ศ.กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ “มองอนาคตการศึกษาไทย วิถีการเรียนรู้สู่ปัญญา”
ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวในเวทีเสวนา “มองอนาคตการศึกษาไทย วิถีการเรียนรู้สู่ปัญญา” ร่วมด้วยศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช กรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ นายพัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ศิษย์เก่ารุ่งอรุณรุ่นที่ ๕ และนายพรรษ วติวุฒิพงศ์ ศิษย์เก่ารุ่งอรุณรุ่นที่ ๑๐ ดำเนินการเสวนาโดยคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ในงาน “ย้อนหยั่งรากลึก วิถีการเรียนรู้สู่ปัญญา ๒๕ ปี โรงเรียนรุ่งอรุณ” งานระลึกคุณครูบาอาจารย์ผู้ร่วมก่อตั้ง เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปี โรงเรียนรุ่งอรุณเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ณ เรือนรสิกคาม โรงเรียนรุ่งอรุณ
“เวลาที่เราพูดถึงแหล่งเรียนรู้ เราจะไม่พูดถึงห้อง เราจะไม่พูดถึงโรง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงแหล่งเรียนรู้ เราต้องทลายฝา ทลายกำแพงของห้อง ของโรงต่างๆ เพราะฉะนั้นเราจึงมีห้องเรียนไม่ได้แล้ว แต่เรามีแหล่งเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ภาษาอังกฤษคือ Open Classroom”
“ตอนที่คุณประภาภัทรกับคุณธีรพล ไปบอกว่าอาจารย์เราจะตั้งโรงเรียน ดิฉันก็มาดู ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่ต้นไม้ ดิฉันก็ได้เรียนรู้จากอาจารย์ประภาภัทรกับอาจารย์ธีรพล ว่าถ้าเราจะทำแหล่งเรียนรู้ อย่าไปเริ่มต้นด้วยการสร้างฝา อย่าเริ่มต้นด้วยการกั้นห้อง สุมนก็ไม่เข้าใจ เพราะถ้าเราจะสร้างโรงเรียน เราต้องสร้างตึกก่อนใช่ไหม เอ๊ะ มันเป็นอย่างไร เราเป็นคนรุ่นเก่า ดิฉันก็ได้เรียนรู้จากรุ่งอรุณ ในที่สุดก็ได้เรียนรู้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งตั้งมหาวิทยาลัย ก็ไม่มีอะไรอีกค่ะ เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีฝาอีกเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นในโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดกว้าง แต่เป็นการเปิดกว้างอย่างมีหลักการ มีกระบวนการ มีขั้นตอน โดยที่ไม่ต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ครูทุกคนได้รับการเทรนหรือได้รับการฝึก ให้จัดการเรียนการสอนอย่างมีขั้นตอน อย่างมีกรอบ แต่ไม่ต้องบอก จะเรียนรู้เอง”
“การที่จะหาหลักของรุ่งอรุณ ต้องดูจากการกระทำเท่านั้น ต้องดูจากการเรียนรู้ของเราส่วนหนึ่ง กับการที่ผู้บริหารวางหลักการให้ครูทำส่วนหนึ่ง ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไมโรงเรียนรุ่งอรุณสนิทสนมกับผู้ปกครองนัก เพราะปกติโรงเรียนทั่วไปไม่ค่อยสนิทสนมกับผู้ปกครอง แต่ที่นี่ผู้ปกครองเป็นเสมือนหนึ่งเจ้าของโรงเรียนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน สุมนได้เรียนรู้จากรุ่งอรุณเยอะมาก การที่ได้ไปเผยแพร่หลักการต่างๆ ในประเทศไทย ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งเรียนรู้จากการมาช่วยงานที่รุ่งอรุณ เรียนรู้หลักของกัลยาณมิตร เรียนรู้หลักจากการวัดและประเมินที่ไม่ใช่ข้อเขียน เรียนรู้หลักการที่ไม่ให้นักเรียนต้องแต่งเครื่องแบบ แต่นักเรียนมีระเบียบวินัย แม้แต่การที่มีหนังสืออ่านสำหรับเด็ก ดิฉันจะเข้าร้านหนังสือ (สานอักษร)ตลอด เพราะว่ามีหนังสือสำหรับเด็กที่ดีมากๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อเขียน แต่เป็นสิ่งที่ผู้จบจากรุ่งอรุณได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ”
“ขอพูดถึงการทำงานของคุณประภาภัทรกับคุณธีรพล ทั้งสองท่านนี้ Transform โดยเข้าถึง เข้าใจ เข้าถึงลูกศิษย์ทุกคน เข้าใจลูกศิษย์ทุกคน เสร็จแล้วพากเพียร พัฒนา โดยถือว่าศิษย์ทุกคนมีคุณค่า ศิษย์ทุกคนเป็นคนที่มีค่า ไม่ใช่ว่าเธอนี่โง่ โตมาไปขายกล้วยแขก มีครูพูดเช่นนี้ เพราะฉะนั้นดิฉันก็ได้เรียนรู้จากทั้งสองท่านนี้เช่นเดียวกัน”
“ตอนนี้สุมนสรุปได้ว่า หัวใจของคนที่เป็นครู หัวใจของคนที่เป็นหัวหน้างาน หนึ่ง มีหัวใจเพชร หัวใจเพชรเป็นหัวใจที่เด็ดเดี่ยวดั่งเพชร มีคุณค่าในตัวเองดั่งเพชร เป็นหัวใจที่เป็นหัวใจแก้ว หัวใจแก้วเป็นหัวใจที่งดงาม ใสสะอาด เป็นหัวใจที่มั่นคง เที่ยงตรง ประดุจทองคำ และหัวใจของครู หัวใจของคนหน้างาน ชื่นบานเสมอ ดังมรกต เขียวขจีอยู่เป็นนิจ ไม่เหี่ยวแห้งโรยรา หัวใจของครู เป็นหัวใจเพชร หัวใจแก้ว หัวใจทองคำ และหัวใจมรกต”
ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