บันทึกรุ่งอรุณ,  รศ.ประภาภัทร นิยม

ครูอยากรู้เรื่อง New Normal ไหม?

จากความพยายามเรียนรู้ New Normal ของสังคม เพื่อนำมาใช้กับการปรับวิธีการจัดการศึกษา กลับทำให้ครูชาลี มโนรมย์ ครูวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้ข้อค้นพบบางอย่าง เป็นที่มาของบทสนทนาระหว่างครูชาลี กับ รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
 
ติดตามเส้นทางการเรียนรู้ของครูไปพร้อมกันกับเรา
 
ครูชาลี : อาจารย์ครับแนวคิดแบบองค์รวม ที่หมอประเวศพูดถึงนานแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้อยู่ในตอนนี้ แสดงว่า New Normal ไม่ใช่คิดใหม่หมด ทิ้งของเดิมที่ยังมีประโยชน์ แต่เป็นการปรับแนวคิดเอามาทำใหม่ให้ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันใช่ไหมครับ?
 
รศ.ประภาภัทร : Holistic Mindset ไม่มีเก่าหรือใหม่ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติอยู่แล้ว การหยิบยกขึ้นมาในโอกาสหลัง COVID19 นี้ จึงเป็นกุศโลบายที่เหมาะแก่กาลเทศะ เพราะทุกคนจะเข้าใจได้ง่ายเป็นรูปธรรมชัดเจน เชื้อไวรัสเล็กๆ นี้ ได้แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนหายใจอากาศเดียวกัน อยู่ท่ามกลางความเชื่อมโยงกัน
 
แม้จะมีความรู้ให้รู้เรื่องต่างๆ มากมาย มีเทคโนโลยีขยายความสามารถในการประกอบกิจการ/กิจกรรม สร้างความมหัศจรรย์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แต่กลับไม่รู้ตัวว่าเราติดเชื้อและเป็นพาหะแพร่เชื้อได้เท่าเทียม ทั่วถึงกันทุกคน
 
ยังมีสายใยแห่งความเชื่อมโยงสรรพสิ่งต่างๆ บนโลกนี้อีกมากมายเหลือคณานับ ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น โครงข่ายของเชื้อราในดิน ในรากพืช ซากสัตว์ ฯลฯ อีกทั้งมีโยงใยแห่งความสัมพันธ์ทางด้านจิตวิญญาณ ที่จะแพร่เชื้อดี เชื้อร้าย ต่อมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งมนุษย์มักจะถลำลงไปโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน Holistic Mindset จะครอบคลุมทุกมิติเหล่านี้ทั้งหมด เราจึงต้องอาศัย Holistic Learning เพื่อเป็นท่าทีหรือกุศโลบายการเรียนให้ “รู้ตัว” และสร้างพฤติกรรมแห่ง “ผู้รู้” จึงจะเรียกได้ว่าเป็นบัณฑิต มนุษย์ที่ฝึกตนเป็นบัณฑิตจึงเป็น Key Factor สำคัญของการสร้างสมดุลแห่งโยงใยเหล่านี้
 
เราลองถามว่า สถาบัน/โรงเรียนของเรากำลังสร้างบัณฑิต (น้อย) อยู่หรือเปล่า?
 
การสร้างบัณฑิตจึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียน /สถานศึกษา โดยตรงใช่หรือไม่ ?
 
หากโรงเรียน/สถานศึกษา ไม่ได้ทำหน้าที่สร้างบัณฑิต ถ้าเช่นนั้น บทบาทของโรงเรียน/สถานศึกษา กำลังทำอะไรอยู่?
 
การเรียน / การสอน ทุกนาที ทุกชั่วโมง กำลังเป็นไปเพียงครึ่งทาง คือให้แต่เพียงชิ้น / ชุด / สาระวิชา หรือเปล่า?
 
แต่หากในทุกเวลานาทีที่หมดไปนั้น ต่อยอดจากรู้วิชา ไปสู่ “รู้ตัว” ได้ไหม? เพราะทุกเรื่องที่เรียนย่อมเกี่ยวข้อง และมีเราเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทุกเรื่องอยู่แล้วอย่างแน่นอน ตามหลักของ Holistic Mindset
 
ขอเพียงแต่ “ครู” ทำหน้าที่เป็นผู้นำ ผู้รู้ตัวก่อน แล้วจึงชี้ทางให้ผู้เรียนดั้นด้นมาให้สุดทางนี้เท่านั้น การทำหน้าที่ของครูจึงจะเป็นผู้สร้างบัณฑิต มิใช่ผู้รับจ้างสอนวิชาความรู้ ที่มีอยู่อย่างดาษดื่น แม้ไม่ต้องอาศัยครูก็อาจรู้ได้ หากมีฉันทะใคร่ที่จะรู้ ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่ช่องทางการเข้าถึงความรู้นับวันจะสะดวกง่ายดายขึ้นทุกที
 
เข้าใจชัดเจนหรือยัง?
ตัดสินใจได้หรือยังจะเป็นครูแบบไหน?”