การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

Growth Mindset ทำให้รุ่งอรุณไม่หยุดพัฒนา

“ถ้ารุ่งอรุณมี Fix Mindset ก็จะบอกว่า ฉันทำดีอยู่แล้ว
แต่นี่มี Growth Mindset
หมายความว่าหาทางที่จะพัฒนาต่อเนื่อง”

ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช กรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ สะท้อนถึงแนวทาง “รุ่งอรุณ ชีวิตวิถีใหม่” ในการประชุมสามัญมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ประจำปี 2563 และการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารโรงเรียนรุ่งอรุณ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

“โรงเรียนรุ่งอรุณได้ใช้วิกฤติโควิดเป็นโอกาสได้อย่างเรียกว่า “ทรงพลังยิ่ง” คือใช้ในการที่จะยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนและครูขึ้นไปอีก โดยที่จริงๆ แล้วโรงเรียนรุ่งอรุณ ทั้งนักเรียนและครู ในรูปแบบเดิมก็มีการเรียนรู้ที่คุณภาพสูงอยู่แล้ว แต่ทางรุ่งอรุณพอได้โอกาสหรือว่าเจอวิกฤติก็เลยเป็นโอกาสที่จะดำเนินการเพื่อที่จะยิ่งยกระดับขึ้นไปอีก”

“ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนถึง Mindset ระดับองค์กรที่เป็น Growth Mindset คือถ้ารุ่งอรุณมี Fix Mindset ก็จะบอกว่า ฉันทำดีอยู่แล้ว แต่นี่มี Growth Mindset หมายความว่าหาทางที่จะพัฒนาต่อเนื่อง อันนี้เรียกว่าสุดยอด”

นอกจากนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ได้กล่าวถึงการออกแบบแผนการเรียนบนฐานสมรรถนะของโรงเรียนรุ่งอรุณว่า เป็นแผนการเรียนที่ท้าทายครูและผู้บริหารอย่างยิ่ง เพราะมีเป้าหมายที่สมรรถนะของนักเรียน ซึ่งนักเรียนจะบรรลุสมรรถนะด้วยวิธีการและเวลาที่ต่างกัน จึงไม่ได้ใช้ปีการศึกษาเป็นตัวตั้ง แต่ใช้นักเรียนและการบรรลุสมรรถนะของนักเรียนเป็นตัวตั้ง เช่นบางสมรรถนะ การศึกษาทั่วไปกำหนดเวลาเรียนไว้หนึ่งปี แต่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะนี้ นักเรียนบางคนอาจจะเรียนแค่ 3 เดือนก็ได้สมรรถนะนั้นแล้ว ซึ่งจะรู้ได้ด้วยการประเมินทั้งแบบ Formative Assessment และ Summative Assessment ที่ต้องทำเป็นรายคน

“ตรงนี้เป็นความท้าทาย เพราะจะมีความสับสนและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น คือแทนที่จะเป็นรายชั้น ก็เป็นรายคน แล้วในทางปฏิบัติที่ต้องดูเป็นรายคนอย่างยิ่งนี้ เวลาจะมีมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นโจทย์สำหรับทีมครูและผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณได้ไปคิดต่อ”

การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ ผสานกับการประชุมทางไกลออนไลน์ (Video Conference) โดยคณะผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณได้นำเสนอผลการดำเนินงานของมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ใน 2 ประเด็น คือ

1.ผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา : การพัฒนาหลักสูตรพระบริหารการนิเทศก์ สำหรับสำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.)

รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับครูพระสอนศีลธรรม สำนักงานพระสอนศีลธรรม มจร. จำนวน 20 รูป เพื่อพัฒนาเข้าสู่ตำแหน่งพระบริหารการนิเทศก์ ประจำศูนย์อำนวยการพระสอนศีลธรรมทั่วภูมิภาค ผู้เข้าอบรมเรียนรู้แนวทางและบทบาทของพระบริหารการนิเทศก์ ผ่านการออกแบบโครงสร้างหลักสูตร (Road Map) สาระพระพุทธศาสนาฐานสมรรถนะและแผนการสอนสำหรับนำไปทดลองสอนให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6

