การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ

Virtual Classroom ห้องเรียนรุ่งอรุณในยุคโควิด-19

ท่ามกลางการระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกขณะนี้ นับเป็นความท้าทายยิ่งของมวลมนุษยชาติที่ต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันที่ถึงวันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร

ในภาคการศึกษา โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วโลกต้องประกาศปิดโรงเรียน และปรับเปลี่ยนไปจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทน

โรงเรียนรุ่งอรุณเองได้ประกาศปิดชั้นเรียนและจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเราชาวชุมชนรุ่งอรุณ ทั้งครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ได้ร่วมเรียนรู้และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง “กะทันหัน” นี้ไปพร้อมกัน

ก้าวต่อไปของโรงเรียนรุ่งอรุณ คือการเตรียมความพร้อมหากการแพร่ระบาดของไวรัสนี้กินระยะเวลายาวนาน และนักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่บ้าน

ครูจะออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง จะมีบทบาทอย่างไร สื่อหรือเครื่องมืออะไรที่สามารถนำมาใช้จัดการเรียนรู้ออนไลน์นี้ได้

ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ โรงเรียนรุ่งอรุณได้จัดการประชุมเตรียมความพร้อม ทั้งวงประชุมทีมบริหาร วงประชุมระดับชั้น/รายวิชา วงประชุมแต่ละโรงเรียน (แบบมาพบปะกันแต่เว้นระยะห่าง และการประชุมออนไลน์ผ่าน Google Meet) เพื่อทบทวนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่ผ่านมา (เสียงสะท้อนของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง) แล้วนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบการเรียนรู้ออนไลน์ในรูปแบบของรุ่งอรุณ

การทำงานเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ทำให้ครูรุ่งอรุณตระหนักว่า ครูต้องก้าวออกจากวิธีคิดแบบเดิม ตารางการเรียนแบบเดิมๆ แล้วออกแบบชุดการเรียนรู้ใหม่ที่ไม่ใช่เพียงการเอาระบบออนไลน์มาเป็นเครื่องมือของการสอนในห้องเรียน การสั่งงาน-ส่งงาน หรือการเอาโรงเรียนกลับไปไว้บ้าน เอางานของครูเป็นตัวตั้งแล้วผลักภาระไปให้ผู้เรียนหรือผู้ปกครอง แต่เป็นชุดการเรียนรู้แบบ Virtual Classroom ที่เอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับครู

การออกแบบชุดการเรียนรู้ที่เป็น Virtual Classroom นี้ท้าทายครูรุ่งอรุณให้ต้องใช้ความรู้คู่จินตนาการ มาสร้างห้องเรียนแบบใหม่ที่ครูเองก็ไม่เคยทำมาก่อน โดยมีประเด็นสำคัญที่ครูต้องคำนึงถึง เช่น

  • นักเรียนต้องไม่อยู่หน้าจอตลอดเวลาหรือนานเกินไป สัดส่วนเวลาเหมาะสมกับวัยของนักเรียนแต่ละระดับชั้น
  • นักเรียนสามารถทำงานและอยู่กับงานอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่ทำไปตามโจทย์ที่ครูสั่ง และนั่งเรียนตามตารางเรียนที่ครูออกแบบไว้
  • จัดทำและใช้สื่อให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับครู และกับเพื่อนๆ
  • ช่วงบ่ายควรเป็นช่วงเวลาอิสระให้นักเรียน (ประถม-มัธยม) เลือกทำโปรเจกต์ตามความสนใจ มีการจัดมุม Maker Space เพื่อทำงาน โดยมีโจทย์ที่ท้าทายจากครู มีคู่มือ/ไกด์ไลน์ให้เด็กมองเห็นเป้าหมายและสามารถบริหารจัดการการทำงานโปรเจกต์ของเขาได้
  • การสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามวัยของเด็ก เช่น ในเด็กเล็กระดับอนุบาล-ป.๑ ผู้ปกครองยังต้องช่วยอยู่มาก มีการจัดทำคู่มือพ่อแม่ให้ผู้ปกครองสามารถจัดการเรียนรู้โดยมีครูเป็นโค้ช

เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ทีมบริหารและครูรุ่งอรุณกำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้นในช่วงปิดภาคเรียนนี้

ขณะเดียวกันทีมไอทีและทีม RALS (Roong Aroon Learning Space) ก็ได้เตรียมความพร้อมด้านสื่อออนไลน์ที่ครูจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือใน Virtual Classroom นี้ ทั้งในส่วนของอุปกรณ์และโปรแกรม/แอปพลิเคชั่น (Hardware&Software) โดยเปิดคอร์สออนไลน์ Work from Home Training Course ให้ครูเข้ามาเรียนรู้และฝึกใช้สื่อต่างๆ สำรวจปัญหา/อุปสรรค เพื่อช่วยเหลือครูในการใช้สื่อได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ

Virtual Classroom นี้ เป็นความท้าทายของทุกฝ่ายในโรงเรียนรุ่งอรุณ รวมทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวกับโจทย์ใหม่ที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีของโรงเรียนรุ่งอรุณ เราทุกคนถูกฝึกให้พร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เพราะรุ่งอรุณจัดการเรียนรู้จากชีวิตจริง ชีวิตที่ย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเชื่อมั่นว่าเราจะก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ด้วยความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน

ส่วน Virtual Classroom นี้จะมีหน้าตาหรือรายละเอียดอย่างไร รอติดตามตอนต่อไป