25ปีรุ่งอรุณ,  วิดีโอ,  ศิษย์เก่า,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เสวนาศิษย์เก่า: เมื่อฉุกคิด ชีวิตเปลี่ยน

เวทีเสวนา “รวมมิตรศิษย์รุ่งอรุณ เมื่อฉุกคิด ชีวิตเปลี่ยน” การสนทนาระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนรุ่งอรุณ ในงาน ๒๕ ปี โรงเรียนรุ่งอรุณ ครั้งที่ ๒ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ โรงเรียนรุ่งอรุณ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ ๒๕ ปี โรงเรียนรุ่งอรุณ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้

  • นายอภิสิทธิ์ พานสุกิจ (ฮิม) ศิษย์เก่ารุ่งอรุณรุ่นที่ ๑๓ (RA13)
  • นางสาวณภัทร ดีมั่นคงวณิช (เกท) ศิษย์เก่ารุ่งอรุณรุ่นที่ ๑๔ (RA14)
  • นายตรัยรัตน์ หาญทวีสมพล (ต้นสน) ศิษย์เก่ารุ่งอรุณรุ่นที่ ๑๙ (RA19)
  • นางสาวนโม โอประเสริฐสวัสดิ์ (นโม) นักเรียนชั้น ม.๕
  • นางสาวฟาติมา พรรณพูนศักดิ์ (ชิงชิง) นักเรียนชั้น ม.๖

ดำเนินการเสวนาโดยศิษย์เก่ารุ่งอรุณรุ่นที่ ๑๐ (RA10) นายพรรษ วติวุฒิพงศ์ (กุ๋ย)

ช่วงหนึ่งของการเสวนา กุ๋ยได้ถามรุ่นน้องว่า “อะไรที่ถูกบอกให้ทำ ซึ่งตอนเรียนเราไม่เข้าใจ แต่พอมองย้อนกลับไป แล้วเราเห็นคุณค่าของมัน?” เป็นคำถามที่ผู้ร่วมวงเสวนานิ่งคิดกันครู่ใหญ่ กุ๋ยซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการและเป็นพี่โตของวงสนทนานี้จึงขอตอบเป็นคนแรก

“เรื่องการนำเสนองาน ที่โรงเรียนเรานำเสนอกันเยอะมาก นำเสนอหน้าห้อง พูดหน้าเสาธง เด็กทุกคนต้องพูดหน้าเสาธง เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะครับ ไม่ใช่ทุกคนสามารถพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ได้ พูดร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ ได้ สมัยผมเรียนบางคนถึงกับร้องไห้ แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำสิ่งนี้ แต่ว่าเมื่อเรียนจบแล้วไปใช้ชีวิตจริง ถึงค้นพบว่าเป็นทักษะที่จำเป็นและสำคัญมาก การพูดกับคนเยอะๆ การเรียบเรียงความคิดของตัวเองออกมาให้รู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขอทุน ทำงาน นำเสนอโปรเจกต์ต่างๆ” กุ๋ย-พรรษ วติวุฒิพงศ์ RA10

จากนั้นรุ่นน้องคนอื่นๆ ในวงจึงทยอยตอบความนึกคิดของตนออกมา

ฮิม-อภิสิทธิ์ พานสุกิจ RA13 บอกว่าสำหรับตนแล้วคือการที่โรงเรียนให้นักเรียนสะท้อนตนเองหลังจากทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ อยู่เสมอ ด้วยคำถาม รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร และได้เรียนรู้อะไร หรือได้ก้าวข้ามอะไรในตัวเองไปบ้าง ซึ่งตอนนั้นไม่เข้าใจว่าครูให้ทำทำไม ตนยังแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าความคิดกับความรู้สึกต่างกันอย่างไร แต่พอทำกระบวนการนี้ซ้ำๆ มาเรื่อยๆ ถึงได้เข้าใจว่าความคิดกับความรู้สึกนั้นต่างกัน และรู้ความหมายของการสะท้อนตนเองว่าทำให้ตนมองเห็นตัวเอง ทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ต้องแก้ไข

“สุดท้ายผมยอมรับตัวเองได้ว่า จริงๆ แล้วเราเป็นคนประเภทนี้ เป็นคนประเภทที่ในอดีตเราเองก็ไม่ชอบ แต่ทำไมเราถึงเป็นก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้ว ณ วันที่เรายอมรับตัวเองได้ ผมรู้สึกว่าอันนั้นคือโจทย์ข้อหนึ่งที่โรงเรียนมักจะถามอยู่เสมอว่า เราก้าวข้ามอะไรในตัวเองหรือยัง หรือว่าได้ไหม ซึ่งวันนั้นผมรู้ว่าอย่างน้อยผมยอมรับได้ว่าปัญหามีอยู่จริง ตัวผมมีปัญหาอยู่ เมื่อเรายอมรับได้ ผมคิดว่ามันน่าจะมองเห็นหนทางที่เราจะไปต่อเองได้” ฮิม-อภิสิทธิ์ พานสุกิจ