ผู้เข้าอบรมได้ร่วมกันกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่พึงประสงค์ (Desired Outcomes of Education; DOE) ของนักเรียนจากการเรียนพระพุทธศาสนา และร่วมกันกำหนดร่างสมรรถนะผู้เรียน 5 สมรรถนะ ได้แก่ 1) สติ สัมปชัญญะ 2)สัมมาทิฏฐิ 3) ศรัทธาในความดีงาม ความจริง 4) ความมีฉันทะ 5) ความรัก ความเมตตา กรุณา

จากนั้นจึงนำไปออกแบบโครงสร้างหลักสูตรเป็นช่วงชั้น พร้อมกับจัดทำแผนการเรียนการสอนเพื่อนำไปทดลองสอนและประเมินในภาคการศึกษาที่ 1/2563 โดยรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม จะนำคณะนิเทศติดตามประเมินผลการทดลองดังกล่าว เพื่อให้พระสอนศีลธรรมผู้เข้าอบรมสามารถเป็นกำลังสำคัญในการขยายผลให้กับพระรุ่นต่อๆ ไป

คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ให้ความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า การอบรมในครั้งนี้เป็นตัวอย่างของ Transformative Learning ถ้าขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจริงได้จะเกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก พร้อมทั้งให้คำแนะนำถึงการพัฒนาหลักสูตรการสอนศีลธรรมสำหรับเด็กว่าควรเพิ่มความรู้เรื่องความพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ชุดหนังสือพระมหาชนก และปรับการเรียนธรรมะสำหรับเด็กยุคใหม่ให้สนุกโดยการนำบอร์ดเกมมาเป็นสื่อในการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้เข้าถึงตัวเด็กได้จริง

2.การออกแบบการเรียนการสอนแนวทาง “ชีวิตวิถีใหม่” จากสถานการณ์ของโรคโควิด-19

รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ได้มาสนทนาและให้ตัวแทนคณะครูทบทวนการทำงานด้วยโจทย์ว่า “การจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมา ตอบโจทย์เรื่องการสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้ที่เรียนรู้ด้วยตนเอง ภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือไม่” ทำให้คณะผู้บริหารและคณะครูได้ทบทวนว่าสิ่งที่เป็นข้อเด่นของรุ่งอรุณ และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จะเกิดการผสมผสานกันได้อย่างไร

กระบวนการค้นหาคำตอบทำให้เกิด New norm ที่ครูและผู้ปกครองต้องปรับบทบาทตนเอง และเปลี่ยน Mindset ที่จะช่วยกันทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน โดยมีครูและผู้ปกครองเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนให้สามารถนำการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self-directed Learner) เพื่อให้นักเรียนสามารถอยู่อย่างพึ่งพาตนเองได้ในโลกอนาคต

กระบวนการทบทวนมีทั้งการสนทนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เปิดโอกาสให้กลุ่มครูรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมเป็นแกนนำกับทีมบริหาร ได้มีการทบทวน School Concept ของทั้งโรงเรียน และ School Concept ของแต่ละระดับ กำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ (DOE) ให้ชัดเจน เพื่อเป็นทิศทางต่อไปในการออกแบบแผนการเรียนบนฐานสมรรถนะ ทั้งแผนการเรียนรู้ที่จัดส่งให้นักเรียนเรียนรู้ที่บ้าน และการเรียนรู้ที่นักเรียนจะมาเรียนที่โรงเรียน

ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของผู้เรียน (DOE) โรงเรียนรุ่งอรุณเมื่อจบการศึกษา ได้แก่

  1. มีความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง สติปัญญาและความดีงาม
  2. รู้จักให้ความหมาย เห็นความเชื่อมโยงและเข้าถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ
  3. เป็นผู้สร้างสรรค์และสานประโยชน์ในทุกสถานการณ์
  4. มีสติปัญญา มองเห็นความสัมพันธ์อย่างเป็นองค์รวม

คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ให้ความคิดเห็นโดยสรุปต่อประเด็นที่ 2 นี้ว่า โรงเรียนรุ่งอรุณได้ใช้วิกฤติมาเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างคุ้มค่ามาก เป็นการยกระดับการเรียนรู้ได้ทรงพลังยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งที่การเรียนรู้ของนักเรียนและครูในรูปแบบเดิมมีการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงแล้ว สิ่งที่คิดจะทำเป็นตัวสะท้อนถึง Growth Mindset ขององค์กรที่จะหาทางพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นวิธีการที่ทำให้สถานศึกษาได้พัฒนาไปอย่างตรงจุด และบอกให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งพบว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับทุกชีวิตในโรงเรียน