บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนประถม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เตรียมตัว…เตรียมใจกับลูกวัยประถม

เตรียมตัว… เตรียมใจกับลูกวัยประถม
คู่มือสำหรับผู้ปกครองเมื่อลูกขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑

เรียบเรียงข้อมูลโดย
ครูสกุณี บุญญะบัญชา /ครูชัชฎาภรณ์ ศิลปสุนทร/ครูนุชปวีณ์กร ดิลกภราดร/คุณ Herman Wassels

เมื่อออกจากรั้วอนุบาลที่เคยมีสายตาของผู้ใหญ่คอยเอาใจใส่ดูแล ให้พึ่งพิงสู่โลกกว้างของพี่ประถมที่ต้องช่วยตัวเอง อยู่กับกลุ่มเพื่อนและเรียนรู้วิชาการ เขาจึงจำเป็นต้องได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อ….

เป้าหมายที่จำเป็น

1. การสร้างความรู้สึกมั่นคง มั่นใจในการพึ่งพาตัวเองได้

2.การสร้างวินัย การทำตามกฎกติกาได้ด้วยตัวเอง

3. ความพร้อมของร่างกาย : ความคล่องแคล่วแข็งแรง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก

การสั่งการของระบบประสาทความรู้สึกและประสานสัมพันธ์ของร่างกาย ทักษะพื้นฐานในการใช้อุปกรณ์ (อาทิ ดินสอ กรรไกร เป็นต้น)

4. การเตรียมพร้อมพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ภาษา (การอ่าน การเขียน)

– การสร้างแรงจูงใจเรื่องภาษา

– ทำความเข้าใจความแตกต่างของเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม

ลักษณะของเด็กที่มีความพร้อมต่อการเรียนรู้

มีความสนใจในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซักถาม สนใจการอ่าน การจำคำศัพท์ มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องรอบตัวมากขึ้น มีความสามารถในการวาดภาพคนที่มีรายละเอียดของอวัยวะส่วนต่างๆได้ แบ่งสัดส่วนของภาพและตำแหน่งได้สมมาตร จับดินสอได้ถูกต้อง ถนัดมือ มีความคล่องแคล่วของร่างกายในการปีนป่าย ทรงตัว เคลื่อนไหวทิศทางต่างๆ รู้จักแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยด้วยตัวเอง มีการคิดวางแผน จัดลำดับความคิด ขั้นตอนด้วยตัวเองได้ ต้องการความท้าทาย งานที่ยากซับซ้อนขึ้น

ลักษณะของเด็กที่มีความไม่พร้อมต่อการเรียนรู้

ยังคงสนใจเฉพาะต่อการเล่น ไม่ค่อยคิดวางแผนหรือจัดการงานได้ตกๆหล่นๆ ไม่มั่นใจในตัวเอง เรียกร้องพึ่งพาผู้ใหญ่ การจับอุปกรณ์ จำพวก ดินสอ กรรไกร ได้ไม่ถนัด เส้นไม่มั่นคง วาดภาพเป็นเส้นยุ่งเหยิง มีแต่หัว หรือเป็นภาพแบบก้างปลา ไม่สามารถลงรายละเอียดปลีกย่อยได้ การเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว งุ่มง่าม ทรงตัวในที่สูงไม่ค่อยดี

คุณพ่อคุณแม่ต้องวางใจเป็นกลางมองลูกตามความเป็นจริงและลองเลือกกิจกรรมเพื่อการปูพื้นฐานทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญาให้พร้อมสู่การเรียนรู้ทีละนิด รวมถึงการสร้างความรู้สึกสนุกต่อการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในการเป็นพี่ประถม ๑ ด้วยความรู้สึกด้านบวก และคำนึงถึงความถนัด ความสนใจของเขา โปรดระวังความคาดหวัง ความกดดันจากทางบ้าน และการไม่ควรเลือกกิจกรรมที่จัดสำหรับเด็กที่ยังมีสัญญาณว่าไม่พร้อม ได้แก่ การเขียนพยัญชนะตามรอยประ การวาดเส้นตามรอยประที่เล็ก การฝึกให้เด็กทำกิจกรรมที่ยังมีความกลัว กังวลใจมากๆ เป็นต้น ครูมิได้คาดหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องปูพื้นฐานให้เด็กพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการเตรียมสู่พื้นที่การเรียนรู้ที่เขาก้าวไปต่อได้ด้วยตัวเอง

กิจวัตรประจำวัน

มีกิจวัตรที่ชัดเจน สม่ำเสมอ ปรับจังหวะเวลาให้ใกล้เคียงกับทางโรงเรียน โดยเฉพาะเวลานอน-ตื่นที่เหมาะสม

1. การเก็บและดูแลของใช้ของตัวเอง ได้แก่ การดูแลเสื้อผ้าตัวเอง (การแต่งตัว การซักถุงเท้า กางเกงใน การตากผ้า) การเก็บที่นอน การเก็บของเล่น

2. การช่วยงานส่วนรวมของบ้าน ได้แก่ การทำความสะอาด(เช็ดกระจก ขัดมุ้งลวด) การทำสวน(ขุดดิน พรวนดิน) การทำครัว (ใช้อุปกรณ์ต่างๆ การล้าง แกะเพื่อเตรียมอาหารสด)

การเล่น

1. การเล่นเพื่อเสริมความแข็งแรงคล่องแคล่วของร่างกาย มีทั้งการเล่นในบ้านและเล่นกลางแจ้ง เน้นการเคลื่อนไหว ออกแรง การเสริมสร้างทักษะความคล่องแคล่ว ได้แก่ หมากเก็บ อีตัก เลี้ยงบอลด้วยเท้า เลี้ยงบาสด้วยมือ ฯลฯ

2. การเล่นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ โดยมีพ่อแม่หรือกลุ่มเพื่อนร่วมเล่นด้วย เน้นความสำคัญที่การฟัง การทำตามกติกา การมีส่วนร่วม

การสร้างแรงจูงใจทางภาษา

สำหรับเด็กที่เริ่มมีความสนใจทางการอ่านและพยายามทำความเข้าใจสัญลักษณ์มีความพร้อมทางการเขียนอยู่เป็นพื้นฐานบ้าง ได้แก่

1. การเล่าหนังสือภาพที่มีตัวหนังสือใหญ่ ชัด พอที่เด็กอ่านตามได้ ช่วยชี้ไล่นิ้วเพื่อสร้างพื้นฐานการอ่านได้แก่ การเปิดจากหน้าไปหลัง อ่านจากซ้ายไปขวา อ่านจากบนลงล่าง

2. การวาดภาพ ระบายสี ทั้งวาดอิสระตามความสนใจ การวาดเพื่อสร้างบัตรอวยพร/จดหมายส่งถึงกัน

3. การมีแบบฝึกหัดเพื่อการเขียน ได้แก่ การลากเส้น ต่อจุดตามภาพ(ยังไม่ใช้ตัวพยัญชนะ) เล่นเกมลากเส้นเขาวงกต จับคู่เกมโยงภาพ

4. การอ่านหนังสือ ท่องคำอาขยาน บทกลอน เน้นการอ่านซ้ำ และเด็กสนใจ อ่านตามได้เอง

หมายเหตุ : การได้นั่งทำงานบนเก้าอี้ที่มีขนาดพอเหมาะและจัดท่านั่งที่เหมาะสมจะช่วยสนับสนุนความจดจ่อต่อเนื่องในการนั่งเขียน-อ่านเมื่ออยู่ชั้นประถมได้ดีขึ้น

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.