พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
การศึกษาแนวพุทธ
ข้อคิดความเห็นของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ในโอกาสที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สิริกร มณีรินทร์ นำคณะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ไปนมัสการปรึกษา ที่วัดญาณเวศกวัน เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2546
เรื่องโรงเรียนแนวพุทธ ที่คิดจัดคิดทำกันนี้ เท่าที่ได้รับฟังอาตมามองเป็น 2 แง่
1. ข้อปรารถที่เด่น คือการที่มองเห็นว่าคนไทยที่เป็นชาวพุทธ เช่น เด็กนักเรียนที่ชื่อว่าชาวพุทธ เป็นชาวพุทธมีชื่ออย่างนั้น แต่ไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนาและประพฤติปฏิบัติตนไม่สมกับความเป็นชาวพุทธ ทำอย่างไรจะให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ได้เรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนา และประพฤติตนเป็นชาวพุทธที่ดีหรือสมกับความเป็นชาวพุทธได้ อันนี้เป็นแง่หนึ่ง
2. มองกว้างออกไป โรงเรียนแนวพุทธ เป็นเรื่องของการจัดการศึกษาแนวพุทธ ซึ่งหมายถึงตัวแนวคิดหรือหลักการในการจัดการศึกษาที่สัมพันธ์กับการมองชีวิตมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด เป็นการพูดถึงตัวหลักการ เหมือนกับเราพูดถึงการจัดการศึกษาตามแนวคิดของจอห์น ดิวอี้(John Dewey)หรือเปสตา ลอซซี (Pestalozzi) หรือรุสโซ (Rousseau) หรืออะไรก็ว่าไป
คือรู้ความจริงของธรรมดา แล้วพัฒนาคนบนฐานของธรรมชาติ
ในแง่ที่ 2 นี้ เราดูว่า การจัดการศึกษาแนวไหนจึงจะถูกต้องตามความเป็นจริง คือ เอาความจริงเป็นที่ตั้ง การที่อาตมาเขียนอะไรต่ออะไร นี่หมายถึงตัวเอง อาตมาก็มองว่าแนวคิดของพุทธศาสนานี่มองตรงตามความเป็นจริงที่สุด คือเริ่มจากมองเห็นชีวิตของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร แล้วจากการรู้เข้าใจความเป็นจริงก็มาจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความจริงนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของบัญญัติหรือคำสั่งเรื่องนี้ๆ ที่ว่าเป็นการจัดการศึกษาตามหลักของพระพุทธศาสนาที่เราเรียกว่าแนวพุทธ ก็คือแนวของคนที่มีปัญญารู้ความจริงเท่านั้นเอง
พระพุทธเจ้าก็ตรัสแล้วว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ ความจริงก็มีอยู่ตามธรรมดาของมันพระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงนั้นแล้วนำมาเปิดเผยแสดง การจัดการศึกษาที่เรียกว่าแนวพุทธ ก็คือการจัดตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติเท่านั้นเอง คือทางพระพุทธศาสนาเราถือว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติอะไรขึ้นเอง ไม่ได้สั่งการอะไร แต่พระองค์ทรงค้นพบความจริงของธรรมชาติแล้วก็มาสอนตามนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ
ถึงตอนนี้ เรื่องจึงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาไหนๆ เวลานี้คนมีปัญหามาก มนุษย์นี้ยังข้ามไม่พ้นความคับแคบ ทั้งที่เรียกตัวเองว่าเจริญมากี่พันปีแล้ว ก็ยังมาติดอยู่กับการแบ่งแยกว่าศาสนานั้นศาสนานี้ อย่างเช่นบอกว่า การศึกษานี้ใช้หลักพุทธ บางคนก็สะดุดว่า อ้าว!ทำไมเป็นชื่อศาสนานั้นศาสนานี้ เริ่มกลัวเสียแล้ว แล้วเราไม่เคารพหรือว่าเรื่องนั้นๆ หลักการนั้นๆ เป็นความคิดของใคร ใครเป็นผู้แสดงหลักการนั้น ก็พูดไปตามตรงทำไมเราพูดได้ว่า จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) เปสตาลอซซี (Pestalozzi) รุสโซ (Rousseau)ทำไมพูดได้ แล้วทำไมเวลาจะพูดถึงหลักการของพระพุทธเจ้า คนไทยพูดไม่ได้ ต้องรอให้ฝรั่งยกขึ้นมาพูด ทำไมไม่ยอมรับความเป็นจริงอันนี้ ใครแสดงมาก็ว่าไปตามนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า หลักการนั้นตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ พูดอย่างภาษาสมัยนี้ว่าเป็นเรื่องทางวิชาการ ก็ว่าไปตามหลัก ไม่มาเกี่ยงมากลัวอย่างนั้นอย่างนี้
พระพุทธศาสนาบอกว่าสอนหรืออธิบายไปตามธรรมชาติ ถ้าใครเห็นว่าไม่เป็นจริง เราก็เถียง ท่านก็เปิดโอกาสให้เถียงอยู่แล้วไม่ได้บังคับใคร นี่เราก็ดูว่าชีวิตคนเป็นอย่างไร มันอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมอย่างไร มีความเป็นไปที่เรียกว่า ธรรมดาของมันอย่างไร และเพื่อให้ชีวิตมนุษย์พัฒนาอยู่ได้ดีในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้เขาควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร เราก็ดูไปตามความเป็นจริงนั้น ทั้งของโลกและชีวิต แล้วก็มาจัดระบบพัฒนาคนให้อยู่ได้อย่างดีท่ามกลางความเป็นจริงอย่างนั้น ก็เท่านั้นแหละ มันก็เลยเกิดเป็นการศึกษาแนวพุทธอย่างที่พูดกันเท่านั้นเอง
ทีนี้ เมื่อเป็นการศึกษาแนวพุทธอย่างนี้ มันก็จะมี 2 ระดับ
ระดับที่ 1
คือ ระดับรูปแบบ หมายความว่า เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมหรือชุมชนอันใดอันหนึ่ง ย่อมมีวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาโดยวัฒนธรรม โดยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆ ซึ่งลงตัวตามที่สังคมนั้นเขาถือว่าดี เหมือนอย่างชาวพุทธไทยเราก็พัฒนาวิถีความเป็นอยู่ที่เป็นวัฒนธรรมแบบพุทธไทยขึ้นมา ลังกาเขาก็มีพุทธแบบลังกา อะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ถือกันหรือตกลงกันว่าดีแล้วเราก็อาจจะเน้นว่า การที่จะเป็นคนไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธจะต้องให้ได้ความหมายและมีรูปแบบอย่างนี้ แล้วก็จะมีภาพหรือรูปแบบของชีวิตที่มีวัฒนธรรม เช่น การกราบการไหว้อะไรต่ออะไร อันนี้ถือว่าเป็นรูปแบบเท่านั้น แต่เรายอมรับกันแล้วว่าเป็นรูปแบบที่ดี คือเหมาะสมกับคนที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธแบบไทย
ระดับที่ 2
คือตัวแท้ตัวจริง ได้แก่ ความเป็นจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ ที่อยู่ลึกลงไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งอันนั้นเป็นของกลาง ไม่ขึ้นต่อประเทศชาติหรือวัฒนธรรมไหนทั้งสิ้น ใครจะไปปรับไปจัดระบบวัฒนธรรมอย่างไร ให้มีวิถีชีวิตอย่างเรา ก็จัดไป ฉะนั้นในแง่นี้จะไม่มีปัญหารวมความว่า จะต้องพูดกันเป็นระดับๆ ตั้งแต่ระดับกว้างที่สุด คือตัวหลักการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ ในขั้นนี้เราจะจัดการศึกษากันอย่างไร ในความหมายแง่นี้เราก็ใช้ชื่อว่า”แนวพุทธ” คือเป็นแนวพุทธในความหมายที่ว่ารู้เข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติตามธรรมดา แล้วจัดกระบวนการของการศึกษาให้ได้ผลตามธรรมดาของความจริงนั้นจากนั้น แคบเข้ามา คือในแง่ของรูปแบบ ที่ว่าเราจะจัดให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ให้คนที่มีชื่อว่าชาวพุทธเป็นอย่างนี้ๆ เราอาจจะเห็นว่ารูปแบบอย่างนั้นๆ เมื่อดีแล้ว ยอมรับแล้ว ก็มาทำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วอันไหนที่ควรจะปรับปรุงเพิ่มเติม ก็พัฒนาต่อไป เรื่องวัฒนธรรมนี้ก็ควรจะแก้ไขปรับปรุงให้มีความเจริญก้าวหน้า ไม่อย่างนั้นจะเป็นวัฒนธรรมประเภท ปกป้องตัว
วัฒนธรรมส่วนที่ตัวมีอยู่
ก็ควรจะรู้เข้าใจให้ถึงรากถึงฐาน
เคยพูดบ่อยๆ ว่า การรักษาวัฒนธรรมนั้น ต้องระวังถ้าเป็นวัฒนธรรมแบบปกป้องตัวเมื่อไรก็แสดงว่าเป็นฝ่ายตั้งรับ แล้วแย่เลย ไม่เจริญก้าวหน้า
วัฒนธรรมที่ดีงามต้องมีความเจริญก้าวหน้าพัฒนาตัวเองต่อไปและก้าว ไปในสังคมโลกได้อย่างดี สามารถเป็นผู้นำแก่ผู้อื่น ให้เขาอยากทำตาม ไม่ใช่คอยหวาดกลัวฝ่ายอื่นจะบุกเข้ามา ต้องคอยปกป้องตัวเอง ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าแย่แล้ว
ขณะนี้เรารักษาวัฒนธรรมแบบปกป้องตัวเสียมาก คล้ายๆ ว่าเราแย่แล้ว สู้เขาไม่ได้แล้ว เขาบุกเข้ามา แสดงว่าเราไม่มีความเป็นผู้นำ ถ้าเราเก่งจริง วัฒนธรรมของเราจะต้องน่าชื่นชม จนคนอื่นเขาอยากจะรับอยากจะตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเรามีอะไรบ้างที่เป็นสาระซึ่งจะทำให้เราภูมิใจ แล้วเขาอยากจะตามเรา นั่นก็คือเราต้องมีอะไรที่จะให้แก่เขา จะเป็นเรื่องภูมิธรรมหรือภูมิปัญญาก็ตามโดยเฉพาะสิ่งที่เหนือกว่าเขาทางภูมิปัญญา
ตอนนี้สังคมของเรามันหนักในแง่ที่มองไม่เห็นว่ามีดีอะไรของตัวที่ จะให้แก่คนอื่น มีแต่มองว่าคนอื่นเขามีดีอย่างนั้นๆ แล้วก็อยากจะไปรับของเขามา ก็เลยต้องด้อยอยู่เรื่อยไป
เมื่อมองในแง่การศึกษาแนวพุทธที่พูดมา ก็ถือว่าพระพุทธศาสนาสอนความจริงตามธรรมดาธรรมชาติ แล้วเราก็มาดู ว่าหลักการที่มีชื่อว่าศีล สมาธิ ปัญญา นี้ วางขึ้นตามความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ แต่พอมาอยู่ในวัฒนธรรมไทยแล้ว มันก็วิวัฒนาการเป็นรูปแบบขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมเฉพาะเทศะเมื่อเราไม่รู้ตัว ไม่รู้จักแยก เราก็ชักจะมองแคบ ความหมายของศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหลือแค่เป็นรูปแบบต่างๆ ไป
อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องแยกให้ชัดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นรูปแบบ ซึ่งอาจจะแคบลง แล้วก็รัดตัว แล้วบางทีก็เพี้ยน กับศีล สมาธิ ปัญญาที่แท้จริงสอดคล้องกับความเป็นจริงธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าสอนแท้ๆ นั้น คืออะไร ตอนนี้ต้องแยกให้ได้
อย่างเวลาพูดถึงศีล เราก็อาจจะมองไปตามความหมายของเรา เช่น ศีล 5 บางทีพูดกันไปกันว่าเป็นข้อห้าม ว่าห้าม อย่างนั้นๆ ซึ่งที่จริงถ้าว่ากันโดยเคร่งครัด พระพุทธศาสนาไม่มีศีลที่เป็นข้อห้าม จะต้องรู้กันให้ชัดว่า ถ้าพูดกันโดยเคร่งครัด ศีลอย่างศีล 5 ไม่ใช่เป็นข้อห้าม เป็นธรรมดาว่าในศาสนาอื่นทั่วๆ ไป ศีลเป็นข้อห้าม ที่จริงเขาก็ไม่ได้เรียกของเขาว่าเป็นศีล แต่ชัดเจนว่าของเขาเป็นบัญญัติหรือเป็นโองการบัญชา เป็น Commandment ตามธรรมดาของหลักการที่ว่ามีพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้สร้าง เป็นผู้บันดาล เมื่อเป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ท่านก็ต้องวางบัญญัติว่าเธอต้องทำตามนี้ เธอต้องไม่ทำอันนี้ ท่านก็ห้ามก็สั่ง แล้วเมื่อคนทำหรือไม่ทำตามนั้น ท่านก็ให้รางวัลหรือลงโทษไปตามที่บัญญัติ
ในทางตรงข้าม พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด ความจริงก็เป็นอย่างนี้แต่ พระองค์ค้นพบแล้วก็มาเปิดเผยแสดง เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ความจริงมันก็เรียกร้องเราว่า เราจะต้องดำเนินชีวิตอย่างนี้ ๆ จึงจะได้ผล เหมือนอย่างไฟ ความจริงมันร้อนถ้าคุณไม่อยากให้ตัวคุณเป็นอันตราย คุณก็อย่าเอาไฟมาเผาตัว หรือถ้าคุณต้องการให้ได้ประโยชน์จากไฟ คุณก็เรียนให้รู้ว่าจะเอาไปใช้ได้อย่างนั้นๆ ยิ่งรู้เท่าไรก็ยิ่งดี
ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนก็เป็นอย่างนี้ คือบอกความจริง แล้วก็สอนข้อเรียกร้องจากความจริงนั้นต่อเราว่า ถ้าเราต้องการดำเนินชีวิตให้ดีเราจะต้องทำอย่างไร ก็เท่านั้นเอง
เมื่อเป็นอย่างนี้ ระบบแห่งธรรมของพระพุทธศาสนา เมื่อพูดอย่างเคร่งครัดจึงไม่มีคำสั่งหรือคำห้าม แล้วก็ไม่มีการลงโทษหรือให้รางวัล แต่คนทำอะไร เขาก็ได้รับผลเองตามกฎธรรมดาของธรรมชาติ กฎแห่งกรรมอะไร ๆ ก็เป็นเรื่องของเหตุของผล หมายความว่า ทำเหตุอย่างนี้ ผลจึงเกิดขึ้นอย่างนั้น เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครมาตัดสินลงโทษ
หลักพระพุทธศาสนาที่เป็นเหตุผลอย่างนี้ คนจะต้องเรียนรู้เข้าใจจึงจะเอามาใช้หรือปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เมื่อเราพูดกันต่อๆ ตามๆ กันมา โดยไม่ได้ทบทวนศึกษา จึงเคลื่อนคลาดเลือนลางได้ง่าย ดังที่ทุกอย่างมีแง่คิดทั้งนั้น เช่น เวลาให้ศีล ในตัวศีลที่เรารับไม่มีคำว่าห้ามว่าสั่ง เราเองเป็นผู้ตัดสินการกระทำของตนว่า
ปาณาติปาตา เวรมณี-สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ = ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติข้อศึกษาในการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ศึกษากันให้ชัดว่า ศีลที่แท้คืออะไร พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า นี่ เป็นความจริงว่าสัตว์ทุกตนทั้งคนทั้งสัตว์อื่น ล้วนรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เราฉันใด เขาก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรเบียดเบียนกันจริงไหม เราก็เห็นด้วยว่า เออ จริงนี่ ก็ยอมรับ ถ้าอย่างนั้น เราไม่ควรเบียดเบียนกันใช่ไหมใช่
ถ้าอย่างนั้น ตกลงเราจะไม่ทำร้ายใคร แต่ฉันยังใจไม่เข้มแข็ง ยังมีโลภ มีโกรธมาก เพราะฉะนั้นก็เลยคล้ายๆ มาสัญญากับพระหน่อย ขอให้ข้าพเจ้าได้ปฏิญาณต่อท่านว่า ข้าพเจ้าขอถือข้อปฏิบัติที่จะฝึกตนให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ นี่เห็นไหม ไม่มีคำสั่งของใครทั้งนั้น แต่เราเองเป็นผู้ที่ตกลงยอมรับปฏิบัติอย่างนั้น
เมื่อเรารับแล้วปฏิบัติอย่างนั้น ผลก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และ เมื่อเราปฏิบัติไปตามนั้นก็เกิดเป็นศีล คือเป็นความประพฤติปกติของเรา อาตมาล้อพระบ่อยๆ ว่า นี่ โยมมาขอศีล พระไม่เคยให้ศีล พระจะบอกว่าศีลอาตมาให้ไม่ได้
โยมมาบอกว่า ข้าพเจ้าขอศีล 5 “มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปัญฺจ สีลานิ ยาจาม” แปลว่าข้าพเจ้าขอศีล 5 พร้อมทั้งไตรสรณะ แต่พระไม่ให้ศีล ให้ดูเถอะ พระบอกเป็นนัยว่า เออ คุณขอศีล แต่ฉันให้ไม่ได้นะ ใครปฏิบัติ คนนั้นก็มีศีลเอง คุณต้องการมีศีล คุณก็เองข้อฝึกหัดเหล่านี้ไปปฏิบัติเมื่อคุณปฏิบัติตาม คุณก็เป็นผู้มีศีล
ดังนั้น แทนที่จะให้ศีล พระก็บอกข้อปฏิบัติ เรียกว่าสิกขาบท ให้ญาติโยมเอาไปฝึกตัว พูดสั้นๆว่า ชาวบ้านขอศีล พระบอกสิกขาบท
สิกขาบท = สิกขา (ศึกษา) + บท (บท, ข้อ) แปลว่า ข้อฝึกข้อศึกษา ข้อเรียนรู้ ข้อฝึกตัวเอง หรือบทเรียน ภาษาพระชั้นหลักแท้ๆ เรียกว่าสิกขาบท 5 ไม่เรียกศีล 5 เพราะศีลเป็นคุณสมบัติที่เกิดในตัวคน เมื่อคุณปฏิบัติถูกต้องแล้วคุณมีความ ประพฤติอย่างนั้น ก็เป็นศีลของคุณ
แต่ข้อปฏิบัติอะไรที่จะทำให้คุณมีศีล พระก็บอกว่า สิกขาบทข้อฝึกนี้ ถ้า คุณปฏิบัติตามแล้วคุณก็จะมีศีล เช่น ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอถือข้อปฏิบัติในการฝึกตนที่จะงดเว้นจากการทำลายชีวิต ทุกข้อมีแต่สิกขาบทเหมือนกันหมด พระบอกสิกขาบทชาวบ้านก็รับไปปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วก็เกิดเป็นศีล พระไม่เรียกศีล 5 แต่เรียกสิกขาบท 5 คือ เป็นข้อฝึกหรือข้อศึกษาเพื่อให้มีศีล
ทุกอย่าง ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ให้ไม่ได้ทั้งนั้น แต่ทุกคนจะต้องไปพัฒนา โดยฝึกให้เกิดขึ้นในตัว ชาวบ้านขอว่า ฉันอยากมีสมาธิ พระบอกว่า ฉันเอาสมาธิให้คุณไม่ได้ คุณเอากรรมฐานไปฝึก
ขอศีล พระบอกสิกขาบทให้ไปฝึก แล้วก็มีศีลเอง
ขอสมาธิ พระให้กรรมฐานไปทำเอา แล้วเกิดสมาธิ
ขอปัญญา พระ ให้ข้อมูลความรู้ ทางพระเรียกว่าให้สุตะก็บอกสุตะให้ สุตะ คือสิ่งที่เล่าเรียนสดับฟัง พระหรือครูบาอาจารย์บอกสิ่งที่เล่าเรียนสดับฟังถ่ายทอดให้ไปคุณเอาไปคิดไป พิจารณาปัญญาก็เกิดขึ้
ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องฝึกฝนพัฒนาขึ้นในตัวเองอันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ
สามแดนของชีวิต ก็เป็นสามด้านของการศึกษา
ตามธรรมดาของธรรมชาตินั้น ชีวิตของเรามี 3 ด้าน คือ
1. เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยการรับรู้ ดู ฟัง ฯลฯ ทางอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทวาร คือประตูฝ่ายเปิดรับ 6 และโดยการแสดงออกสื่อสารสัมพันธ์ทำการต่างๆ ทางกาย วาจา ใจที่เรียกว่ากรรม เป็นทวาร คือประตูฝ่ายเปิดออก 3 หมายความว่า มีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกทางการรับรู้ และทางด้านการกระทำนี้คือแดนของศีลทั้งหมด รวมอยู่ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ถ้ามองอย่างนี้เราจะรู้เลยว่า คำว่า ศีล ไม่ใช่แค่ศีล 5 แต่หมายถึงการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางกายภายและทางสังคมด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วาจา เป็นด้านที่ติดต่อกับข้างนอก
2. ทีนี้ลึกลงไป พฤติกรรมการสัมพันธ์กับโลกภายนอกของเราจะเป็นอย่างไร ก็เกิดจากเจตจำนง มีความตั้งใจ แล้วเบื้องหลังของเจตจำนงหรือความตั้งใจนั้น ก็มีแรงจูงใจ และคุณสมบัติต่างๆในจิตใจทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย เช่น ความรัก ความโกรธ ความเชื่อ ฯลฯ เป็นตัวปรุงแต่งให้แสดงออกมาที่พฤติกรรม ตลอดจนการรับรู้ทางอินทรีย์ต่างๆ ส่วนนี้ก็เป็นแดนของจิตใจ
3. เหนือจากนั้นอีกแดนหนึ่งก็คือ มนุษย์จะสื่อสารมีพฤติกรรมสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้มากน้อย ตื้นเขิน หรือซับซ้อนเท่าไร จะมีจิตใจที่อึดอัดโล่งโปร่งแคบกว้างเพียงใด จะมีความรู้สึกได้แค่ไหน จะมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ความรู้ ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อเรา จิตใจของเราจะมีปฏิกิริยาอย่างหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้เราจะจัดการอย่างไร เราก็จะมีความรู้สึกสบายโปร่งโล่งเป็นอิสระ แต่ถ้าเราไปเจออะไรแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ปัญญาไม่มี ความรู้ไม่มี เราจะอึดอัดเป็นทุกข์ทันที ฉะนั้นความรู้จึงเป็นตัวการที่ทำให้สภาพจิตเปลี่ยนแปลงไป และเป็นตัวจำกัดและขยายขอบเขตของพฤติกรรม เราจะทำอะไรต่ออะไรได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ความรู้แห่งปัญญา เป็นแดนที่สาม
พระพุทธศาสนาบอกว่า ชีวิตคนก็มี 3 แดนนี้แหละ คือ แดน ติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก แดนของจิตใจที่ออกทาง เจตจำนง แล้วก็แดนของความรู้เข้าใจ ชีวิตทั้ง 3 แดนนี่ทำงานตลอดเวลาฉะนั้นมนุษย์จะต้องพัฒนา 3 แดนนี้ เพื่อจะดำรงและดำเนินชีวิตให้อยู่ไปได้ดี การพัฒนาแดนที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เรียกว่า ศีล เพียงแค่พัฒนาศีลชั้นต้นๆ ถ้าทำอย่างถูกต้องการศึกษาก็ชัดขึ้นมาทันที
เริ่มด้วยอินทรียสังวร การรู้จักใช้อินทรีย์ ดู ฟัง เป็นต้น ศีลแค่นี้ในเมืองไทยนี่เราก็ไม่รู้จักแล้วทั้งๆ ที่ในพระพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญมากว่า ต้องดูเป็น ฟังเป็น คุณดูอย่างมีสติไหม คุณดูได้ความรู้ไหม ถ้าดูแล้วลุ่มหลง ได้แต่ชอบใจ-ไม่ชอบใจ แสดงว่าอยู่แค่ความรู้สึกทั้งๆ ที่ตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ ของเรานี่ มันทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมกัน แต่เราไม่รู้ เราก็พูดแค่ว่ารับรู้
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี่ในเวลาเดียวกัน มันมีความรู้สึก กับ รู้ใช่ไหม ตาดู เราก็รู้สึกว่าสวยงาม สบายตาไม่สบายตา แล้วก็ชอบใจไม่ชอบใจ นี้ด้านรู้สึก ส่วนด้านรู้ก็คือรู้ว่าเขียวขาวดำแดง ยาวใหญ่ แคบกว้าง เป็นแมว เป็นหมู เป็นต้นไม้ ฯลฯ หูฟัง ด้านรู้สึกก็ว่าไม่เพราะไม่ไพเราะ สบายหูไหม แล้วก็ชอบใจไม่ชอบใจ ส่วนด้านรู้ก็ว่าเป็นเสียงอะไรๆ