สำหรับเกท-ณภัทร ดีมั่นคงวณิช คือคำถาม “เพื่ออะไร” ที่ครูมักจะถามกลับมาเวลานักเรียนไปขอคำแนะนำและนำเสนอแนวคิดการจัดงานต่างๆ เช่น งานไหว้ครู งานแสดงละครปีสุดท้าย ซึ่งตอนนั้นตนรู้สึก “หงุดหงิดมากเลยค่ะ” เพราะใจมีแต่ความอยาก อยากทำ อยากสนุก อยากให้งานออกมายิ่งใหญ่ โดยไม่ได้คิดถึงคุณค่าของงานนั้นจริงๆ แต่คำว่าเพื่ออะไรของครูนี้ ช่วยให้ตนมองออกไปไกลกว่าความอยากของตัวเอง แล้วมองลึกลงไปว่าเราจะทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่น แม้เมื่อเรียนจบแล้วไปทำงาน ตนก็ยังใช้คำถาม “เพื่ออะไร” นี้ในการดูแลและจัดการกับใจตัวเองเวลาเผชิญอุปสรรคต่างๆ

“สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวคือการนั่งสมาธิ แต่พอโตขึ้นได้เจอกับปัญหาหลายๆ อย่างที่ถาโถมเข้ามา มันจะมีบางช่วงของชีวิตที่เรามีเรื่องต่างๆ มีเดดไลน์ มีเส้นตายอยู่ตรงหน้าของงานแต่ละชิ้นนั้น เรารู้สึกเป็นกังวล รู้สึกว่าไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เราจะเริ่มตรงไหนดี ซึ่งการทำสมาธิทำให้เวลาเราเจอปัญหาพวกนี้ มันผ่านไปได้ง่ายขึ้น เพราะหลายครั้งที่เราเจอปัญหาที่ล้อมเราเข้ามา แล้วเราไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เราก็แค่หยุด แล้วก็หายใจ และไปต่อ แล้วสุดท้ายมันก็ผ่านมาได้ครับ” ต้นสน-ตรัยรัตน์ หาญทวีสมพล

“เป็นคนที่ไม่ชอบพูด เป็นเด็กเงียบๆ แล้วก็ไม่เคยพูดอะไรออกมาในวงสนทนาของห้อง แต่คุณครูชอบถามให้พูด ให้ตั้งคำถาม ให้สะท้อน ตอนเด็กเครียดมากที่จะต้องพูดหรือว่าต้องนำเสนออะไรสักอย่างหนึ่งต่อหน้าเพื่อนๆ ในห้อง ซึ่งทั้งห้องก็มีแค่ 20 กว่าคน ไม่เข้าใจว่าตัวเองจะเครียดอะไรขนาดนั้น พอไปคุยกับเพื่อนทุกคน ส่วนใหญ่เพื่อนก็จะเป็นเหมือนกัน รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก จนพอโตขึ้นมา ก็เริ่มพูดได้มากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าตอนนี้ในห้องแทบจะพูดกันได้หมดเลยโดยที่ไม่ต้องเตรียมอะไรกันก่อน ทุกคนสามารถจับประเด็นและสะท้อนกลับมาได้เรื่อยๆ เวลาที่ทำงานแล้วมีการสะท้อนจะชอบมาก เพราะมันทำให้เราได้เห็นมุมมองของเพื่อนคนอื่น แล้วรู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์ทั้งตัวเรา ทั้งกับเพื่อนในห้องทุกคนด้วยค่ะ” นโม โอประเสริฐสวัสดิ์

“สำหรับหนูอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ นะคะ มันคือเรื่องการพิจารณาอาหาร ถึงทุกวันนี้หนูก็ยังไม่รู้จุดประสงค์ที่แท้จริงของมัน ว่าทำไมต้องพิจารณาอาหารก่อนกินข้าว เวลาเราจะกินอาหาร เราหิว เราอยากกินก็พอแล้ว หนูอยู่บ้านหนูก็ไม่ต้องพิจารณาอาหาร ก็กินได้เลย แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งหนูกลับมาคิดว่า การที่เราต้องมานั่งพิจารณาอาหารมันคือการหยุด คือเรากลับมาจากการเรียนอะไรก็ไม่รู้มากมายมาทั้งวัน แล้วเราก็หยุด หยุดคิด หยุดทุกอย่าง หยุดก่อน แล้วค่อยกินข้าว การพิจารณาอาหารคือการพิจารณาสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา กลับมาอยู่กับปัจจุบันค่ะ” ชิงชิง-ฟาติมา พรรณพูนศักดิ์

:: งาน ๒๕ ปี โรงเรียนรุ่งอรุณ ครั้งที่ ๒ จัดร่วมในเวทีเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างออนไลน์ ครั้งที่ ๔ : โรงเรียนรุ่งอรุณ ภายใต้โครงการครูเพื่อศิษย์ฯ ปี ๒ สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยากัมมาจล