยะคืออะไร กวาดเศษอาหารลงจากจานก็ทำได้ วางรองเท้าของตัวเองให้เป็นระเบียบก็ทำได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่เขาต้องทำเอง แต่บางทีเรานึกว่าเข้าโรงเรียนแล้วคือเรียนอย่างเดียวไม่ต้องทำอะไรไม่ใช่ พอเด็กทำอะไรได้เองศักยภาพของเขาจะเพิ่มเร็วมาก เขาเข้าใจเร็วขึ้น แล้วเขาก็ไม่ลังเลที่จะเรียนรู้อะไร เขาเห็นอะไรเขาก็จะตรงเข้าใส่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องเรียนไม่ใช่เรื่องลำบากสำหรับเขา

สุรนันทน์         ศักยภาพของเด็กเหมือนกันหรือเปล่าสำหรับเด็กทุกคน

ประภาภัทร      ค่อนข้าง จะคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ นอกว่าจะมีอะไรที่ผิดปกติจริงๆ อย่างมัธยมปลาย อย่างตอนนี้เด็กม.5 ม.6 ของเราตั้งแต่ต้นเทอมมา เราก็ให้เขาเรียนเป็นลักษณะเป็นโครงงาน แล้วให้เขาเลือกว่าเขาจะเรียนโครงงานอะไรเพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาความรู้ทาง ด้านวิทยาศาสตร์ ทางด้านสังคม เด็กม.5 ที่อยู่ในสายวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเขาเลือกไปทำเรื่องวิจัยฟ้าทลายโจร ว่าระงับการติดเชื้อได้จริงหรือเปล่า ทันสมัยมากโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่ก่อนหวัดใหญ่ 2009 จะมาถึงเขาก็ทำโครงงานนี้ขึ้นมา เริ่มต้นครูจะต้องบอกเลยว่าระดับชั้นนี้ความรู้ที่จะต้องมีเรื่องอะไรบ้าง ชีววิทยามีอย่างนี้ ฟิสิกส์มีอย่างนี้ เคมีอย่างนี้ แล้วให้เขาทำเป็นกลุ่มเขาตัดสินใจเองว่าเขาจะเลือกอะไร อย่ากลุ่มที่ว่าเขาเริ่มทดลองแล้ว ไปขอแล็ปที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่อยู่ใกล้ๆเรา

สุรนันทน์         หมายความว่าเด็กที่นี่คิดเองเป็นทำเองเป็น

ประภาภัทร      แล้วทำ เรื่องจริงในชีวิต เผชิญกับสิ่งที่เป็นอยู่ตรงหน้าได้ คือไม่ใช่ว่าให้ไปเรียนจำลองเรื่องจำลองอยู่เรื่อยๆ ไปเรียนเรื่องของเชื้อไวรัสก็ไปเรียนอยู่ในกระดาษในทฤษฎี ซึ่งไม่ใช่ของจริง

สุรนันทน์         พ่อ แม่หลายคนก็อาจจะถามว่า แต่ทักษะโลกทั้งหมดยังเป็นทักษะแบบเก่า คือจะต้องเรียนแล้วก็สอบ สมมติเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณไปแล้วพอไปเข้ามหาวิทยาลัยกลายเป็นบรรยากาศที่จะ ต้องสอบจะต้องท่อง ความรู้ในเชิงที่จะต้องผ่านขั้นตอนชีวิตตรงนั้นพอหรือเปล่า

ประภาภัทร      พอ… การเรียนจากของจริงอย่างนี้ดึงศักยภาพ ดึงความพยายาม ความวิริยะอุตสาหะ มากกว่า เรียนจากหนังสือง่าย แต่ถามว่าต้องติวหรือเปล่า ก็ติว เด็กเราก็ผ่านการติวก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา แล้วเด็กที่นี่ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สบายๆ เข้าได้ดีๆทั้งนั้น ถึงเวทีแบบสากลก็ไปได้เหมือนกัน

สุรนันทน์         ใน ขั้นตอนของที่อาจารย์บอก พอใช้ศักยภาพตัวเอง อาจารย์รู้ได้อย่างไรว่าเด็กคนนี้ถึงจุดแล้วมีศักยภาพกล้าตัดสินใจ การดูแลเป็นอย่างไรครับ

ประภาภัทร      เด็กดูไม่ อยากหรอก ถ้าจะวัดผลกันก็ดูที่ตัวเด็ก งานของเขาสิ่งที่เขาทำออกมาไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน หรือว่าวิชาต่างๆเขาเข้าใจหรือเปล่า วัดไม่ยากครูดูได้ พ่อแม่ก็รู้

สุรนันทน์         อาจารย์ทำมา 13 ปี เด็กจบ ม.6 ไปหลายรุ่น แต่จะเริ่มเป็นรุ่นแรกๆที่เรียนตั้งแต่เด็กอนุบาลจนจบม.6 รู้สึกเป็นอย่างไร

ประภาภัทร      ภูมิใจ ความเป็นครูของเราก็ได้รางวัลตรงนี้แหละ เวลาเด็กที่จบไปแล้ว แล้วก็เขาประสบความสำเร็จ

สุรนันทน์         การศึกษาพื้นฐาน 12 ปีที่อื่นอาจจะฝืนธรรมชาติ

ประภาภัทร      ธรรมชาติ ของคนพร้อมที่จะเรียนรู้แบบนี้อยู่แล้ว ระบบการศึกษาอื่นอาจจะฝืนธรรมชาติของเขาแล้วไม่รู้ตัวว่าฝืน ผู้เรียนก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองถูกฝืน แต่ถามว่าเด็กอยากเรียนหรือเปล่า เด็กอยากสอบหรือเปล่า เด็กอยากที่อย่างจะถูกสอบบ่อยๆอย่างนั้นหรือเปล่า มันไม่ใช่ การพัฒนามนุษย์ต้องบ่มเพาะแล้วก็ไม่ใช่ว่าเราไปวัดผลกันง่ายๆแบบนั้น ต้องให้เวลาเด็กเขา

สุรนันทน์         ทักษะ ชีวิตที่อาจารย์สอนที่นี่ถ้าไปเปรียบกับทักษะชีวิตของเด็กไทยตอนนี้ ข้างนอกโรงเรียนรุ่งอรุณ อาจารย์มองแล้วเป็นอย่างไรครับ อะไรคือปัญหาของเด็กและเยาวชน

ประภาภัทร      ทุกวันนี้ เด็กเขาค่อนข้างจะเปราะบาง แล้วก็เผชิญเรื่องจริงไม่ค่อยได้ คือเรื่องจริงดูยิ่งยากซับซ้อน แล้วเขาไม่อยากที่จะเข้าไปแก้ปัญหาไม่อยากจะไปทำความเข้าใจด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้ที่จริงเป็นศักยภาพของมนุษย์อยู่แล้ว ที่จะต้องเข้าไปเผชิญเรื่องต่างๆ ก็ไม่ใช่ความผิดของเขาแต่ว่าเขาถูกเลี้ยงมาอย่างไร เขาเติบโตมาอย่างไร เขาถูกบ่มเพาะมาอย่างไร ก็เห็นผลออกมามานี้แหละ ซึ่งเราก็จะต้องดูว่าสังคมทำอะไร สร้างค่านิยมอะไรให้พ่อแม่ สร้างค่านิยมอะไรให้กับการศึกษา ทักษะชีวิตที่จำเป็นทำไมไม่มี ก็โทษกันไปโทษกันมาระหว่างโรงเรียนกับบ้าน คือสมัยนี้พ่อแม่พยายามจะมาช่วยทุกอย่าง คิดแทนด้วยจะไปเรียนต่ออะไร พ่อแม่บางคนมาร้องเรียนโรงเรียนบอกทำไมลูกถึงไม่มีการบ้าน นั่นสอนหรือเปล่านี่สอนหรือเปล่า

สุรนันทน์         อาจารย์คิดว่าทำไมแข่งขันกันมาก

ประภาภัทร      แข่งขัน กันมาก พ่อแม่เลยกลัวลูกจะแข่งกับเขาไม่ได้ แต่ที่จริงแค่ไหนก็คือความสามารถของลูก จะแข่งอย่างไร เวทีไหนก็แล้วแต่ ความสามารถของลูกล้วนๆเลย พ่อแม่ไม่ได้ไปสอบแทนนะนเป็นค่านิยม ของสมัยนี้ที่ทำให้ความเข้าใจผิดไปว่าต้องแข่ง แล้วก็วิ่งแข่งกันใหญ่เลยเพื่อที่จะชิงชัยกัน วิธีการจัดอย่างคุณสุรนันทน์ไปต่างประเทศจะเห็นบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้แข่งกันขนาดนี้นะ

สุรนันทน์         ใช่… ไม่ได้ไปแข่งกับคนอื่น เหมือนกับแข่งกับตัวเอง

ประภาภัทร      แข่งกับ ตัวเอง แล้วรู้ว่าตัวเองจะเป็นอะไร ไม่ได้มีแนวทางมีหลายแนวทาง ใครก็ไปตามวิถีที่เหมาะกับตัวเองได้ แต่ของเราเราสร้างแนวทางไว้ให้อันเดียวคือต้องเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น ทุกสถาบันอยากเป็นมหาวิทยาลัยหมดเพราะว่าค่านิยมคนอยากเข้ามหาวิทยาลัย

สุรนันทน์         แต่ว่าการจะทำให้คนประสบความสำเร็จ อาจารย์ก็มองว่ามีหลายวิธี ไม่ใช่วิธีนั้นวิธีเดียว ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกัน

ประภาภัทร      การแข่งก็ มีผลกระทบย้อนกลับมาที่การเรียน ไม่ได้เรียนเพื่อที่จะเอาความรู้ความเข้าใจจริง ก็จะเอาแค่ว่าสามารถที่จะทำข้อสอบตอบได้เก่ง ทำข้อสอบได้เร็วเป็น ค่านิยมที่ไปด้วยกันหมดเลย เป็นลูกโซ่ต่อกันไปหมด ก็ต้องไปปลดคอขวดต่างๆเหล่านี้ออก ปลดตั้งแต่การเข้ามหาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้นมหาวิทยาลัยก็มีรับตรงบ้างแล้ว แล้วก็รุ่งอรุณก็เชื่อมโยงกับเทคโนฯบางมด เขาเห็นเด็กเราไปเรียนในแล็ปเขา เขาก็รู้สึกว่าเด็กอย่างนี้เขาอยากได้มาเป็นนักศึกษาของเขา

