โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

พ่อแม่คือหุ้นส่วนการเรียนรู้ของลูก

ห้องเรียนพ่อแม่อนุบาล ๑ เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๗ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ทีมครูอนุบาลจึงชวนคุณพ่อคุณแม่มา “เก็บดอกผลการเรียนรู้” ร่วมกัน ว่าหลังจากอบรมแล้ว แต่ละบ้านได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร ใช้แล้วเกิดผลอย่างไร ทั้งกับตัวพ่อแม่เอง กับลูก หรือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก เพื่อแบ่งปันประสบการณ์เป็นความรู้ให้แก่กัน

ก่อนจะไปล้อมวงถอดบทเรียน รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้มาพบปะพูดคุยกับผู้ปกครอง ซึ่งมีทั้งผู้ปกครองเก่าและผู้ปกครองใหม่ โดยคุณแม่ท่านหนึ่งได้ถามถึงความเป็นมาของโรงเรียนรุ่งอรุณ คิดอย่างไรถึงได้ตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น

รศ.ประภาภัทรเล่าว่าเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนนั้นท่านมีความสนใจด้านการศึกษา จึงพาตัวเองไปเรียนรู้กับนักวิชาการและนักการศึกษาหลายท่าน แล้วก็พบว่านักวิชาการบ้านเรานั้นมีความรู้เรื่องการศึกษาดีมาก รู้ว่าโรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร จึงได้แต่สงสัยว่า “แล้วทำไมไม่มีใครทำ” ครั้นเมื่อถามคำถามนี้กับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านตอบกลับมาว่า “ก็เขารอคนทำ คุณจะทำไหมล่ะ” และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำโรงเรียนรุ่งอรุณ

#เด็กทุกคนเรียนรู้ได้
จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า ๒๐ ปี โรงเรียนรุ่งอรุณก่อเกิดและดำเนินมาได้ รศ.ประภาภัทรบอกว่า ไม่ใช่แค่แรงบันดาลใจอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ความเชื่อมั่นว่าทำได้ และที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นว่า เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ โรงเรียนรุ่งอรุณจึงตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเด็กอย่างแท้จริง เป็นพื้นที่ให้เด็กได้ประลอง ให้เด็กได้มีบทบาทเป็นผู้เรียนตัวจริง

#พ่อแม่คือหุ้นส่วนการเรียนรู้ของลูก
แล้วพ่อแม่ควรทำตัวอย่าง? คำถามยอดฮิตในใจคุณพ่อคุณแม่ที่รักและปรารถนาดีต่อลูก รศ.ประภาภัทรตอบว่า “พ่อแม่ก็ทำตัวธรรมดา เป็น Learning Partner หรือเป็นหุ้นส่วนการเรียนรู้ของลูก” พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “ลูกจะเป็นอย่างที่เราเป็น ไม่ใช่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น ไม่ใช่เป็นอย่างที่เราสอน ขอให้พ่อแม่ทุกคนมีความสุขกับการเลี้ยงลูก และไว้ใจลูกมากๆ”

#เก็บดอกผลการเรียนรู้
หลังจากนั้นพ่อแม่ได้แบ่งกลุ่มเข้าห้องล้อมวงสะท้อนในกลุ่มย่อย ภายใต้โจทย์ที่ว่า จากการอบรม ๖ ครั้งที่ผ่านมา แต่ละท่านได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้อย่างไร แล้วส่งผลต่อลูกหรือความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกอย่างไร โดยสะท้อนในรูปแบบ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์เป็นความรู้ให้กับครอบครัวอื่นๆ ในวง

#กลับมาแก้ที่ตัวเรา
“เมื่อก่อนพอเราฉุนเฉียว เขาก็จะฉุนเฉียวกลับมา แรงกว่าเราด้วย ก็ต้องกลับมาแก้ที่ตัวเรา พยายามควบคุมอารมณ์ตัวเอง ฟังว่าลูกต้องการอะไร จะได้แก้ปัญหาได้ ซึ่งพอเราไม่ฉุนเฉียว เขาก็ไม่แรงกลับมาแล้ว” – เรื่องเล่าเร้าพลังจากคุณพ่อ

#วางใจให้ลูกทำเอง
“เวลาใส่เสื้อผ้า เขาจะโวยวายว่าหนูใส่ไม่ได้ หนูทำไม่ได้ วันหนึ่งเขาวิ่งมุดหายไปหลังราวเสื้อผ้าแล้วกลับออกมาอวดเราว่าเขาใส่ได้แล้ว พอวันต่อมาเราให้เขาแต่งตัวเอง เขาก็โวยวายเหมือนเดิมว่าหนูทำไม่ได้ เราก็เอ๊ะ วันก่อนยังทำได้อยู่เลย ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าวันก่อนเขาทำในมุมส่วนตัวของเขาที่เราไม่เห็น แต่ทุกวันที่อยู่ตรงหน้าเรา เราสั่ง เราบอก ต้องทำอย่างนั้น ต้องใส่อย่างนี้ เราคิดว่าเราสอน แต่มันกลายเป็นกดดันเขา ทำให้เขาทำไม่ได้ วันนั้นเลยบอกให้เขาไปหามุมส่วนตัวใส่เสื้อเองตามที่เขาสบายใจ ก็ปรากฏว่าเขาทำได้จริงๆ คือเราแค่ไว้วางใจเขา ว่าเขาทำได้ แล้วปล่อยให้เขาทำ เขาจะทำได้ด้วยความภาคภูมิใจของเขาเอง” – เรื่องเล่าเร้าพลังจากคุณแม่