สองด้านนี่ การศึกษาของเรา (ขออภัยตามแบบตะวันตก) ไม่ชัดออกมาเลย แต่ในพระพุทธศาสนา เราบอกว่าอินทรีย์ทำหน้าที่ 2 ด้าน คือ ด้านรู้ กับ ด้านรู้สึก เมื่อรู้สึกแล้วคุณไปตามชอบใจ-ไม่ชอบใจ รับรู้ด้วยยินดี-ยินร้าย ชอบ-ชัง ถ้าติดอยู่แค่นี้ ถ้าไม่ไปทางความรู้ ก็ตันเลยการศึกษาไม่มี การพัฒนาไม่มี การเรียนรู้ไม่มี การศึกษาจึงต้องไปทางอินทรีย์เพื่อรู้
พอรู้แล้ว ตั้งแต่รู้ว่าเขียว ขาว ดำ แดง แล้วทีนี้ถ้าโยนิโสมนสิการเข้ามา ก็ก้าวหน้าไปกันได้ไกล เช่น สืบสาวหาเหตุปัจจัย แยกวิเคราะห์องค์ประกอบไปได้หมด ฉะนั้นการใช้อินทรีย์จึงเป็นจุดเริ่มที่มนุษย์จะได้เรียนรู้ การศึกษาก็อยู่ที่นี่
นี่แหละจึงว่าการศึกษาอยู่ที่เรื่องธรรมดา การศึกษาไม่มีอะไรมากรวมความว่า การศึกษาต้อง
1. เป็นเรื่องของธรรมดา ตามความจริงของธรรมชาติ
2. เป็นเรื่อง่ายๆ อยู่กับชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิด
เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงต้องเริ่มที่บ้าน ในครอบครัว ตั้งแต่การกินอยู่ การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การใช้ตาดู หูฟัง ดูทีวี ดูสิ่งทั้งหลาย ใช้หูฟังอะไรต่างๆ ว่าได้ความรู้ หรือได้ความลุ่มหลง ติดอยู่แค่ความชอบไม่ชอบเท่านั้น หรือไปถึงความคิดพิจารณาด้วยเป็นต้น ก็แค่นี้แหละ
พอเริ่มการศึกษาเพียงแค่ขั้นศีล
ชีวิตและสังคมก็มีหลักประกันความมั่นคงขึ้นมาทันที
ทีนี้ การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง พระพุทธศาสนาก็แยกศีลออกเป็นหมวดๆ
1. อินทรีย์สังวร การรู้จักใช้อินทรีย์ เช่น ตาดู หูฟัง ให้ดูเป็น ฟังเป็น ดูให้ได้ความรู้ มีสติไม่ไหลไปตามความยินดียินร้าย ชอบชังเท่านั้น
2. ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่งก็คือ การเสพบริโภค ชีวิตจะเป็นอยู่ได้ด้วยอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ปัจจัยเครื่องใช้สอยต่างๆ รวมไปถึงพวกอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งหลาย ซึ่งจะมาสัมพันธ์กับปัญญาทันทีเลย
ถ้าเสพได้แค่อร่อยเป็นต้น ก็ไม่ปลอดภัย เพราะเป็นแค่รู้สึก ต้องมีปัญญารู้ด้วย พอรู้ว่า อ๋อ ที่เรากินนี่กินเพื่ออะไร ในการสัมพันธ์กับอาหารนั้น พระพุทธศาสนาสอนทันทีเลยว่า ปฏิสังขา โยนิโสปิณฑะปาตัง บอกให้พิจารณาเข้าใจแล้วว่า เรารับประทานอาหารมิใช่เพียงเพื่อแค่นี้ๆ มิใช่เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อโก้เก๋ เพื่อสนุกสนานมัวเมา แต่รับประทานเพื่อให้ชีวิตนี้เป็นอยู่เป็นไปโดยมีสุขภาพดีแข็งแรง และเอาชีวิตนี้ไปใช้ทำประโยชน์ได้ แค่นี้ก็ชื่อว่าศีลแล้ว ศีลนั้นเรียกว่า ปัจจยปฏิเสวนา หรือปัจจัยสันนิสิตศีลศีลอย่างที่ว่านี้เป็นศีลเบื้องต้นยิ่งกว่าศีล 5 อีก แต่คนไทยไม่รู้จัก ศีลหมวดใหญ่ๆสองหมวดแล้ว คือ การใช้อินทรีย์ ตา หู ลิ้น กาย สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ และการเสพบริโภคสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญารู้เข้าใจให้ได้ประโยชน์ที่แท้แก่ ชีวิต ไม่ใช่เพียงเพื่อสนุกสนานโก้เก๋เท่านั้น จะเห็นได้ง่ายว่า เพียงแค่รู้จักกินอาหารเท่านั้น นอกจากชีวิตของตัวเองจะเป็นอยู่ดี เช่นมี สุขภาพแล้วยังลดการละเมิดศีล 5 ตลอดจนอบายมุขต่างๆ ไปมากมาย
3. ศีลด้านต่อไปเป็นเรื่องของอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพ ฉะนั้นอาชีวะที่เป็นสัมมาอาชีวะ จึงเป็นศีลสำคัญในมรรคมีองค์ 8 ด้วยซึ่งเห็นกันอยู่ชัดๆ แต่คนไทยมองแค่ศีล 5 จึงไม่รู้จักศีลด้านอาชีวะ ถ้าเราเอาศีลที่เป็นองค์มรรคออกมา เราจะเห็นชัด
การเลี้ยงชีพหรือการทำมาหาเลี้ยงชีพนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมมนุษย์ อย่างที่ว่า โลกมนุษย์เป็นไปตามกรรม กรรมใหญ่ก็คือ การเลี้ยงชีพของมนุษย์อย่างที่แยกเป็นเกษตรกรรมพาณิชกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม ศิลปกรรม ฯลฯ การประกอบอาชีพต่างๆ นี่แหละทำให้โลกเป็นไปอารยธรรม จะมีความเจริญในแนวไหน ก็เป็นไปตามอาชีวะ
ถ้าเป็นเด็กๆ อาชีวะที่ถูกต้องก็หมายความว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้สมกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เรียกว่ามีสัมมาอาชีวะ หรืออย่างพระก็ต้องอยู่ในธรรมวินัย ทำหน้าที่สืบต่อพระศาสนาแล้ว ญาติโยมเขามีศรัทธา เห็นว่าธรรมจำเป็นสำหรับสังคม ก็เลยมาอุปถัมภ์บำรุงให้พระสามารถอยู่ได้เพื่อจะได้รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม อย่างนี้ก็เป็นสัมมาอาชีวะของพระ ถ้าพระไปขอชาวบ้านเมื่อไรก็มีหวังผิดทันที เป็นมิจฉาอาชีวะ เพราะเขาไม่ได้ถวายด้วยศรัทธา
เรื่องสัมมาชีพนี่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมมนุษย์ อาชีพทุกอย่างมีขึ้นเพื่อจุดหมายในการแก้ปัญหาชีวิตสังคม และเพื่อการสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำถูกต้องตามวัตถุประสงค์นั้น เช่น อาชีพแพทย์มีเพื่ออะไร เพื่อบำบัดโรค และช่วยให้คนมีสุขภาพดี ถ้าทำเพื่อการนี้ก็เป็นสัมมาอาชีวะแต่ถ้าทำเพียงเพื่อเงินก็แสดงว่าเขวแล้ว ฉะนั้นจึงต้องประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ สัมมาอาชีวะจึงเป็นศีลอีกหมวดใหญ่
4. อีกหมวดหนึ่งที่สำคัญก็คือ ศีลที่เป็นหลักกำกับชุมชนหมายความว่า ชุมชนแต่ละชุมชนตลอดจนสังคมประเทศชาติ ต้องมีระบบระเบียบในการเป็นอยู่ มีหลักการ มีกฎ มีกติกา หลักการ กฎ กติกาที่คุมให้ชุมชนอยู่กันดี เป็นศีลประเภทที่เรียกว่า ปาฏิโมกข์ ชาวบ้านมีศีล 5 พระมีศีล 227 ก็คือศีลประเภทนี้
หมายความว่า อย่างน้อยสำหรับชาวบ้านนี่ สังคมจะอยู่ได้ไม่ลุกเป็นไฟก็ต่อเมื่อคนยังพอรักษาศีล 5 กันได้โดยเฉลี่ย คือ ไม่ทำร้ายร่างกายไม่ทำลาย ชีวิตกัน ไม่ลักขโมยละเมิดกรรมสิทธ์กัน ไม่ล่วงละเมิดทางเพศกัน ไม่ทำลายผลประโยชน์กันด้วยการกล่าวเท็จหลอกลวงแล้วก็ไม่คุกคามสร้างความ รู้สึกพรั่นพรึงให้ประชาชนสูญเสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยด้วยการเสพยาเสพ ติด จะเห็นว่าพอมีใครเสพยาเสพติด คนอื่นก็จะสูญเสียความมั่นคงปลอดภัยทันที
หลักศีล 5 จึงเป็นการช่วยให้สังคมนี้ปลอดภัย พออยู่กันได้ เพราะฉะนั้นศีล 5 จึงเป็นฐานของระเบียบสังคม ดังที่ปรากฏว่าจากศีล 5 นี่ก็พัฒนาเป็นกฎหมาย เป็นระเบียบกฎเกณฑ์อะไรต่ออะไรขึ้นไปอีกทีหนึ่ง
โดยมากกฎหมายของเราก็อาศัยศีล 5 นี่แหละเป็นฐานขยายออกไปจากเรื่องศีลนี้แหละเป็นเรื่องชีวิตร่างกาย เรื่องทรัพย์สิน เรื่องครอบครัว เรื่องทางเพศ เรื่องของการใช้วาจา และเรื่องสิ่งเสพติดมัวเมา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ในการสร้างกฎหมาย
ตกลงว่าศีลก็แค่นี้แหละ 4 หมวดนี่ เป็นการศึกษาที่เริ่มตั้งแต่ในบ้าน พอเด็กเกิดมา ก็ต้องรู้จักเป็นอยู่ ตั้งแต่รู้จักอยู่ร่วมกับพ่อแม่ พี่น้อง ต้องรู้ว่ากินอาหารเพื่ออะไร นุ่งห่มเสื้อผ้า เพื่ออะไร ความหมายและคุณค่าที่แท้ของมันอยู่ที่ไหน ตลอดจนดูโทรทัศน์เป็น ฟังวิทยุเป็น แค่นี้ก็มีศีล ศีลประเภทนี้เราไม่ค่อยเอาใจใส่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติตามธรรมดา
ศึกษาไปพร้อมด้วยกันทั้ง 3 ด้าน
แล้ววัดผลโดยดูพัฒนาการที่แยกเป็น 4
ที่ว่าแนวพุทธก็นี่แหละ คือพัฒนาคนให้รู้จักเป็นอยู่ได้อย่างดี โดยสอดคล้องกับความจริงของชีวิตที่ เป็นไปตามธรรมดา นี่เอง เราเอาความจริงของธรรมดานี่แหละมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนามนุษย์ ก็เรียกว่าการศึกษา การศึกษานั้นเป็นระบบการพัฒนาด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แล้วก็ด้านจิตใจเจตจำนง และด้านปัญญาความรู้เข้าใจดำเนินประสานไปด้วยกันและส่งผลต่อกัน โดยเจตจำนงของจิตใจ แสดงตัวออกมาสู่พฤติกรรมและการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
ปัญญาที่รู้เข้าใจก็มาพัฒนาพฤติกรรมให้ทำได้ผลดียิ่งขึ้น และทำให้จิตใจมีขอบเขตขยายออกไปแล้วมีสภาพที่ดีขึ้น เช่น เมื่อรู้เข้าใจเหตุผล รู้ว่าคนอื่นเขาก็รักชีวิตของเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรไปทำร้ายเขา แต่ควรจะมีเมตตากรุณา การพัฒนาเมตตากรุณา จึงต้องอาศัยปัญญาความรู้เข้าใจ ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ได้แค่ความเคยชิน เป็นการพัฒนาแค่ระดับศีล
เมื่อทั้งสามส่วนนี้ประสานกันไป ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นด้านที่สนองและป้อนเลี้ยงด้านจิตและ ด้านปัญญา ส่งผลหนุนกันไป
1. การพัฒนาในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เรียกว่า ศีล
2.การพัฒนาด้านเจตจำนง ลงไปถึงคุณสมบัติในจิตใจ ก็เป็นสมาธิ ซึ่งรวมถึงเรื่องของคุณธรรมความดี เรื่องของสมรรถภาพและประสิทธิภาพของจิตใจ เช่น ความเข้มแข็ง หนักแน่น เพียรพยายามสติ สมาธิ แล้วก็เรื่องความสุข ความร่าเริงเบิกบานผ่องใส ฯลฯ ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของจิตใจ
3.การพัฒนาด้านปัญญา ความรู้ความเข้าใจ การรู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และความสามารถแยกแยะวิเคราะห์สืบสาวหาเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ สามแดนนี้จะต้องพัฒนาไปด้วยกัน เป็นระบบ ที่เราเรียกว่าบูรณาการก็มาในระบบที่เรียกว่า ไตรสิกขานี้แหละ และเมื่อไตรสิกขาพัฒนาคนไปอย่างนี้แล้ว ก็วัดผลด้วยภาวนา 4 ดังที่โรงเรียนทอสีกับโรงเรียนอนุบาลหนูน้อย ทดลองค้นหากันไป และมาก็บอกว่าตกลงใช้หลักนี้แหละในตอนที่พัฒนาคน เพราะว่ามันเป็นองค์รวม ทั้งสามอย่างนี้ต้องไปด้วยกันในแต่ละเรื่อง