สุรนันทน์         แต่ยากที่สุดน่าจะเป็นการเปลี่ยนค่านิยม

ประภาภัทร      เราก็ต้อง ค่อยๆทำจากจุดที่เราทำได้ อย่างรุ่งอรุณจะถามว่าสวนกระแสหรือเปล่าก็สวนกระแส แต่ว่าเราไม่ได้ไปทำเพื่อที่จะล้มล้างใคร เราก็ทำในสิ่งที่คิดว่าควรจะทำ เป็นทางเลือก ก็มีผู้ปกครองที่เข้าใจเยอะ

สุรนันทน์         ถ้าจะ บอกว่ารุ่งอรุณสวนกระแส เพราะกระแสไทยแข่งขันไปเอาปริญญา เสร็จต้องทำปริญญาโท ปริญญาเอก ไปทำงานก็ต้องพยายามหางานที่ดีที่สุด ถ้าบอกว่ารุ่งอรุณสวนกระแส ผลสุดท้ายคนที่จบจากแนววิธีการศึกษาแบบองค์รวมแบบรุ่งอรุณจะเป็นอย่างไร

ประภาภัทร      เขาจะไปทำ อะไรที่เป็นประโยชน์มากกว่านั้น เป็นประโยชน์กับตัวเอง กับสังคม กับประเทศชาติ ซึ่งระบบของไทยตอนนี้ก็มีคนดีๆออกมาเหมือนกันแต่ถามว่ากระแสส่วนใหญ่ของ สังคมเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าเราเชื่อว่าสังคมเราโตเรียนรู้กันมาอย่างถูกต้อง โลกจะเป็นอย่างนี้หรือ ตอนนี้หายนะภัยต่างๆที่เกิดขึ้นก็ฟ้องเราอยู่แล้ว แต่บางที่เราก็ไม่คิดเชื่อมโยงว่านี่มาจากวิธีการที่เราอยู่เราเป็นกันอย่าง นี้ รวมทั้งวิธีคิดด้วย เชื่อมโยงกันหมด ถ้าเราไม่หยุดกระแสอย่างนี้จะกินต้นทุนชีวิตหมด เราไปเอาทรัพยากรในอนาคตมาใช้หมดเลย ลูกหลานเราจะทำอย่างไร ทีนี้ฐานคิดแบบนี้ก็จะพาโลกไปแนวนี้ แล้วพาการศึกษาไปด้วย ก็มีกระแสใหม่ขึ้นมาก็คือแนวพอเพียงยั่งยืน พัฒนาแบบยั่งยืน ให้มีการบริโภคที่พอเหมาะเราไม่ได้ไปฝืนความเจริญทางเทคโนโลยีแต่ว่าเราต้อง รู้ว่าพอเพียงเราไม่ได้ที่จะไปเอาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยการซื้ออย่างเดียว

สุรนันทน์         อาจารย์มาทำโรงเรียนอย่างนี้ พอมองไปข้างนอกรู้สึกท้อบ้างหรือเปล่า

ประภาภัทร      ก็ไม่ท้อ เพราะเราไม่ได้ไปเอาเป็นเอาตาย จะเอาชนะอะไร เราก็คิดว่าตรงไหนที่เราทำได้เราก็ทำ แล้วก็เห็นมาตลอด 10 กว่าปีมานี้ก็มีโอกาสทำเยอะ โอกาสที่วิ่งเข้ามาหาเราให้เราได้คิดได้ทำ จริงๆในกระแสของการศึกษาระบบใหญ่เขาก็เห็น แล้วเขาก็มาร่วมมือกับเรา เราก็จัดอบรมอะไรหลายๆอย่างให้เขา เช่นการเรียนรู้ศิลปะที่กลับเข้าไปย้อนดูตัวเองให้เป็น เริ่มเปลี่ยนวิธีคิดของคน หรือการเล่นกีฬาที่เข้าไปดูแลชีวิตของตัวเองได้ อะไรต่างๆเหล่านี้ เราทำแผนที่คนดี ทำโค้ชชิ่งทีม ทาง สพฐ.เองสนใจ คือทุกคนไม่ได้ปฏิเสธเรื่องที่ดี ทุกคนยินดีเปิดรับรออยู่ว่าใครจะทำ มันก็มีจังหวะของเราไม่ต้องไปเร่งจังหวะ ถ้าเราไปเร่ง คาดหวังมากเราก็ทุกข์ เหตุปัจจัยพร้อมเราก็ทำ เราก็อาศัยวิธีแบบนี้ สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่เป็นไร เราได้ทำแล้วยังดีกว่าไม่ได้ทำเลย

โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.