การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  วิดีโอ,  ศิษย์เก่า

ศิลปะ ธรรมะ และเด็กดื้อ: ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย RA15

“โอต้องบอกเลยว่าโอเป็นเด็กดื้อ”
ลีโอ-ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย พูดถึงตัวเองสมัยเป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ
“จะมาบอกโอว่าปั้นแก้วพันใบ ทำก็ได้ แต่ก็จะไม่ทำ ต้องบอกว่าปั้นแก้วพันใบเพราะอะไร”
“ครูทุกคนจะรู้กันว่า มีปฏิบัติธรรม ลีโอหนีไปอีกแล้ว”

เขาเล่าถึงวีรกรรมของตัวเองอย่างอารมณ์ดี ลีโอเป็นศิษย์เก่ารุ่งอรุณรุ่นที่ ๑๕ (RA15) ปัจจุบันกำลังศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ University College London ประเทศอังกฤษ ในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ลีโอกลับมาเยี่ยมเยียนโรงเรียน พูดคุยบอกเล่าถึงการเรียนรู้ในต่างแดน พร้อมทั้งย้อนทบทวนชีวิตวัยเรียนที่รุ่งอรุณที่เรียกได้ว่าเป็นบ้านหลังที่สองของเขาก็ว่าได้ เพราะเรียนที่นี่ตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมปลาย เป็นบ้านที่เขาบอกว่าเหมาะกับ “เด็กดื้อ” แบบเขา เพราะที่นี่เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้ลงมือทำจนเกิดเป็นความรู้และความเข้าใจของเขาเอง และที่สำคัญคือครูรุ่งอรุณที่เข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละคน “สอนแบบไม่สอน” จนทำให้เด็กดื้ออย่างเขาค้นพบศักยภาพในตัวเอง เข้าใจและอยู่กับตัวเองเป็น จากเด็กที่ปฏิเสธการปฏิบัติธรรม แต่เมื่อต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังในต่างประเทศ เขาค้นพบว่าธรรมะที่ค่อยๆ งอกงามหยั่งรากอย่างเป็นธรรมชาติจากการเรียนศิลปะที่รุ่งอรุณ คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างเป็นปกติ

เรียนจากความธรรมดาของความจริง
“โรงเรียนไม่สอนนักเรียนว่าคุณจะต้องกินข้าวให้หมดทุกเม็ด ถ้าคุณกินข้าวหมดทุกเม็ดแล้วคุณจะเป็นคนดี หรือว่าคุณกินข้าวเหลือ คุณคือคนเลว โรงเรียนสอนด้วยการให้เราปลูกข้าว ให้รู้ว่ามันเหนื่อยนะ กินไม่หมด ก็ได้นะ แต่ว่ามันคือการทำให้ของที่เราตั้งใจทำมามันเหลือ เราเป็นคนปลูกเองเรายังรู้สึกเสียดาย ถ้าคนอื่นเป็นคนปลูก เขาจะรู้สึกเสียดายหรือเปล่า มันคือการใช้ความจริง ใช้ความธรรมดาของความจริงเป็นสื่อหลักในการสอน”

“เราเรียนเรื่องข้าวไม่ใช่เพื่อที่จะปลูกข้าวเป็น เราเรียนเพราะต้องการตระหนักถึงปัญหาอะไรบางอย่าง เราพิสูจน์ด้วยตัวเองว่าใช้สารเคมีมันง่ายกว่า แต่ว่าถ้าทำแบบอินทรีย์ล่ะ ทำแบบไม่มีสารเคมีล่ะ เราได้ผลประโยชน์ทางไหน เราได้ผลประโยชน์ด้านสุขภาพ เราได้ผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มันดีกว่า ครูไม่ได้บอกเราว่าคุณห้ามใช้สารเคมี ไม่ได้บอกว่าทุกอย่างต้องออร์แกนิก ๑๐๐% แต่มีภาพแห่งความจริงให้เราเห็น แล้วเราเป็นคนเลือกเอง แล้วสุดท้ายเราก็เลือกในทางที่มีคุณธรรม เราเลือกในทางที่จริงใจกับสังคม จริงใจกับสิ่งแวดล้อม”

ทักษะของการโตไปเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ
“จุดเด่นของชีวิตมัธยมโอสมัยรุ่งอรุณคือความไม่เพอร์เฟกต์ ความไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างเช่นในสมัย ม.๒ เป็นโปรเจกต์ที่โอชอบมาก ตอนนั้นโจทย์คือทำละครโดยไม่ใช้เงิน ทำละครโดยไม่มีไมค์ให้เราใช้ เราก็มองว่า โรงเรียนไม่พร้อมเลย ทำไมโรงเรียนไม่มีงบให้ ทำไมโรงเรียนไม่มีเวทีคอนเสิร์ตให้ ทำไมโรงเรียนไม่มีไฟสปอตไลท์ให้เรา ทำไมเราไม่มีเครื่องเสียงดีๆ ที่ทำให้โปรดักชั่นมันออกมามีคุณภาพ แต่ถ้าเรามองลึกลงไปอีก โอมองว่าทุกอย่างมันคือความไม่สมบูรณ์ ความไม่สมบูรณ์ที่มันจริงมากๆ โตขึ้นมามันก็ไม่มีอะไรพร้อมตลอดเวลา”

“ถ้าเราไม่มีไมค์ ก็พูดให้มันเสียงดังเลย แค่นั้นเอง ไม่มีไมค์ แปลว่าเสียงที่เราพูดกับคนดูจะต้องชัดมากๆ ทุกคำพูดที่เราสื่อกับคนดู ตาของเรา หรือแม้แต่ท่าทางที่เราใช้ประกอบ มันต้องถึงคนดู โอมองว่าถ้าวันนั้นเรามีไมค์ เราก็จะมองข้ามคุณภาพของการสื่อสารตรงนี้ไป”

“ความไม่สมบูรณ์มันทำให้เราทำงานอย่างจริงใจ แล้วก็ดึงเอาคุณภาพหลายอย่างมากๆ ที่เงินซื้อไม่ได้ออกมา พอเรามาทำงาน เจอโจทย์ เจอข้อจำกัดต่างๆ มันทำให้เราเป็นคนที่ซื่อสัตย์กับงาน  สมมติเรามีเงินน้อยๆ เราไปตลาด เราก็จะซื้อแต่ของที่เราจำเป็นต้องใช้ เราจะไม่แวะซื้อขนม แต่ถ้าเรามีเงินไปตลาดเกินกว่าที่ต้องใช้ ถ้าวุฒิภาวะทางความคิดเราไม่ดี เราจะแวะซื้อขนม”

“ไม่มีใครในโลกเขามาบอกว่าคุณต้องมีทักษะตรงนี้ แต่มันเป็นทักษะที่ทำให้คุณโตไปเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ แล้วก็แสวงหาคุณภาพได้ในทุกๆ งานที่เราทำไป”

ธรรมะจากศิลปะ
“โอไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมนะ ไม่ใช่คนที่เช้าสวดมนต์ เย็นสวดมนต์ ใส่บาตรทุกเช้า โอไม่ใช่แบบนั้นเลย ครูทุกคนจะรู้กันว่า มีปฏิบัติธรรม ลีโอหนีไปอีกแล้ว หรือเวลาพระเทศน์ ลีโอจะตั้งคำถามอะไรไม่รู้อยู่ตลอด แต่หนึ่งปีที่อยู่คนเดียวในต่างประเทศ อีกหนึ่งปีที่อยู่คนเดียวแล้วทำงานไปด้วย เป็นงานที่ใช้ใจสูงมาก โอบอกเลยว่า ศิลปะที่โรงเรียนรุ่งอรุณคือสิ่งที่สอนธรรมะโอ”

“ครูศิลปะรุ่งอรุณจะฝึกใจ มีครั้งหนึ่งโอทำว่าวจุฬากับครูบัวลอย ในการทำว่าวจุฬา ๑ ตัว คือการเอาไม้ไผ่ ๑ ลำใหญ่ๆ แล้วก็ใช้ตะไบที่เอาไว้เหลาไม้ถูไปเรื่อยๆ ถูจนมันได้ขนาดความกลม ขนาดความลู่ของไม้ที่มันพอดี ทำอยู่ประมาณ ๓ เดือน แล้วมันก็ออกมาสวยเลยนะ ใส่รถไว้วันหนึ่งหัก ร้องไห้ ไม่รู้จะทำยังไง อุตส่าห์ทำตั้งนาน แม่ก็ตกใจ รีบขับรถมาโรงเรียนตั้งแต่เช้า เดี๋ยวไปหาครูบัวลอยลูก ครูบัวลอยก็บอกว่า หักก็ทำใหม่ ก็มันหักไปแล้ว ให้ทำไง หักก็ทำใหม่ ถามว่าทำใหม่ได้หรือเปล่า ทำไมจะทำไม่ได้ ก็ทำมาแล้วครั้งหนึ่ง”