คือต้องใช้ทั้ง 3 เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือหลัก 3 ไม่ว่าในเรื่องใด ทุกเรื่องเรามีทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญาต้องสืบเนื่องกันมา คือในขณะที่เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราก็มีเจตจำนงต่อสิ่งนั้น มีท่าทีความตั้งใจต่อมันอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมกันนั้นเราก็ทำได้ในขอบเขตของความรู้ และเราต้องเรียนรู้มันไปตลอดเวลา
แล้วในการที่เราเรียนรู้เพิ่มขึ้น เราก็จะพัฒนาได้ สภาพจิตของเราก็เปลี่ยนไป การมีพฤติกรรมสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมก็จะเปลี่ยนจะพัฒนาไปด้วย ก็ไปด้วยกันทั้งหมด ฉะนั้นจึงมี 3 อย่าง แต่พอวัดผล ท่านแยกเป็น 4 คือ แยกเป็น ภาวนา 4 เพราะตอนแยกนี่ ไม่ใช่ตอนทำงานแล้ว
แต่ต้องการความชัดเจน ว่าด้านไหนไปได้แค่ไหน จึงแยกเป็น
1. กายภาวนา การพัฒนาด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นกายภาพ หรือทางวัตถุ
2. ศีลภาวนาการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้านเพื่อนมนุษย์รวมทั้งสัตว์ทั้งหลายอื่นด้วย อันนี้แยกได้ชัด กายภาวนาสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น พวกธรรมชาติ พวกวัตถุ พวกสิ่งเสพ บริโภค สิ่งที่ตาดู หูฟัง อะไรต่างๆ ส่วนศีลภาวนา เป็นการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์คือทางสังคม
3. จิตตภาวนา การพัฒนาด้านจิตใจ ที่อาศัยสมาธิเป็นตัวแกนในการฝึกและมีบทบาทออกมาทางเจตจำนง
4. ปัญญาภาวนา การพัฒนาด้านปัญญา ความรู้ความเข้าใจคิดได้ หยั่งเห็นเรื่องนี้แปลกมากที่เรามาเจอภายหลังว่าของฝรั่งมี physical development, mental development, emotional develop- ment, social development อ้าว ของพระพุทธศาสนาก็มี 4 และว่ามาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว พอมาเจอก็ตรงกันเลยแต่ขอบเขตไม่เท่ากัน
ของฝรั่ง Physical development เน้นเรื่องการให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วน ของพระพุทธศาสนา กายภาวนา หมายถึง การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพทั้งหมดว่าสัมพันธ์เป็นไหม ได้ผลดีไหม เสพบริโภคเป็นไหม กินอาหารเป็นไหม เป็นต้น เช่น เมื่อกินเป็น สุขภาพดีก็มาด้วย
ศีลภาวนา ก็คือด้าน social development แล้วจิตตภาวนาก็ emotional devlopment แต่เราไปแปล mental development เป็นพัฒนาจิตใจ ขออภัย พลาดมาก
Mental development นี่ของฝรั่งเขาใช้เป็น alternative term กับ intellectual development ลองไปดูเถอะ ฝรั่งจะใช้ mental development บ้าง intellectual development บ้าง สองตัวนี้ใช้แทนกันหมายถึงด้านปัญญา ส่วน emotional development คือด้านจิตใจ
รวมแล้วก็มีพัฒนาด้านกาย พัฒนาด้านสังคม ซึ่งของเราเรียงไม่ตรงกับฝรั่ง คือของเราเรียง social development ก่อน ถือว่ามองจากข้างนอกเข้ามา แล้วก็พัฒนาด้านemotional development คือด้านจิตใจ แล้วจบด้วย intellectual development หรือ mental development แต่อันนี้เราไม่นิยมใช้ เราจะใช้ว่า wisdom development การพัฒนาปัญญาตอนนี้ใช้ในการวัดผล จึงเป็นภาวนา 4 แต่ในเวลาศึกษา คือ ขณะปฏิบัติในชีวิตจริงเป็นไตรสิกขา การที่มาแยกเป็นภาวนา 4 ก็เพื่อใช้ในการที่จะดูให้ชัด แยกดูได้ 4 ด้าน แต่ในเวลาปฏิบัติจริงกายภาวนาและศีลภาวนา เป็นข้อเดียวกัน คือในเรื่องหนึ่งหรือในขณะหนึ่งนี่เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง คือทางกายภาพหรือทางสังคม ต้องเอาอย่างเดียว
ฉะนั้น 2 ข้อแรกในภาวนา 4 นี้ เวลาเป็นไตรสิกขา จึงรวมกันเป็นข้อเดียว เพราะเอาตามที่เป็นจริงในชีวิต ซึ่งเป็นองค์รวม อันนี้คือเรื่องของระบบง่ายๆ ที่ว่ามานี้เป็นการพูดในแง่ให้เห็นว่า อันนี้คือความเป็นจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ การศึกษาก็มาจากธรรมดานี่แหละ เพราะมนุษย์มีชีวิตที่แบ่งได้เป็นสามแดน ที่ไปด้วยกันอย่างนี้ ฉะนั้นการจัดการศึกษาจึงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมาตามธรรมดา ก็เท่านั้นเอง
ถ้าไม่ระวังไว้ ศีลก็จะไม่ครบ สมาธิก็จะได้แค่รูปแบบ ทีนี้ ขอพูดต่อไป อย่างที่มีคำถามว่า การสอนและจัดกิจกรรมในเรื่องศีล ก็พอจะเห็น แต่ในขั้นสมาธิ ยังไม่ค่อยเห็น ว่าจะจัดอย่างไรดี
ขอย้อนหน่อยว่า ที่ว่าศีลก็พอจะเห็นนั้น ถ้าดูกันจริงๆ ก็ยังไม่ค่อยครบนะ อย่างเรื่องการรับประทานอาหารด้วยความรู้ เข้าใจว่า เรารับประทานเพื่ออะไร ก็ไม่เคย ถามกันเลย
จึงอยากเสนอว่า บางแห่งให้เอาอย่างพระไปใช้เลย เวลาพระฉันบาง วัดก็ว่าในใจ จนกระทั่งไม่รู้ไม่เข้าใจ นึกว่าเสกข้าว คือท่านให้พิจารณาตามบทปฏิสังขา-โย ว่าข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคายจึงรับประทานอาหารนี้ว่า มิใช่เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย สนุกสนาน โก้เก๋ มัวเมา แต่เพื่อให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่ได้
เพื่อให้อาหารนี้เป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุนแก่การดำเนินชีวิตที่ดีงาม เพื่อการดำรงอยู่โดยไม่มีความหิว ความเดือดร้อนทางกายของตน และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายเบียดเบียนใครอื่น
หมายความว่า การรับประทานของเรา จะไม่ให้เกิดผลเสียต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น แล้วก็ให้การรับประทานของเรานี้ เป็นไปเพื่อชีวิตที่เป็นอยู่ผาสุก
คำพิจารณาอาหารข้างต้นนั้น อย่างที่วัดนี่เดี๋ยวนี้เวลาจะฉันก็สวดออกมาดังๆ เลย แต่ว่าเป็นภาษาบาลี ทำให้นึกถึงว่าฝรั่งก็มีการสวดก่อนรับประทานอาหาร แต่เขาสวดอ้อนวอนพระเจ้า เขาขอบคุณพระเจ้า แล้วก็รับประทานอาหาร แต่ของชาวพุทธเรามีมานานแล้ว คือให้พิจารณาก่อนว่าเรารับประทานเพื่ออะไร ให้เป็นการรับประทานด้วยปัญญา
ตอนนี้ก็เลยเสนอบางแห่งที่จัดกิจกรรมอบรมเด็ก บอกว่าเราไม่ลอง ส่วนแบบพระหรืออาจจะแปลเป็นภาษาไทยก็ได้ พอเด็กจะรับประทานก็บอกว่า อ้าว พร้อมกันนะ กล่าวคำพิจารณานี้เลยว่าเรารับประทานอาหาร เพื่ออย่างนี้ๆ
ของพระนั้นท่านให้ว่าหมด เป็นประเพณีมาแต่โบราณ คนที่จะบวชต้องท่องบทปฏิสังขา-โย เวลาจะฉัน พระจะตักข้าวเปล่าขึ้นมาช้อนหนึ่งแล้วก็ว่าในใจ เวลาเย็นค่ำก็จะสวดบทนี้ เป็นการย้อนอดีตอีกทีหนึ่ง
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า ศีลจะมาช่วยโยงกับสมาธิ โดยมีปัญญามานำมาหนุนด้วย แต่ตอนนี้จะต้องมองศีลให้กว้างขึ้น คือหมายถึงกิจกรรมในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ทั้งกายภาพวัตถุธรรมชาติ และก็ทั้งเพื่อนมนุษย์
ทีนี้ก็มาถึงสมาธิ คือด้านจิตใจ ในที่นี้สมาธิเป็นตัวแทนของคุณสมบัติทางจิตใจทั้งหมด ไม่ใช่หมายถึงสมาธิอย่างเดียว เรื่องสมาธินี่สำหรับเด็กๆ ควรจะเน้นกิจกรรม เพราะเด็กต้องการเคลื่อนไหวไม่อยากให้เน้นมากในแง่ไปให้เด็กนั่งเฉยๆ การนั่งนิ่งก็เอาบ้าง แต่ให้น้อยๆ หน่อยอย่าไปเน้น แต่ให้มุ่งไปทางกิจกรรม
เรื่องนี้โบราณทำมาดีแล้ว โบราณเน้นสวดมนต์ เพราะอะไร เพราะสวดมนต์เป็นการโยงไปถึงพฤติกรรมช่วยให้เรียบร้อยด้วย แต่ในเวลาเดียวกันการสวดมนต์ก็ช่วยทำให้จิตสงบอย่างผู้เข้ากรรมฐาน เขาให้มีการสวดมนต์เพื่อเตรียมจิต เพราะจิตใจของคนทั่วไปมันวุ่นวาย เนื่องจากพบอารมณ์ข้างนอกมาเยอะแยะก็เลยให้มานั่งสวดมนต์กันก่อน จิตก็จะสำรวมอยู่ คำสวดนั้นก็เป็นถ้อยคำดีงาม และโน้มจิตใจให้ไปอยู่กับสิ่งที่ดีงามก็สงบมั่นคงขึ้นจิตก็เริ่มเข้าสู่แนว ของสมาธิเพราะฉะนั้นสำหรับเด็กการสวดมนต์นี่จะเหมาะกว่า เราก็เลือกเอาบทสวดมนต์ที่มีความหมายให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของโลก ปัจจุบันในการดำเนินชีวิตของเขา เอาพุทธภาษิตที่ดีๆ แล้วมาเลือกกัน
เคยให้ตัวอย่างแก่บางท่าน แต่ทำเป็นบทสวดมนต์ง่ายๆ เป็นพุทธภาษิตที่แปลให้ด้วย เด็กจะสวดด้วยกันกับคุณครู หรือกับคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ พอสวดจบ จิตใจสงบสบายดี คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูก็อธิบายบอกว่า เรามาคุยกันเรื่องบทสวดมนต์วันนี้นะ
ในคำสวดนั้นมีสาระทั้งนั้นว่าเราจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร เช่น บทสวดที่เรียกว่า วัฒนมุข ซึ่งตรงข้ามกับอบายมุขที่เป็นฝ่ายไม่ดี วัฒนมุข คือ ปากทางแห่งความเจริญมี 6 อย่าง คือ
1. รักษาสุขภาพดี
2. มีระเบียบวินัย
3. ได้คนดีเป็นแบบอย่าง
4. ตั้งใจเรียนให้รู้จริง
5. ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม
6. มีความขยันหมั่นเพียร
เราเอามาเป็นบทสวด เสร็จแล้วคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูก็อาศัยบทสวดนี้เป็นข้อปรารภในการคุยกับเด็ก แล้วก็อธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างหรือเล่านิทานให้ฟัง เด็กก็ได้มีส่วนร่วม เป็นกิจกรรมที่เป็นเรื่องสมาธิด้วย และเป็นเรื่องศีลด้วย แล้วยังได้ความรู้ เป็นเรื่องปัญญาไปด้วยกันหมดเลย
สมาธิแบบนี้แหละน่าจะเน้นกัน แล้วก็อาจจะนั่งสงบสักตอนหนึ่งด้วย สมาธิรูปแบบนั้นสักกี่นาทีก็ได้ แล้วแต่ตกลง ก็ได้ด้วยเป็นส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมในส่วนที่จะได้แท้นั้น โบราณเน้น ที่นี่อาตมายังจำได้ ตัวเองเมื่อยังเด็กๆ พอรับประทานอาหารเย็นเสร็จเรียบร้อย ล้างถ้วยล้างชามแล้ว โยมก็ชวนมาตั้งวงคุยกัน
