25ปีรุ่งอรุณ,  รศ.ประภาภัทร นิยม,  วิดีโอ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

สนทนาใต้ร่มไม้กับ รศ.ประภาภัทร นิยม ตอนที่ ๑ “ความรู้ที่เกิดกับผู้เรียน ต้องเป็นความรู้มือหนึ่ง”

ในช่วงบ่ายวันอังคารที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ในงาน “ย้อนหยั่งรากลึก วิถีการเรียนรู้สู่ปัญญา ๒๕ ปี โรงเรียนรุ่งอรุณ” รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้มาสนทนาใต้ร่มไม้กับครูและบุคลากร ร่วมด้วยนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ถึงเป้าหมายการจัดการศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนไปสู่ปัญญา บรรลุศักยภาพสูงสุดสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ขอนำการสนทนาในวันนั้นมาแบ่งปันกับกัลยาณมิตรทุกท่าน โดยตัดแบ่งเป็นตอนสั้นๆ ๕ ตอน เริ่มตอนแรกกับคำถามจากครูน้องใหม่ “ครูวรชาภา บรรยงคิด (ครูแฟร์)” ที่ว่า ผ่านมา ๒๕ ปี โรงเรียนรุ่งอรุณในวันนี้ เหมือนที่อาจารย์คิดไว้ในตอนเริ่มก่อตั้งโรงเรียนหรือไม่ อย่างไร

“อาจารย์เป็นสถาปนิก เราเลยมีแนวคิดในการออกแบบ คือ เราสามารถออกแบบได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกายภาพ และเรื่องที่จับต้องไม่ได้ทั้งหลาย (Intangible issue) เราจะออกแบบในเชิงแนวความคิด (Concept) ออกแบบว่ามนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร เราพยายามหยิบเป้าหมายนี้ให้ชัดตั้งแต่ต้น แต่ว่าในระหว่างทางหรือว่าตั้งแต่เริ่มต้น การเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร วิธีการจะใช้อะไร เราไม่สามารถคิดล่วงหน้าได้ ก็เหมือนกับพวกเราเวลาออกแบบแผนการเรียนการสอน เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่วิธีการบางทีเราต้องลองทำแล้วค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหน้าตาจะผิดแผกแตกต่างไปตามยุคสมัย ไปตามผู้คนที่เข้ามา แล้วก็วิธีคิดของครู ผู้ปกครอง ที่เป็นเงื่อนไขให้การดำเนินงานของเราต้องปรับตัวอยู่เรื่อยๆ รุ่งอรุณปรับตัวอยู่ตลอดเวลา คุณครูจะได้รับ message ใหม่ๆ ทุกปี แรกๆ ครูไม่คุ้นก็จะหงุดหงิดเหมือนกัน เอ้า! เปลี่ยนอีกแล้วหรือ เป้าหมายไม่เปลี่ยน แต่วิธีการเปลี่ยน

“เราชัดเจนว่า เราสอนโดยเน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่วิธีการไม่ใช่วิธีการแบบ Passive ไม่ใช่แบบป้อน ชัดเจนมาตั้งแต่แรกแล้ว ตอนที่เราไปทดลองแรกๆ เรามองในประเด็นนี้ มีจุดเพ่งมองอยู่ในประเด็นนี้ แล้วก็ดูที่อาการของผู้เรียนที่เกิดขึ้น ว่าเขารับรู้ด้วยตัวเขาเองจริงหรือเปล่า ช่วงนั้นเรามีสโลแกนที่พูดกันว่า ความรู้ที่เกิดกับผู้เรียนต้องกลายเป็นความรู้มือหนึ่งของเขา  ไม่ใช่การคัดลอก (Copy) ความรู้ของครู อันนี้เป็นความรู้มือสอง ถูกไหม แล้วก็อาจจะเป็นมือสาม มือสี่แล้วก็ได้นะ เพราะที่ครูเอามาสอนก็ไม่ใช่ความรู้มือหนึ่งของครู ครูก็ไปเอามาจากไหนอีกทีก็ไม่รู้ แล้วความรู้พวกนี้พ้นสมัยเร็วมาก”

“ในเมื่อไม่ใช่ความรู้มือหนึ่งที่เอามาสอนนักเรียน ก็ทำให้เป็นความรู้ไม่รู้มือที่เท่าไรอยู่ที่นักเรียน โอกาสที่เขาจะเอาไปใช้ได้จริงน้อยมาก เพราะเขาไม่เข้าใจ เขาจับมันไม่ได้ เขาไม่รู้ว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร เขาก็ใช้ไม่ถูก เหมือนเราได้เครื่องมือมาใหม่ เราไม่รู้จักมันเลย เราก็ใช้ไม่เป็น มันไม่ใช่ความรู้ของเรา ต่อเมื่อเราได้ทดลองอยู่กับมันสักพักหนึ่ง เดี๋ยวนี้เด็กเขาไม่ต้องมี Instruction เขาก็ใช้ได้เลย เขาก็อยู่กับมันสักพักหนึ่ง จนกระทั่งเขามีความรู้มือหนึ่งของเขา เขาก็ใช้มันได้ เขาก็ค้นหาเข้าไปตรงนั้นตรงนี้ แอปนั้นแอปนี้ เอาจนได้ จนกลายเป็นความรู้มือหนึ่ง เพราะฉะนั้น รุ่งอรุณก็ชัดเจนแบบนั้น”