การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนประถม

มงคลชีวิต ป.๑ : บุคคลสัปปายะ

ในปีการศึกษานี้โรงเรียนรุ่งอรุณได้นำมงคล ๓๘ ประการ มาออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนเห็นคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อความเป็นมงคลและเกิดสติสัมปชัญญะในชีวิต โดยที่ครูเองต้องเข้าใจถึง “แก่นธรรม” ของแต่ละมงคลก่อน โรงเรียนรุ่งอรุณจึงได้จัดการประชุมครูทั้ง ๓ ส่วนคือ อนุบาล ประถม มัธยม เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ “ตามหาแก่นธรรมของมงคลชีวิต” โดยมีพระมหาชัยพร เขมาภิรโต จากวัดจากแดง และ รศ.ประภาภัทร นิยม เป็น “โค้ช” ช่วยชี้แนะให้ครูเข้าใจ เพื่อการออกแบบกระบวนการสอนไปสู่นักเรียนต่อไป

ตัวอย่างการเรียนรู้ของชั้น ป.๑

ในสังคมเล็กๆ ของนักเรียนชั้น ป.๑ เป็นธรรมดาที่การอยู่ร่วมกันย่อมต้องมีการกระทบกระทั่ง ไม่พอใจกัน เช่น พูดล้อกัน เผลอใช้คำพูดที่ทำให้เพื่อนรู้สึกเสียใจ หน่วยมงคลชีวิตในวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ คุณครูระดับชั้น ป.๑ จึงหยิบยกมงคลที่ ๔ “ปฏิรูปเทสวาโส จ”  การอยู่ในถิ่นอันสมควร มาเป็นหัวข้อการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันของนักเรียน

จากการระดมความคิดตามหาแก่นธรรม “มงคลที่ ๔ การอยู่ในถิ่นอันสมควร” หลักธรรมข้อนี้ประกอบด้วย สถานที่สัปปายะ (มีที่พักอาศัยสะอาด ที่อยู่เหมาะสม บรรยากาศดี) บุคคลสัปปายะ (มีบุคคลแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้สบายใจ) อาหารสัปปายะ (บริโภคอาหารที่พอเหมาะ) และธรรมสัปปายะ (มีหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติธรรม) ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เด็กๆ ชั้น ป.๑ เผลอใช้วาจาไม่เหมาะสมต่อกันนั้นตรงกับมงคลที่ ๔ ในหมวด “บุคคลสัปปายะ”

ในวันนั้นคุณครูเริ่มต้นคาบเรียนด้วยเรื่องเล่าประกอบภาพ เป็นเรื่องของเด็กชายอู๊ดที่มีบาดแผลที่คาง แล้วโดนเพื่อนๆ ล้อ เมื่อเด็กคนหนึ่งเริ่ม เด็กคนอื่นๆ ก็ทำตามบ้าง ในตอนท้ายคุณครูจึงถามเด็กๆ ว่า

“นักเรียนคิดว่าอู๊ดจะรู้สึกอย่างไร”
เด็กๆ ต่างยกมือช่วยกันตอบ เช่น เสียใจ โมโห ไม่อยากอยู่ในห้องนี้

“แล้วเด็กๆ คิดว่าอู๊ดจะทำอย่างไรต่อ”
คุณครูชวนคิดต่อ เด็กๆ บอกว่า อู๊ดไปนั่งร้องไห้ ไปบอกครู กลับบ้านไปบอกพ่อแม่ ว่าเพื่อนกลับ ทำร้ายเพื่อนจนเพื่อนร้องไห้

หลังจากเปิดโอกาสให้เด็กๆ แสดงความคิดเห็นจากเรื่องเล่ามาพอสมควรแล้ว คุณครูตั้งคำถามให้นักเรียนเชื่อมโยงและวิเคราะห์ประสบการณ์ของตนเองกับเรื่องเล่า โดยถามว่า
“ถ้าเด็กๆ เป็นอู๊ดจะทำอย่างไร”
คำตอบมีทั้ง ฟ้องครู ฟ้องแม่ ไม่เล่นกับเพื่อนที่มาล้อ ไปเล่นกับเพื่อนคนอื่น อยู่ห่างๆ เพื่อนคนนั้น

“แล้วถ้าห้องเรียนของเรามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เด็กๆ จะทำอย่างไร”

เด็กๆ บอกว่า ไม่ล้อเพื่อน ถามเพื่อนว่าแผลอักเสบไหม เธอเจ็บมากหรือเปล่า ปลอบใจแล้วไปบอกเพื่อนคนที่ทำร้ายว่าวันหลังอย่าทำอีก ให้คนที่แกล้งมาขอโทษเพื่อน

มาสู่คำถามสุดท้าย “แล้วเด็กๆ อยากมีเพื่อนแบบไหน” 

ครูให้เด็กๆ จับคู่เล่าให้กันและกันฟังว่าตนเองอยากมีเพื่อนแบบไหน แล้ววาดภาพ “เพื่อนที่ฉันอยากมี” ลงในกระดาษ โดยคุณครูช่วยบันทึกคำอธิบายของนักเรียนลงในภาพ เสร็จแล้วให้นักเรียนนำผลงานมาติดรวมกันบนกระดาน

และนี่คือตัวอย่างของเพื่อนที่เด็กๆ ชั้น ป.๑ อยากมี
– เพื่อนที่ใจดี ไม่ว่าคนอื่น
– เพื่อนที่ไม่กดดันใจ ไม่ขำในเรื่องที่เราไม่มั่นใจ ไม่ทำร้ายจิตใจ ไม่ทำร้ายร่างกาย
– เพื่อนแบบกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่ดี เข้าใจกัน ไม่ทะเลาะกัน
– เพื่อนที่เข้าห้องมาแล้วเก็บห้องสะอาด
– เพื่อนที่ให้หนูเล่นด้วยทุกวัน
– เป็นคนดี ทิ้งขยะเป็นที่
– ช่วยเหลือเพื่อน ไม่ตะโกน ไม่เสียงดัง ไม่พูดมาก ไม่ทำร้ายเพื่อน
– ตลก อ่านนิทานได้ ใจดี
– ใจดี มีน้ำใจ เวลาเจ็บแล้วพาไปห้องพยาบาล

ก่อนจะจบคาบเรียนในวันนั้น คุณครูชวนเด็กๆ สรุปแก่นธรรมร่วมกัน โดยพาอ่านความคิดของเพื่อนๆ บนกระดานว่า เพื่อนที่แต่ละคนอยากมีนั้นเป็นแบบไหน แล้วเราควรทำตัวเป็นเพื่อนอย่างไร เพื่อให้สังคมเล็กๆ ชั้น ป.๑ แห่งนี้แวดล้อมด้วยมิตรที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในมงคลที่ ๔ การอยู่ในถิ่นอันสมควร ในหมวด “บุคคลสัปปายะ” คือการแวดล้อมด้วยมิตรที่ดีที่จะนำพาชีวิตของเราไปสู่ความเจริญ ซึ่ง “เพื่อนที่นักเรียนอยากมี” ก็คือ “บุคคลสัปปายะ” นั่นเอง