ในการคุยกันนั้น โยมก็จะเล่านิทาน เช่นชาดกให้ฟัง พวกเราเด็กๆ ก็สนุกสนาน เป็นเรื่องตลกก็มี บางทีลุกขึ้นเต้นเลย อย่างนี้แทบจะเป็นประจำวันในครอบครัว ถ้ามีอย่างนี้ก็เป็นการศึกษาด้วยและได้ความคุ้นเคยสนิทสนม ความสัมพันธ์ที่ดี ความรักความผูกพันก็เกิดขึ้น แต่เดี๋ยวนี้กิจกรรมอย่างนี้เลือนลางหายไป เด็กไปอยู่กับทีวีไปอยู่กับอะไรอย่างอื่นหมดเลย ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่มี จะต้องฟื้นขึ้นมาให้ได้ นี่คือการศึกษาที่เป็นชีวิตจริง เพราะฉะนั้น สวดมนต์นี่จะต้องเน้นในแง่กิจกรรม แล้วให้ไปเชื่อมกับสมาธิ คือเรื่องจิตใจแล้วโยงไปให้ถึงปัญญา
ศีลก็เน้นในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมซึ่ง เป็นศีลนั่นเองและในครอบครัวนี้เรื่องศีลก็คลุมไปถึงการมีวินัย การตั้งกติกาอะไรต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นเรื่องของศีลในหมวดที่เรียกว่า ข้อปฏิบัติหรือกฎกติกากำกับชุมชน เราก็หัดกันตั้งแต่วินัยในบ้าน ในครอบครัว วินัยในโรงเรียนอะไรต่างๆ แล้วก็ให้ไปโยงไปอิงกับเรื่องสมาธิที่อยากจะให้เน้นในแง่เคลื่อนไหว เป็นกิจกรรม
ใจที่สงบมั่นมุ่งแน่วแน่ ไปในการสร้างสรรค์ทำความดีนี้คือสมาธิที่ชีวิตและสังคมกำลังต้องการสาระของสมาธิอีกอย่างหนึ่งหมายถึงการไม่ติดในรูปแบบ ด้วยบางคนก็ไปติดในรูปแบบนั่ง ความจริงการนั่งเป็นรูปแบบ เป็นเพียงวิธีที่ช่วยในการฝึกจิต จุดมุ่งหมายอยู่ที่การพัฒนาในจิตใจ
ทีนี้รูปแบบก็มีเยอะ แต่อย่าลืมว่าสมาธิในพระพุทธศาสนา เป็นสมาธิในไตรสิกขาและในมรรคซึ่งเป็น dynamic เป็นการคืบเคลื่อนเดินหน้า และเป็นการประสานกับองค์ประกอบอื่น สมาธิจะเกิดผลจริงก็ต่อเมื่อไปเชื่อมประสานกับปัญญา แล้วได้ศีลมาเป็นตัวคอยค้ำจุน ไม่ใช่อยู่โดดเดี่ยวลำพัง สมาธิเป็นเรื่องของการพัฒนาชีวิตในก้าวไปในมรรค ซึ่งประสานกับองค์ประกอบทุกด้านในมรรคนั้น
เราต้องการให้เด็กทำความดี การก้าวหน้าในความดีและในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี แน่นอน ย่อมเป็นสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการให้เด็กมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ และมีจิตใจที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่พลุ่งพล่าน ไม่กระวนกระวาย ในการที่จะเดินหน้าไปในทางแห่งความดีงาม ถ้าเขามีความมั่นใจ มีความสงบมั่นคงในการทำความดีแล้ว เขาจะไปได้ดี สภาพจิตนี้เราต้องการ ทำอย่างไรจะได้ผลนี้
ครูอาจช่วยให้เด็กรู้เข้าใจโดยแนะนำชี้แจงแก่เขาว่า อ๋อ สิ่งที่เราจะสร้างสรรค์นี้ มันดี มันมีคุณค่ามีประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคมอย่างนั้นมีเหตุผลอย่างนั้น ควรทำ เมื่อเด็กทำความรู้ความเข้าใจ มีศรัทธาเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำ มีความเพียรพยายามที่จะทำ แล้วจิตก็สงบมุ่งมั่น แน่วไปนี่คือสมาธิซึ่งมีวิริยะและสติประกอบอยู่ด้วย ตามหลักของสมาธิในมรรค
สมาธิในการทำความดี ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมานั่ง แล้วใจแน่วนิ่งอยู่เฉยๆ อย่างนั้นเป็นการฝึกสมถะเอาแค่ให้จิตอยู่กับอารมณ์หนึ่งเดียว แต่ในกรณีนี้เป็นสมาธิที่จิตมุ่งแน่วสงบไปในสิ่งที่ทำ สมาธินี้เป็นสมาธิที่ dynamic ซึ่งจะพัฒนาไปเรื่อย และประสานกับองค์ประกอบอื่นสมาธิแบบนี้เราก็ต้องการมาก
เราต้องการให้เด็กของเรามีความแน่วแน่มั่นใจในการทำความดีและในการสร้างสรรค์ถ้าเขาเกิดสมาธิแบบนี้ก็สบายใจได้เลย แต่ทำอย่างไรเด็กจะมีสมาธิอย่างนี้ได้ล่ะ เด็กตอนนี้พลุ่งพล่านกระวนกระวายใช่ไหม เขาฟุ้งซ่าน นึกถึงโน่นนี่ ใจไม่แน่วแน่ ไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำ เพราะปัญญาก็ไม่มีเลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำมีเหตุผลอย่างไร ดีต่อชีวิตต่อสังคมอย่างไร
ถ้าเด็กเกิดความรู้ และมีความมั่นใจทางปัญญาแล้ว จะเป็นความมั่นใจที่แท้ เพราะปัญญาเป็นตัวปรับเปลี่ยนสภาพจิต ถ้าคนเรามีความรู้อะไรชัดเจนแน่ใจแล้ว ความมั่นใจจะเกิดเต็มที่ แต่ถ้าเขาไม่รู้ชัดว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี เขาก็ต้องไหวไปตามเสียงบอกบ้าง ตามกระแสค่านิยมบ้างอะไรบ้าง เด็กไทยเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีความรู้เข้าใจอะไรชัดเจน จึงหวั่นไหวไปตามกระแสค่านิยม ใครว่าดีก็ดีตามไป ไม่มีหลักของตัว ขาดความมั่นใจที่แท้ อย่างนี้ก็หมดแล้ว สมาธิไม่มี เด็กได้แค่หวั่นไหวไป วอกแวกไปได้แต่ตาม คอยตื่นเต้น คอยดูกระแสว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พัฒนายาก
เมื่อพัฒนาเด็กยาก ก็พัฒนาสังคมได้ยาก แต่ถ้าเด็กของเรามีความรู้ความเข้าใจมั่นใจในสิ่งที่ทำมองเห็นเหตุผลชัดเจน รู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงควรทำอย่างนี้ แล้วใจก็จะสงบมั่นแน่วเป็นสมาธิซึ่งไปพร้อมกับปัญญา และพฤติกรรมก็จะดีอย่างแน่นแฟ้นด้วย ถึงขึ้นนี้ศีล สมาธิ ปัญญาก็มาด้วยกันพัฒนาได้แน่
จะเห็นได้ว่าสมาธิอย่างนี้แหละที่เราต้องการมาก ลองนึกดูที่เป็นห่วงว่าเรื่องสมาธิยังมองไม่ค่อยเห็นนั้น อย่างนี้เอาไหม สมาธิแบบนี้ ที่เชื่อมโยงชีวิตทั้งหมด คือเราจะต้องมองศีล สมาธิ ปัญญาให้เห็นในการดำเนินชีวิตแต่ละขณะนี้ไปเลย
ลองแยกดูว่า ส่วนไหนเป็นศีล ส่วนไหนเป็นสมาธิ ส่วนไหนเป็นปัญญา แล้วเราจะเห็นไตรสิกขาในทุกกิจกรรม ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เป็นอย่างนั้น คือการดำเนินชีวิตของเรานี้ มันสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม มันต้องมีเจตจำนง โดยประกอบด้วยคุณสมบัติทางจิตใจเช่นแรงจูงใจเป็นต้น แล้วก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจ รวม 3 แดนนี้สัมพันธ์ไปด้วยกัน
เพราะฉะนั้น เราจึงต้องศึกษาโดยฝึกฝนพัฒนาชีวิต 3 แดนนี้ แดนแห่งความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมก็เรียกว่า ศีล แดนที่เป็นด้านจิตใจออกมาทางเจตจำนงก็เรียกว่า สมาธิ แดนที่เป็นความรู้ความเข้าใจก็เรียกว่า ปัญญา เราก็เอา 3 แดนนี้มาประสานกันเข้าไป การพัฒนามนุษย์ก็จะเป็นไปด้วยดี
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ใช่ให้เราปฏิบัติแต่ลำพังศีลเฉยๆ ถ้าศีลเฉยๆ เดี๋ยวก็ไปเข้าระบบบังคับ แต่ศีลที่ตรัสไว้นี้ เช่นให้มีศีลในการเสพบริโภคใช้ปัจจัยสี่ จะรับประทานอาหารก็ให้พิจารณาการพิจารณาก็คือการใช้ปัญญา กลายเป็นว่าเอาปัญญามาช่วยทำให้เกิดศีล จึงเริ่มมีศีลด้วยหลักที่ว่าข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคายจึงรับประทานอาหารนี้ว่ามิใช่รับประ- ทานเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย สนุกสนาน โก้เก๋ มัวเมา แต่รับประทานเพื่อจะเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามเพื่ออย่างนั้นๆ อะไรก็ว่าไป นี่คือปัญญามา
เมื่อปัญญามาก็ทำให้เรารับประทานอาหารอย่างได้คุณค่า เมื่อมองเห็นคุณค่าแล้วเราก็รู้สึกพอใจ มีความสุขในการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แม้มันจะไม่อร่อยมากนัก ปัญญา ทำให้เราพ้นจากการครอบงำของการติดหลงในการเสพ และเกิดสภาพจิตที่มีความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความสุขซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเสพรสอร่อยอย่างเดียว แต่เกิดจากความรู้ความเข้าใจเห็นคุณค่าประโยชน์ที่แท้จริง
พอเห็นคุณค่าประโยชน์ที่แท้จริง เราอาจจะรับประทานอาหารมื้อนั้นที่แม้จะไม่อร่อยเท่าไร แต่เรารู้สึกว่าประโยชน์ต่อสุขภาพของเราเราก็มีความสุขได้ ปัญญาก็มาปรับสภาพจิต แม้แต่สร้างความสุขเปลื้องความทุกข์ แล้วเราก็จะดำเนินพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามไปได้อย่างมั่นคงและมั่นใจ อย่างนี้จึงจะเป็นบูรณาการที่แท้ คือบูรณาการของไตรสิกขาในระบบองค์รวมที่เป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ
แม้แต่คนที่เจอความทุกข์ พอมีโยนิโสมนสิการ เกิดการคิดในทางปัญญาว่า โอ้ เราเจอความทุกข์แล้ว คนที่เจอความทุกข์นี่
1. เท่ากับได้บททดสอบตัวเองว่า เราจะเข้มแข็งสามารถผ่านความทุกข์ยากไปได้ไหม
2. คนเราจะเจริญพัฒนาด้วยการเจอความยากและรู้จักทำแบบฝึกหัด คนที่เจอแต่ความสุขสะดวกสบายไม่ได้ ทำแบบฝึกหัดจะพัฒนายาก เราเจอทุกข์นี่ดีแท้ เราจะได้ฝึกตัวเองในการแก้ปัญหา เราจะเข้มแข็งด้วยปัญญา และจะพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาต่อไป ชีวิตจะดีจะพัฒนามาก พอปัญญามา ทุกข์ก็กลายเป็นสุขไป ฉะนั้นคนที่ฉลาดจึงสามารถหาสุขจากทุกข์ได้ อันนี้คือระบบแห่งการพัฒนามนุษย์ที่ไปด้วยกันพร้อมทีเดียวหมด ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา อิงอาศัยเกื้อหนุนกันไป
สมาธิแบบของพุทธศาสนา เป็นสมาธิในระบบแห่งไตรสิกขาจึงต้องให้ชัดว่าอิงอาศัยไปด้วยกันกับพฤติกรรมและปัญญา
ต้องมองว่า การศึกษาแนวพุทธในที่นี้เป็นเรื่องเนื้อหาสาระและหลักการ ไม่มีการแบ่งแยกเป็นศาสนาอะไรทั้งนั้น แต่
หนึ่ง เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมดา เมื่อได้ความรู้นี้มาเราก็มองเห็นว่า เออ มันโยงไปหาความจริง เราก็เอามาใช้จัดสภาพชีวิตให้เป็นการพัฒนามนุษย์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ
สอง เมื่อเป็นเรื่องธรรมดา มันก็เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่อยู่กับชีวิตทุกขณะ ตั้งแต่เกิดมา การศึกษาจึงต้องเริ่มที่บ้าน และดำเนินไปกับกิจกรรมของชีวิตทุกขณะ ตั้งแต่การกินอยู่ รับประทานอาหาร ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เสพบริโภคสิ่งต่างๆ