“มันเป็นวิธีการดีลกับคนที่ใจเย็นมาก ไม่สปอยล์ แต่สอนให้เราเข้าใจตัวเอง ตอนนั้นเราใจร้อน เราอยากให้มันกลับมาเหมือนเดิม มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องอยู่กับความเป็นจริง รับกับความเป็นจริงให้ได้ สุดท้ายโอก็ทำใหม่ แล้วก็ทำตัวใหญ่ขึ้น โอว่ามันนิดเดียวนะ สำหรับเด็ก ป.๑ เป็นการก้าวข้ามที่ยิ่งใหญ่ แม่ด้วย ตอนนั้นแม่ไม่รู้หรอกว่าหักต้องทำใหม่ นึกว่าครูซ่อมให้หน่อย ซ่อมไม่ได้ หักก็ต้องทำใหม่”

ศิลปะสอนให้เราอยู่กับความเป็นเรา
“โอมองว่าศิลปะมันคือสิ่งที่ซื่อตรงกับจิตใจ แล้วแสดงความเป็นตัวตนออกมาได้ชัดเจนมากๆ อย่างเวลาครูเชาจะคัดเด็กเข้าสำนัก (Drawing) ครูเอากระดาษ A1 มา แล้วบอกให้ลากเส้นไป ลากเส้นตรง ลากเส้นอีกฝั่งหนึ่ง ลากเส้นทแยง ลากเป็น ๒ ชั่วโมง ถามว่ามันแสดงอะไรออกมา โอรู้สึกมันแสดงได้หลายอย่างเลยจากประสบการณ์ตัวเอง โอรู้จักตัวเองมากขึ้นจากการเรียนศิลปะ”

“ศิลปะมันก็เลยทำให้เราเห็นว่า ลีโอในฐานะมนุษย์หนึ่งคนเป็นคนที่ใจร้อน ลีโอในฐานะมนุษย์หนึ่งคนเป็นคนที่จะจดจ่อกับงานได้ ต่อเมื่อเป็นงานที่มีเป้าหมาย จะมาบอกโอว่าปั้นแก้วพันใบ ทำก็ได้ ก็จะไม่ทำ ต้องบอกว่าปั้นแก้วพันใบเพราะอะไร ถามว่าทุกอย่างพอเรารู้แล้ว เรารู้ไปทำไม ศิลปะไม่ใช่อะไรที่มาบำบัดเด็กดื้อให้เป็นเด็กดี แต่ศิลปะสอนให้เราอยู่กับความเป็นเราอย่างนั้น จะอยู่กับมันยังไง เราทำงานศิลปะ เรารู้ว่าความอดทนเราไม่พอ มันไม่พอที่จะทำให้งานออกมาเป็นงานได้ ก็แปลว่ามันไม่พอที่จะใช้งานในชีวิตจริงของเราหนึ่งคนได้”

“โอรู้สึกว่าการอยู่กับตัวเองสำคัญมาก คือมันไม่ได้อยู่กับงาน ณ ขณะนั้นให้ได้นะ มันคือการอยู่กับตัวเองที่เป็นคนแบบนั้น อะไรที่มันเป็นพิษจริงๆ ในตัวเรา เราต้องขับพิษออกไป โอไม่อดทน โอไม่เก็บของ โอต้องเก็บ มันเป็นพิษต่อคนรอบข้าง มันเป็นโทษต่อสังคม ไม่ได้ ต้องเก็บของ”

“เรื่องไม่เก็บของ ถ้าถามครูโต้ (ครูงานปั้น) สมัยเด็กๆ โอจะไม่ค่อยเก็บของ สร้างความรำคาญนะ แต่ครูโต้รู้ว่าเราเป็นคนแบบนี้ แล้วก็เลี้ยงมาแบบนี้ ให้เราค่อยๆ ปรับ บอกดีๆ ไม่บังคับกัน เด็กบางคนต้องบอกดีๆ เด็กบางคนต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไมคุณจะต้องเก็บของ เพราะของของคุณ เพราะดินมันจะแห้ง บางคนสั่งก็ทำแล้ว มันไม่เหมือนกัน”

“ศิลปะมันบาลานซ์ให้เราเป็นตัวเอง แต่เป็นตัวเองที่ไม่เป็นพิษ ถ้าเป็นตัวเองแล้วมันเป็น Toxic มันเป็นความเป็นตัวเองที่มันไม่สมบูรณ์ เพราะมันมองไม่เห็นด้านแย่ของตัวเอง มันแค่รู้ว่าเราชอบทำอะไร เรามีความพึงพอใจในการทำอะไร โอรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วความสำเร็จมันคือการที่เราสามารถฝืนจุดที่ไม่ดีของตัวเองได้ อันนี้คือหัวใจ