เด็กจะซื้ออะไร คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะถามสักหน่อยว่า เออที่ลูกจะซื้อนี่ ประโยชน์ของสิ่งนี้อยู่ตรงไหน มันมีประโยชน์ต่อชีวิตของเราอย่างไร ความมุ่งหมายแท้จริงในการที่จะซื้อมันมานั้นคืออะไร ทำนองนี้ ให้เขารู้จักใช้ปัญญาคิด เพื่อจะฝึกศีลซึ่งจะเป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่มีอยู่ในชีวิตตามธรรมดาตลอดเวลา
แค่นี้ก็คงมองเห็นการฝึกสมาธิให้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับกิจกรรมการเคลื่อน ไหว ซึ่งเหมาะสำหรับเด็ก แล้วก็ประสานกับองค์ประกอบอื่นในระบบของมรรคหรือไตรสิกขาให้เป็นเรื่องที่ คืบเคลื่อนหรือ dynamic ไม่ใช่เอาแต่จะมานั่งนิ่ง
ต้องระวังกันหน่อยด้วยว่า ถ้าเป็นสมาธินิ่งอยู่อย่างเดียวอาจจะกลายเป็นสมาธิแบบโยคีในอินเดีย โยคีในอินเดียนั้นเขาทำสมาธิเพื่อทำให้จิตนิ่งดื่มด่ำ แล้วจิตของเขาจะได้ไปรวมกับอะไรอย่างหนึ่งแล้วเขาก็ดูดดื่มลงไปในนั้น แล้วเขาก็ทำฌานกีฬา คือเล่นฌาน แล้วเขาก็ไม่ไปไหน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ เรียกว่าตัดขาดจากสังคมไปเลย
แต่สมาธิในพระพุทธศาสนานี่ต่างจากสมาธิของโยคีนั้น เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงได้บทเรียนจากสมาธิของโยคีว่ามันไม่ถูก จึงได้มาตรัสสอนสมาธิที่ประสานโยงในระบบไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธินั้นจะต้องเกื้อหนุนปัญญาโดยสร้างสภาพจิตที่เหมาะแก่การใช้งานพอจิตเหมาะกับการใช้งาน โดยเฉพาะงานใช้ปัญญา ก็พัฒนาปัญญาก้าวไปแล้วก็โยงกันไปทั้งระบบ ไตรสิกขาก็จึงเป็นระบบ แล้วก็เป็นองค์รวมในตัวมันก็บูรณาการกันเสร็จไปในตัวอย่างนี้แหละ
สังคมไทยมีดีคือวัฒนธรรมแห่งเมตตา
แต่ตัวต้องก้าวไปในวัฒนธรรมแสวงปัญญา
ข้อที่อยากจะย้ำอย่างหนึ่งก็คือ สังคมไทยเรานี้ สำหรับอาตมภาพมองว่า เรารับพระพุทธศาสนาเข้ามา แต่เรานั้น นี่ว่าโดยรวมนะ คือถ้าว่าโดยบุคคลอาจจะมีบางท่านที่เข้าถึงบ้างในบางช่วงบางเวลาแต่เมื่อว่าโดยสังคมส่วนรวม เราพยายามก้าวเข้าไปในพระพุทธศาสนาและเราก็ก้าวไปได้ระดับหนึ่ง
ด้านหนึ่งที่เราก้าวไปได้ดีพอสมควร ก็คือด้านจิตใจ โดยเฉพาะด้านเมตตากรุณา เราก้าวไปได้ดี จนกระทั่งเป็นสังคมที่มีน้ำใจเป็นสังคมที่เด่นในเรื่องของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขอใช้คำว่ามีวัฒนธรรมแห่งเมตตาสูง
แต่อีกด้านหนึ่งที่พระพุทธศาสนาเน้นมากและเป็นตัวจริงของพระพุทธศาสนาซึ่ง เลยขั้นจิตใจและเป็นองค์ประกอบที่จะมาทำให้จิตใจพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง ไปจนถึงอิสรภาพ ก็คือด้านปัญญา ในด้านนี้สังคมไทยยังก้าวไม่ค่อยถึง
หมายความว่า เมื่อพูดโดยรวม สังคมไทยรับพระพุทธศาสนาเข้ามา แล้วเราก็พยายามนำสังคมไปในวิถีแห่งพระพุทธศาสนา แต่เรามาได้แค่ระดับจิตใจ ได้วัฒนธรรมแห่งเมตตา ซึ่งเราก็ควรจะภูมิใจแต่ในด้านวัฒนธรรมทางปัญญา แม้แต่ความใฝ่รู้ใฝ่แสวงปัญญานั้นเราอ่อนเหลือเกินทำไมนะ ทั้งๆ ที่พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องปัญญา แต่ทำไมสังคมไทยจึงอ่อนนักในเรื่องการแสวงปัญญา ต้องถามตัวเองแล้ว
วัฒนธรรมนั้นเหมือนกับเป็นทุนเดิมที่สังคมได้สะสมมาจนอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเป็นฐานให้บุคคลทั้งหลายในสังคมอาศัยเป็นเครื่องเอื้อโอกาสให้สามารถก้าวไปสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไป และเมื่อบุคคลก้าวหน้าไป ก็เท่ากับเพิ่มทุนให้แก่สังคม พาสังคมให้เขยิบฐานสูงขึ้นไปด้วยฉะนั้น เราจะต้องเดินหน้าต่อไป ถ้าจะใช้การศึกษาแนวพุทธก็ต้องก้าวไปสู่วัฒนธรรมระดับปัญญาให้ได ้แต่ก็อย่าทิ้งวัฒนธรรมแห่งเมตตา เวลานี้เรากำลังจะสูญเสียอันเก่าที่ได้แล้ว และอันที่ยังไม่ได้ทำก็ไม่เดินหน้าด้วย
ที่ว่านี้หมายความว่า วัฒนธรรมแห่งเมตตาที่เคยทำได้ดีมาแล้วก็กำลังจะสูญเสียหมดไป คนไทยกำลังจะโหดร้าย กำลังจะไม่มีเมตตากรุณา แม้แต่ในครอบครัวก็ทิ้งกันได้ แม่ทิ้งลูก ลูกฆ่าแม่ฆ่าพ่อ ความเป็นพี่เป็นน้องก็กำลังจะหมดไป ในขณะที่วัฒนธรรมแห่งปัญญาก็ไม่พัฒนาด้วย ถ้าอย่างนี้ก็เสียสอง คือ ดีที่มีอยู่ก็รักษาไว้ไม่ได้ ดีที่ยังไม่ได้ก็ไม่พยายามทำให้มีขึ้นมา ฉะนั้นต้องก้าวไปให้ได้ทั้ง
1. รักษาวัฒนธรรมแห่งเมตตาไว้ให้ดี
2. ก้าวไปในวัฒนธรรมแห่งปัญญาที่ยังไปไม่ถึงให้ได้
ขอพูดในแง่ส่วนตัว สำหรับอาตมามั่นใจว่า ถ้าเราพัฒนาให้ดีด้านปัญญานี้เราจะไปได้ดีกว่าฝรั่ง เรื่องนี้มั่นใจมาก คือในวัฒนธรรมฝรั่งนั้นด้านวัฒนธรรมแห่งปัญญาเขาเน้นมาก แต่วัฒนธรรมแห่งเมตตานี่เขาไม่ค่อยได้ วัฒนธรรมแห่งปัญญาที่ว่านั้น คือ วัฒนธรรมแสวงปัญญาเขาไปได้เก่งแต่การแสวงปัญญาของฝรั่งมาจากเหตุบีบคั้นในภูมิหลัง เป็นเรื่องของภูมิหลังทางสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ ซึ่งบีบคั้นเขามาก ทำให้เขาต้องคิดหาทางแก้ปัญหา แล้วก็ทำให้เขาเกิดความใฝ่รู้แล้วพัฒนาระบบแห่งการแสวงปัญญาขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ฝรั่งนั้นมุ่งโด่งไปพัฒนาวัฒนธรรมแสวงปัญญาทางวัตถุ ก็เจริญทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการพัฒนาปัญญาที่ไม่เป็นองค์รวม ปัญญาของเขา เป็นปัญญาแยกเป็นเสี่ยงๆ เป็นปัญญาแยกส่วนไม่ใช่ปัญญาองค์รวม แต่ถ้าเราเข้าตามแนวไตรสิกขานี้ ก็จะเป็นปัญญาในระบบองค์รวม คนไทยจะต้องรักษาสิ่งดีที่ตัวมีไว้ให้ได้ พร้อมทั้งก้าวไปเอาสิ่งดีที่ยังไม่มีให้สำเร็จด้วย
เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ในพระพุทธศาสนานี้ ตัวตัดสินอยู่ที่ปัญญา ถ้าไม่พัฒนาปัญญาโพธิก็ไม่เกิด การตรัสรู้ก็ไม่มา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ตรัสรู้ด้วยเมตตา ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีปัญญาถึงที่สุดแล้วจะกลับมาทำให้เป็นเมตตากรุณาที่แท้ ถ้าเราไม่มีปัญญาเต็มที่ยังไม่เข้าถึงสัจธรรม เมตตากรุณาของเราก็จะเป็นเพียงการสร้างสภาพจิตด้วยความเคยชิน และเป็นความโน้มเอียงเท่านั้น แต่ยังไม่เป็นเมตตากรุณาที่แท้ ฉะนั้นจึงต้องทำจิตให้มีคุณสมบัติสมบูรณ์และเข้าถึงอิสรภาพด้วยปัญญา คนไทยจะต้องก้าวต่อไปให้ถึงขั้นนี้ให้ได้
การนำสังคม เป็นงานหลักของการศึกษา แต่มิใช่ไม่นำพางานรองที่ตามสนองสังคม คำว่า โรงเรียนแนวพุทธนี้เราจะใช้ด้วยความรู้สึกมั่นใจและสบายใจ ถ้าเข้าใจความหมายและหลักการต่างๆ อย่างชัดเจนเมื่อเราชัดเจนและมั่นใจในหลักการที่เป็นสาระของความจริงที่ยืนตัวแล้ว ก็ต้องมาปฏิบัติในระดับกาลเทศะให้เห็นผลจริงด้วย
ในระดับกาลเทศะนี้เราก็ดูสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกทั้งหมดว่า ในบริบททั้งหมดนั้นสังคมไทยเป็นอย่างไร มีความต้องการในระดับไหน ด้านไหน มากจะต้องเน้นวิชาการแง่ไหน เป็นต้น เพื่อให้เป็นการศึกษาที่ช่วยให้ชีวิตดีสังคมดีกันอย่างเห็นๆ
ในขั้นนี้ ความรู้หลักการพื้นฐาน คือการศึกษาระยะยาว เป็นหลักเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การศึกษาเพื่อกาลเทศะก็เข้ามา เพื่อสนองความต้องการของสังคม เป็นต้น ถ้าอย่างนี้ก็จะได้ทั้งสอง คือเป็นทั้งการศึกษาที่นำสังคม และการศึกษาที่ตามสนองสังคม
เวลานี้เราเน้นกันแต่ในแง่การศึกษาเพื่อสนองความต้องการของสังคมซึ่งเป็นการศึกษาแบบตามสังคม ถ้าอย่างนี้การศึกษาก็ช่วยสังคมไม่ได้มาก สังคมมีความต้องการแรงงานด้านนี้เท่านี้ ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เท่านี้ สถาบันการศึกษาก็ไปจัดการศึกษาพัฒนาคนให้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านนั้นขึ้นมา ถ้าสังคมเดินทางผิด การศึกษาก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นการศึกษาแบบตามสังคม ได้แต่สนองเขาเท่านั้น และก็อาจจะซ้ำเติมสังคมด้วย การศึกษาที่ดีจะต้องนำสังคม เป็นตัวปรับตัวแก้ ตรวจสอบและให้สติว่าสังคมอย่างนี้ใช้ไม่ได้นะ เดินทางผิดแล้ว การศึกษาต้องนำสังคม
เพราะฉะนั้น การศึกษาจะต้องทำสองอย่างนี้ไปด้วยกันควบคู่กัน การศึกษาที่นำสังคมจะต้องเป็นตัวยืน ส่วนการศึกษาที่ตามสนองความต้องการของสังคม ก็เป็นเรื่องเฉพาะกิจเฉพาะหน้าคือตอนนี้เราพูดถึงหลักการใหญ่ของการศึกษาในแง่ที่จะนำสังคม แล้วก็มาพูดถึงบทบาทเฉพาะกาลเทศะเพื่อสนองความต้องการเฉพาะหน้าว่าเวลานี้เราอยู่ท่ามกลางโลกที่เป็นอย่างนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไปอย่างนี้กระแสของโลกเป็นอย่างนี้ ประเทศของเรามีความขาดแคลนด้านนี้บกพร่องด้านนี้ จะต้องเน้นจุดหมายในช่วงเวลาเท่านั้นๆ อย่างนี้ๆ
การสนองสังคมอย่างนี้ก็ต้องเอา ทิ้งไม่ได้เหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นจุดที่เราจะต้องมาสร้างความชัดเจนเหมือนกันว่า สังคมไทยขณะนี้โดยเปรียบเทียบกับสังคมอื่น มีจุดอ่อนจุดบกพร่องอะไร เราก็ต้องสร้างความแน่นหนา และความเข้มแข็งด้านนั้นๆ ขึ้น แต่ความเข้มแข็งทางปัญญาต้องเป็นอันดับหนึ่ง
เมื่อความเข้มแข็งทางปัญญาที่แท้เกิดแล้วความเข้มแข็งทางจิตใจและความมั่นใจก็จะมาจริงๆ ถึงแม้เราจะเร่งเร้าให้คนเข้มแข็งทางจิตใจ แต่ถ้าปัญญามันง่อนแง่น ก็ไปไม่รอด และจะให้เข้มแข็งทางพฤติกรรม ก็ไปไม่ไหว จิตใจก็ไม่อาจจะเข้มแข็งได้จริง เมื่อปัญญาไม่รู้ชัด ไม่เข้มแข็งถึงจะทำอะไรๆ ไป ในที่สุดพฤติกรรมก็ง่อนแง่น
การศึกษาเริ่มต้นตั้งแต่การกินอยู่ที่บ้าน โรงเรียนต้องประสานกับอาจารย์คนแรก คือ พ่อแม่ ส่วนที่มีข้อสงสัยว่า เรานับถือพระพุทธศาสนากันมาตั้งแต่เกิด เป็นชาวพุทธตั้งเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมเวลาพูดถึงโรงเรียนแนวพุทธ จึงยกตัวอย่างได้แค่สองโรงเรียน ความจริงอาจจะมีอยู่แล้วหลายโรงเรียน แต่เรายังไม่ได้ระบุขึ้นมา ใช่หรือไม่?
ก็ใช่อยู่ กล่าวคือ เมื่อพูดอย่างกว้างๆ ก็บอกได้ว่าโรงเรียนแนวพุทธมี 2 แบบ อย่างที่พูดมาแต่ต้นคือ แบบที่โรงเรียนหลายแห่งจัดกันมาตามวัฒนธรรมเอื้อ คือตามที่ถือกันมาสืบกันมา รู้ตามกันมาว่าอย่างนี้แหละเป็นชาวพุทธ ก็เลยทำอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมเอื้อ และอีกแห่งหนึ่ง คือ การจัดอย่างโรงเรียนที่ออกชื่อมานั้นหมายความว่าเขาได้ศึกษาในแง่หลักการว่า สาระของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ เขาก็ไปถึงขั้นจัดให้เป็นไปตามหลักการ
เรื่องหลักการนั้น โรงเรียนทั้งหลายสามารถนำไปจัดปรับให้เหมาะกับตนเองและท้องถิ่น หมายความว่า ตัวหลักการ ก็อันเดียวกัน แต่เมื่อลงสู่รายละเอียด จะไปสัมพันธ์กับกาลเทศะ ซึ่งถ้ารู้เข้าใจทั้ง 2 ด้าน (ทั้งหลักการและกาลเทศะ) และฉลาดในวิธีการ ก็จัดได้สบายเลย ข้อสำคัญ ขอให้เข้าใจหลักการพื้นฐานก็แล้วกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ
1. พูดถึงความเป็นจริงของโลกและชีวิต ให้รู้เข้าใจธรรมดาของธรรมชาติ
2. พูดถึงหลักการพื้นฐานให้รู้เข้าใจพร้อมไว้ก่อน
3. จัดวางจุดเน้นสำหรับสังคมไทย และสำหรับแต่ละถิ่นแต่ละชุมชน ที่เป็นเรื่องของกาลเทศะซึ่งก็ขาดไม่ได้
ส่วนที่มีคำถามว่า สมมุติว่ามีโรงเรียนที่ผู้บริหารเอาใจใส่มาตั้งแต่ต้น มีรากฐานของโรงเรียนที่ดี และมีเมตตากรุณา ดูแลเด็กอย่างดีไม่ทิ้งภาระหน้าที่ อันนั้นจะจัดว่าเป็นโรงเรียนแนวพุทธหรือไม่ อย่างนี้แหละ คือที่ว่าเป็นแนวพุทธแบบวัฒนธรรมเอื้อ คืออย่างน้อยก็ได้ในแง่วิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมทั่วไป รวมทั้งคุณค่าในระดับจิตใจ (ระดับจิตตภาวนาหรือสมาธิ) ซึ่งหมายถึงว่าความดีงามในจิตใจก็จะพาศีลมาด้วย เพราะคนที่มีจิตใจดีงามตามปกติก็จะรักษาความประพฤติและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้ดีด้วย’
อย่างไรก็ตาม ในกรณีอย่างนี้ พฤติกรรมดีงามหรือศีลของเขาอาจจะเป็นเรื่องของจริยธรรมทางสังคม ส่วนศีลในการปฏิบัติต่อวัตถุเสพบริโภคนี่เขาอาจจะยังหย่อน
เวลานี้ในสังคมไทย ศีลด้านปฏิเสวนาคือการเสพบริโภคนี้หย่อนมาก คนไทยจึงไหลไปตามกระแสค่านิยมได้ง่าย ทำให้ต้องเน้นตอนนี้ว่าการศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็นจะต้องรู้จักแยก ระหว่างการกินด้วยความรู้เข้าใจอย่างมีปัญญากับการกินที่เป็นเพียง การเสพรสของตัณหา ถ้าเด็กหลงใหลไปตามกระแสค่านิยม เขาก็กินเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย กินตามค่านิยมโก้เก๋อวดมั่งมี แสดงฐานะแข่งขันกัน โดยไม่ได้คำนึงว่าจะได้คุณภาพหรือไม่ ไม่ใช้ปัญญา ไม่รู้ความมุ่งหมายที่แท้ของการกิน
ถ้าเขามีศีลด้านนี้ ก็จะรู้ตัวอยู่ว่ากินเพื่ออะไร และมุ่งให้ได้คุณค่าที่แท้ คือการได้คุณภาพและปริมาณอาหารซึ่งพอดีที่จะให้มีสุขภาพ คนกินที่มีศีล ก็คือกินด้วยความรู้เข้าใจความมุ่งหมายของการกินแล้วก็กินพอดี จึงหมดปัญหา ส่วนเรื่องการที่จะทำตามค่านิยม ก็เป็นเพียงการรู้เท่าทันว่าเราอยู่ในสังคมนี้เขานิยมกันอย่างนี้ ก็อย่าให้เขาเสียความรู้สึก แล้วก็ปฏิบัติให้พอเหมาะพอสม เข้าสังคมหรือชุมชนได้ แต่รู้เท่าทัน ไม่หลงใหลตามเขาไป อย่างนี้เรียกว่าเด็กมีหลัก ก็คือมีศีลนั่นเอง
แต่เวลานี้ เด็กไม่มีหลัก มีแต่โดนเขาหลอก เขาล่อจูง เร้าใจ ยั่วยุ ในทางที่จะไปเสพบริโภคก็ไปตามกระแสค่านิยม เลยไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะฉะนั้น ศีลข้อเสพบริโภคนี้ จะต้องเน้นให้มากในยุคปัจจุบัน ถ้าเด็กไทยได้ศีลแค่กินอยู่ดูฟังเป็นเท่านั้นแหละ สังคมไทยจะเข้มแข็งและก้าวไปได้ไกลถ้าเด็กไทยกินอยู่ เสพบริโภค ดูฟังเป็น ก็มีศีลอินทรีย์สังวร เขาจะปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผลจะดูโทรทัศน์เป็น ใช้สื่อพวกอินเทอร์เน็ตเป็น เด็กไทยได้ศีลเท่านี้แหละ สังคมไทยก็เดินหน้าเพราะรู้จักบริโภคด้วยปัญญา และเพื่อปัญญา แล้ววัฒนธรรมทางปัญญาก็มาได้แน่ จึงถามเด็กบ่อยๆว่า หนูดูทีวีเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ดูทีวีเพื่อศึกษากี่ เปอร์เซ็นต์ แค่นี้แหละเด็กไม่เคยคิด แต่พอถามปั๊บเดียวเด็กเข้าใจเด็กประถมบอกว่า หนูดูเพื่อเสพ99%ดูเพื่อศึกษาไม่ถึงหนึ่ง เปอร์เซ็นต์
ถามต่อไปว่า แล้วหนูทำอย่างนั้นถูกไหม เด็กบอกว่าไม่ถูก ถามว่าเมื่อไม่ถูกแล้วจะทำอย่างไรเด็กบอกว่าหนูจะต้องแก้ไข อ้าว ถ้าอย่างนั้นหนูลองคิดดูซิว่าจะแก้อย่างไรเด็กบอกว่า ต่อไปนี้หนูจะดูเพื่อเสพ 50% ดูเพื่อศึกษา 50% บอกว่ามากไปๆ สังคมไทยเวลานี้เขานิยมไปทางเสพมาก ตอนนี้ยอมให้หนูเสพมากๆ ก็ได้ตกลง หนูเสนอว่า เอาเสพ 70% ศึกษา 30% บอกว่าไม่เป็นไรเริ่มแค่นี้ก็ได้ แล้วก็ค่อยๆแก้ไขปรับปรุงกันต่อไป
ส่วนที่บางท่านยังอาจจะมีข้อวิตกว่า การศึกษาที่เตรียมจะทำอย่างนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่น่ากลัวเลย เพราะมันสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ชีวิตต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือการศึกษาที่อยู่กับชีวิตความเป็นจริง เพราะการกินอยู่ดูฟัง การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ การมีเจตจำนง มีความรู้สึก มีความดีความชั่วในจิตใจ มีสุขมีทุกข์ มีปัญญาความรู้เข้าใจ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน ทุกขณะ เป็นแต่เพียงว่า เราปฏิบัติต่อมันถูกต้องหรือไม่ เอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้แค่ไหน
ขอพูดต่อไปถึงความคิดอย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุที่การศึกษาเป็นเรื่องของชีวิตที่มีความเป็นจริงอย่างนี้ มันก็เริ่มตั้งแต่เด็กเกิด ดังนั้น บุคคลผู้ให้การศึกษาที่สำคัญ ก็อย่างที่พระพุทธศาสนาบอกแล้วว่าพ่อแม่เป็นบูรพาจารย์ คือเป็นครูต้น ฉะนั้นการศึกษาจึงต้องเริ่มต้นที่บ้าน
ทีนี้ก็มานึกว่าในแง่นี้ ทำอย่างไรจะให้โรงเรียนช่วยโยงการศึกษาไปถึงบ้าน โดยเป็นตัวกลางที่กระตุ้นให้บ้านทำหน้าที่ทางการศึกษาอันนี้ ถ้าทำอันนี้ได้ คิดว่าสังคมไทยจะประสบความสำเร็จมาก คือโรงเรียนจะต้องไม่จำกัดบทบาทอยู่เฉพาะที่โรงเรียน
โรงเรียนจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น หรือจะเรียกว่านำหรืออะไรก็แล้วแต่ ให้การศึกษาที่บ้านดำเนินไปด้วย และช่วยเป็นพี่เลี้ยงของพ่อแม่ด้วย ในเรื่องการจัดการศึกษาให้แก่ลูกเมื่อใครมีลูกก็ให้ตระหนักในบทบาทของพ่อแม่ ในฐานะเป็นครูต้นที่พระเรียกว่าเป็นบูรพาจารย์คือเป็นอาจารย์คนแรก แล้วก็ช่วยเด็กให้พัฒนาชีวิตไปอย่างมีการศึกษา เช่น กินอยู่เป็น ดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯอย่างที่พูดมาแล้ว
ถ้าโรงเรียนทำหน้าที่นี้ได้ ไปประสานกับบ้าน จะเป็นก้าวใหญ่ก้าวหนึ่งของการศึกษา ซึ่งเป็นก้าวที่น่าจะเป็นเนื้อแท้ด้วย คิดว่าอย่างนั้น
เมื่อการศึกษาได้ผล ในตัวคนก็มีใจร่าเริงเบิกบาน
และประสานกับคนอื่นโดยแผ่ขยายความรักใคร่ไมตรี
ขอเติมอีกนิด คือด้านการพัฒนาจิตใจที่เป็นเรื่องในกลุ่มสมาธินี่นะ เรามักจะไม่ค่อยเน้นกัน ในเรื่องคุณสมบัติที่คู่กับสมาธิ
สมาธิที่เราพูดนี้ เรียกเต็มว่า จิตตสมาธิ เป็นสมาธิของจิตคือ อาการที่จิตใจแน่วแน่มั่นคง อยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่านไปแต่ในการที่จิตตสมาธิจะเกิดนั้น มันมีธรรมสมาธิเป็นตัวนำ
ขอให้สังเกต หลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเรื่องนี้สำคัญมาก เมื่อคนปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เจริญไปในไตรสิกขา ก็จะมีธรรมชาติเกิดขึ้น และเมื่อธรรมสมาธิเกิดแล้วก็จะเกิดจิตตสมาธิ
ธรรมสมาธิ ก็คือการประสานแน่วแน่ของธรรม คือคุณสมบัติต่างๆ ของจิตใจมั่นแน่วลงเป็นสมาธิ ซึ่งมี 5 ประการ ถ้าเด็กหรือใครก็ตามมีคุณสมบัติเหล่านี้ ก็จะเป็นสุขภาพจิตที่ดีอย่างยิ่งจึงเป็นคุณสมบัติ 5 ตัวที่ควรจะสร้างขึ้นให้ได้ พระพุทธเจ้าทรงเน้นไว้บ่อย ได้แก่
1. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานแจ่มใส ข้อนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของจิตใจ คือสภาพจิตสามัญ เด็กจะต้องเป็นอย่างนี้ คือมีปราโมทย์ เป็นคนที่มีจิตใจร่าเริงเบิกบาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่มากด้วยปราโมทย์จักทำทุกข์ให้หมดสิ้น คือจะบรรลุนิพพาน ใครมีปราโมทย์อยู่เสมอก็เรียกได้ว่าอยู่ใกล้นิพพาน
2. ปีติ ความอิ่มใจ ปลาบปลื้มใจ ถ้าเราทำอะไรด้วยใจรัก พอทำได้ก้าวไป คืบหน้าไป ก็จะมีปีติ อิ่มใจ ปลื้มใจแม้แต่กวาดบ้าน ถ้าเราทำด้วยใจรัก อยากให้มันสะอาด พอกวาดไป ได้เห็นความสะอาดเพิ่มขึ้นๆ ทีละน้อย ก็ปีติอิ่มใจ ปลื้มใจไปเรื่อยเลย เราจะไม่ทำงานด้วยความเครียด จะไม่ทำงานด้วยความเหนื่อย ท้อแท้ แต่จะมีกำลังใจ ทำด้วยความสุข ทำอะไรก็ปีติอิ่มใจได้เรื่อย จึงมีสุขภาพจิตดี
3. ปัสสัทธิ ความสงบเย็นผ่อนคลาย เป็นคุณสมบัติที่คู่ตรงข้ามกับสภาพจิตของคนปัจจุบันคือความเครียด อันนี้ผ่อนคลาย พอดีปราโมทย์ มีปีติ แล้วปัสสัทธิก็มา ก็ผ่อนคลายสบาย
4. สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ คล่องใจ ไม่มีอะไรบีบคั้น
5. สมาธิ ความมีใจมั่นแน่ว คือใจอยู่กับสิ่งที่ทำ แน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก มั่นคงยิ่งถ้ามีปัญญามาช่วยโดยมองเห็นเหตุผล เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำก็จะยิ่งมั่นใจใหญ่ สมาธิจะยิ่งแน่ว แล้วสมาธินี้ก็จะมาทำให้พฤติกรรมหนักแน่นมั่นคงได้ผลดียิ่งขึ้น
ที่เราพูดกันว่า การพัฒนาด้าน emotion คือ emotional development นั้น ก็นี่แหละจะเห็น emotion ดีๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะปีติ ปราโมทย์ และส่วนนี้เป็นการพัฒนาจิตใจด้วยภายใน เป็นสภาพจิตที่ต้องการ หรือเป็น emotion ที่พึงประสงค์
พร้อมกันนั้น คู่กับ emotion ดีๆ ฝ่ายภายใน ก็คือ emotion หรือสภาพจิตดีๆ ฝ่ายที่แผ่ออกไปภายนอก โดยเฉพาะชุดพรหมวิหารเริ่มด้วยเมตตากรุณาข้างในก็มีใจร่าเริงเบิกบานแจ่มใส ข้างนอกก็อยู่กับคนอื่นด้วยความรู้สึกรักใคร่มีไมตรี
สองด้าน สองชุดนี้เป็น emotion หรือสภาพจิตที่พึงประสงค์อย่างแท้จริง ที่ควรจะพัฒนาให้เกิดขึ้น เรียกว่าเป็น emotion development คือการพัฒนาด้านจิตใจ หรือจิตตภาวนา ซึ่งจะประสานรวมเป็นธรรมสมาธิ และเกิดจิตตสมาธิ
จึงต้องตั้งจุดหมายให้เด็กมีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ เป็นคุณสมบัติประจำใจพระพุทธเจ้าทรงเน้นอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราก้าวหน้าไปในหลักปฏิบัติของพระองค์ ก็จะมีภาวะจิตที่ดี 5 อย่างนี้ นี่คือสภาพจิตที่พึงประสงค์ข้างใน 5 ประการ เอาไปประสานกับสภาพจิตที่พึงประสงค์ด้านแผ่ออกข้างนอก คือ เมตตาไมตรีเป็นต้นอีก 4 ก็จะเป็น emotional development อย่างยอดเยี่ยมถ้าได้อย่างนี้ก็จะไม่ต้องมาห่วงเรื่อง EQ กันให้วุ่นวายไป
พุทธศาสนา คือคำสอนว่าด้วยการพัฒนาความสุข
การศึกษา คือการพัฒนาความสุข
ขอเติมอีกนิดเดียว คือ เรื่องความสุข อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เรามักลืมมองแง่หรือด้านนี้ของพระพุทธศาสนา ถ้าเปิดดูพระไตรปิฎก และสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ความสุขเป็นเรื่องใหญ่ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาก เช่นที่พูดไปแล้วว่าผู้ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจะเจริญก้าวหน้าในความสุขซึ่งกล่าวไว้ในชุดคุณสมบัติ 5 อย่าง คือ ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นนิพพานเป็นทุกข์ ผู้นั้นไม่มีทางจะได้บรรลุนิพพาน ผู้ใดมองเห็นนิพพานว่าเป็นสุข ก็มีทางที่จะบรรลุได้ท่านผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ มีความสุขอย่างยิ่ง อย่างที่บางท่านอุทานอยู่เสมอว่า “สุขจริงหนอๆ” พระพุทธเจ้าเองก็ทรงยืนยันพระองค์ว่าทรงเป็นสุข มีผู้ถามเทียบว่า พระองค์เที่ยวจาริกไป ไม่มีที่อยู่ที่สบาย เดินทางไปโปรดคน เข้าลักษณะที่ว่านอนกลางดิน กินกลางทราย อย่างนี้จะมีความสุขอะไร
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า แล้วคุณว่าใครมีความสุข เขาคงนึกไม่ออก ไม่รู้ว่าจะเอาใครดี ก็เลยนึกถึงพระจ้าแผ่นดินแคว้นนั้น ซึ่งมีทุกอย่าง บอกว่าพระเจ้าพิมพิสารเป็นสุขที่สุด พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่าพระเจ้าพิมพิสารจะประทับนั่งเสวยสุขทั้งวันได้ไหม เขาคิดไปคิดมาบอกว่าทำไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราสุขตลอดเวลาเลย จะไม่ดู ไม่ฟัง นั่งเฉยๆ ให้เป็นสุขตลอดทั้งวันก็ได้พระพุทธศาสนาเน้นมากในเรื่องความสุข เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาพูดในแง่หนึ่ง ก็คือ เป็นหลักคำสอนว่าด้วยการพัฒนาความสุข
คนเราทั่วไป เมื่อพูดถึงความสุข มักนึกไปถึงความสุขจากการเสพบริโภค นี่เป็นสุขอย่างหยาบๆของปุถุชน แต่ถ้าคนมีการพัฒนาเริ่มเข้าสู่การศึกษา เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้นมา เริ่มด้วยความสุขจากการกระทำ ความสุขข้อนี้สำคัญมากสำหรับเด็กไทย ต้องทำให้ได้
เด็กไทยต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่นักบริโภค แต่ต้องเป็นนักผลิตและเป็นนักสร้างสรรค์ ทีนี้ในการที่จะก้าวไปสู่ขั้นเป็นนักสร้างนั้นเขาจะต้องมีความสุขจากการกระทำด้วย แต่เวลานี้เด็กไทยกำลังขาดความสุขขั้นนี้อย่างหนัก เด็กไทยทั่วไปไม่มีความสุขจากการกระทำ ได้แค่หาความสุขจากการเสพบริโภคและถึงกับเห็นการกระทำเป็นเรื่องทุกข์ ถ้าอย่างนี้ก็ใกล้อวสาน สังคมไทยจะไปไม่รอด
การศึกษาจะต้องช่วยเด็กไทย ให้พัฒนาถึงขั้นมีความสุขจากการกระทำให้ได้ พอเด็กมีปัญญา รู้เข้าใจ มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ดีงามสมบูรณ์ฉันทะ คือความชื่นชมอยากเห็นสิ่งนั้นๆ มันดี ก็เกิดขึ้นขอแทรกหน่อยว่า เดี๋ยวนี้คนไทยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและแคบมาก เวลาพูดถึงความอยาก ก็จะมองเหมาไปเลยว่าความอยากไม่ดี ที่จริงในทางธรรมท่านแยกไว้ชัดว่า ความอยากมี 2 อย่าง คือ ความอยากที่เป็นกุศลกับความอยากที่เป็นอกุศล
อย่างเราไปเห็นกระรอก ถ้าคิดอยากขึ้นมาในแบบที่ว่า ทำอย่างไรจะได้กระรอกตัวนี้มาลงหม้อแกงจะได้กินให้อร่อย อย่างนี้เรียกว่าเป็นความอยากแบบอกุศล เป็นพวกตัณหา แต่ถ้าเห็นกระรอกแล้ว ชื่นชมในความงามความน่ารักของมันดู มันวิ่งไปวิ่งมา มันทำท่าอย่างนั้นอย่างนี้ น่าดู แล้วก็อยู่ในธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์ ความชื่นชมต่อสภาพที่ดีอย่างนี้ แล้วอยากให้มันมีสุขภาพดีสวยงามอย่างนั้นต่อไป ความอยากอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับตัวเราที่จะได้จะเอา ความอยากต่อสิ่งนั้น ชื่นชมอยากให้มันดีงามสุขสมบูรณ์อย่างนี้แหละ เรียกว่า ฉันทะ
ความอยากที่เรียกว่า ฉันทะ ตัวนี้มาเมื่อไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นความอยากที่ถูกต้อง
แต่ถ้าเห็นอะไร มีแต่อยากจะเสพ อย่างนี้ไปไม่รอด เพราะความสุขทุกข์จะเวียนวน ขึ้นอยู่กับความชอบใจ-ไม่ชอบใจเท่านั้น
ในทางตรงข้าม พออยาก ชอบ ชื่นชมในสิ่งที่ดี หรืออยากให้มันดีต่อไปหรือดียิ่งขึ้น อย่างนี้แหละฉันทะมาแล้ว เป็นความอยากต่อสิ่งนั้นๆ โดยไม่เกี่ยวกับตัวตน ไม่ใช่อยากจะได้อยากจะเอา นี่คือเข้าสู่ทางของการศึกษา
พอไปเห็นหญ้าเรียบ เขียวขจี สวยงาม ก็ชื่นชม อยากให้มันเรียบร้อยงดงามดีอย่างนั้นต่อไป พอความชื่นชมอยากอย่างนั้นมาแล้ว ถ้ามันรก มีอะไรเกะกะ ก็อยากจะรีบไปหยิบเอาไปทิ้ง อยากจะจัดให้เรียบร้อย อย่างนี้แหละเรียกว่าฉันทะเกิด คืออยากทำให้มันดี อยากทำให้มันสมบูรณ์
เห็นต้นไม้ สวยงาม เขียว ร่มรื่น ใบดก ดอกก็สวย เกิดความชื่นชม มีฉันทะ อยากให้มันเป็นของมันอย่างนั้น แต่หันไปเห็นต้นไม้อีกต้นหนึ่งเหี่ยว เฉา ร่วงโรย ก็อยากทำให้มันดี คือให้มันสวยงามสมบูรณ์ขึ้นมา ก็เลยต้องรีบไปรดน้ำมัน ไปแต่งมัน อย่างนี้ฉันทะมา มีแต่ดีทำให้สร้างสรรค์ แล้วก็สุขจากการสร้างสรรค์นั้น
เด็กที่มีฉันทะอย่างนี้จึงอยากทำ ตรงกับที่ท่านแปลฉันทะว่าอยากทำ เพราะชื่นชมที่มันดีอยากให้มันดีของมัน ถ้ามันไม่อยู่ในภาวะที่ดี ก็อยากทำให้มันดี แล้วเมื่ออยากทำให้มันดี ก็ไปทำให้มันดี พอทำให้มันดี ก็สนองความต้องการของตัวเอง แล้วก็มีความสุขจากการกระทำ (ให้มันดี) นั้น
ฉะนั้น คนไหนมีฉันทะ ก็จะมีความสุขจากการกระทำทันที ถ้าเด็กไทยมีฉันทะนี้ ก็จะก้าวหน้าในการสร้างสรรค์อย่างแน่นอน ไม่มีปัญหาเลย นี่จึงเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ถ้าคนไทยยังเข้าใจและเข้าสู่ฉันทะไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่าจะมีการศึกษาที่ก้าวหน้านำใครได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่ออาทิตย์จะอุทัย มีแสงเงินแสงทองเป็นบุพนิมิตมาก่อน ฉันใดเมื่อภิกษุจะก้าวไปในมรรคมีองค์ 8 ประการ ก็มีฉันทะ เป็นบุพนิมิตมาก่อน ฉันนั้น ขอให้จำกันไว้ให้แม่นทีเดียวว่า เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่งใน 18 ประการ
ที่เรียกว่า พุทธธรรม 18 คือ พระพุทธเจ้าทรงมีฉันทะไม่ลดถอยเลย (นตฺถิ ฉนฺทสฺส หานิ)จึงทรงเพียรพยายามเที่ยวจาริกไปโปรดผู้คนมากมาย เพื่อช่วยให้เขาพ้นทุกข์ เป็นคนดี มีความสุขอย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก และก็ทรงมีความสุขในการทรงบำเพ็ญฉันทะด้วยกำลังแห่งมหากรุณานั้น
เมื่อเป็นชาวพุทธ ถ้านึกหลักพุทธศาสนาข้อไหนๆ ก็ไม่ออก ยังไม่ค่อยรู้เข้าใจอะไรก็ปฏิบัติตามอย่างพระพุทธเจ้าในหลักแห่งความมีฉันทะนี้ ก็นับว่าเป็นพุทธได้ ต้องเน้นเรื่องสร้างฉันทะให้ได้ ถ้าฉันทะไม่มา คิดว่าไม่ไหวแล้วการแก้ปัญหาสังคม
เรื่องอบายมุข และเรื่องเลวร้ายอะไรต่ออะไรจนหนักหนาให้สังคมไปไม่รอด เพราะตอนนี้เอาแต่หาความสุขจากการเสพบริโภคกันหมด คนที่มีความสุขจากการทำแทบไม่มี
เมื่อใดเด็กมีความสุขจากการทำแล้ว เขาก็จะมีความสุขจากการหาความรู้ด้วย เป็นเรื่องตามมาเอง เพราะเป็นธรรมดาว่าคนที่จะทำอะไรให้ได้ผลนั้น การทำให้สำเร็จย่อมเรียกร้องการหาความรู้ พออยากให้สิ่งนั้นๆ มันดี ก็ต้องคิดต้องหาทางว่า ทำอย่างไรจะให้มันดี ต้นไม้ต้นนี้เฉา จะทำให้มันงามเหมือนต้นนั้นได้อย่างไร ก็ต้องไปหาความรู้เดี๋ยวก็ไปสอบถามค้นหาความรู้ แล้วก็มาทำ แล้วทั้งหาความรู้ทั้งทำก็จะเป็นความสุขไปหมด
เมื่อใดคนหาความสุขจากการเรียนรู้และจากการทำ เขาจะพัฒนาตลอดเวลา และจะเข้มแข็งด้วยทั้งนี้ รวมทั้งฉันทะของผู้ที่จะจัดการศึกษาแนวพุทธ หรือดำเนินการโรงเรียนแนวพุทธด้วย ฉันทะตัวนี้จะเกิดได้จากการรู้เข้าใจจริง ถ้ารู้เข้าใจชัดเจนว่ามันเป็นความจริงอย่างนั้น มันมีคุณค่าเป็นประโยชน์แท้อย่างนี้ละก็ ฉันทะมาได้
แล้วก็ไปบวกกับเมตตาความรักความปรารถนาดีต่อเด็กๆ ต่อนักเรียน ต่อสังคมไทย ถ้าน้ำใจอย่างนี้เกิดขึ้น นี่ละคือฉันทะที่พร้อมจะผลักดันให้การศึกษาไทยสัมฤทธิ์ผลสมหมายอย่างแน่นอน หลังจากนี้ค่อยคุยกันอีกก็ได้ในเรื่องการพัฒนาความสุขเพราะความสุขมีวิธี พัฒนาเยอะ แต่เวลานี้คนมองความสุขในมิติเดียวจากการเสพ ก็เลยตัน เป็นต้น ก็จบกัน
ต่อจากความสุขในการเสพ ก็ก้าวไปสู่ความสุขจากการทำ ความสุขจากการหาความรู้ ความสุขจากการให้ และการทำให้คนอื่นเป็นสุขนี่เป็นตัวอย่างของความสุขในขั้นต่างๆซึ่งเป็นทั้ง การพัฒนาก้าวหน้าของชีวิตตนเองที่มีความสุขขยายขอบเขต ออกไปมีมิติมากขึ้นพร้อมกับเป็นการเกื้อหนุนสังคมไปด้วย เพราะความสุขที่พัฒนาเหล่านี้ไม่มีพิษมีภัยเลย มีแต่เป็นประโยชน์อย่างเดียว
คนบางคนมีความสุขในการทำให้ผู้อื่นเป็นสุข เช่น อย่างพระโพธิสัตว์ เมื่อทำให้ผู้อื่นเป็นสุขได้ตนเองจึงจะชื่นใจ มีความสุขทั้งนี้ก็เพราะอยากให้เขาเป็นสุข
ตัวอย่างในชีวิตจริงที่เห็นง่ายๆ ก็เริ่มจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นสุขเมื่อเห็นลูกเป็นสุข พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นสุข แล้วก็อยากทำให้ลูกเป็นสุข เมื่อทำให้ลูกเป็นสุขแล้ว ตัวเองก็เป็นสุขด้วย ทำอย่างไรเราจะให้มีความสุขอย่างนี้ขึ้นมา แล้วก็ความสุขในการอยู่กับธรรมชาติตลอดไป
ถึงความสุขจากการเห็นความจริงของธรรมชาติ โลก ชีวิต ความสุขอะไรต่างๆ เหล่านี้ มีเยอะเหลือเกินล้วนแต่มีจุดเริ่มจากฉันทะ และเป็นความสุขที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาจึงมาถึงหลักที่ว่า การพัฒนาความสุขก็คือการศึกษา
(อ่านต่อหน้า 2 บทสนทนาธรรมระหว่างท่านพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)กับคณะครูรุ่งอรุณเรื่อง “วินัยชาวพุทธ”)
Pages: 1 2