การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

เล่นสร้างสรรค์ สร้างความสัมพันธ์

เด็กๆ กลุ่มหนึ่งเดินลากกาบหมากที่ร่วงลงมาจากต้นหมากไปทั่วสนามเด็กเล่น คุณครูชวนเด็กๆ เล่นรถลากกาบหมากด้วยกัน เด็กคนหนึ่งนั่งบนโคนกาบหมาก เด็กที่เหลือจับก้านกาบหมากแล้วช่วยกันลากกาบหมาก แต่กาบหมากกลับไม่ขยับ เด็กๆ จึงชวนเพื่อนมาช่วยกันลากกาบหมากเพิ่ม แต่ดึงเท่าไรกาบหมากก็ยังไม่ขยับเหมือนเดิม คุณครูขอเด็กๆ ลากกาบหมากด้วยอีกคน รถลากกาบหมากจึงเริ่มขยับและออกวิ่งวนไปรอบสนามเด็กเล่น เด็กคนอื่นๆ สนใจ วิ่งตามลุ้นให้กำลังใจ และขอมาเล่นรถลากกาบหมากด้วย

เด็กๆ ผลัดเปลี่ยนกันเป็นคนนั่งและคนลาก วิ่งลากกาบหมากไปมาบนพื้นสนามเด็กเล่นที่มีทั้งส่วนที่เป็นพื้นหญ้าและส่วนที่เป็นพื้นทราย เสียงหัวเราะของเด็กๆ ดังไปทั่วสนามเด็กเล่น เด็กๆ ชวนคุณครูสลับมาเป็นคนนั่งแล้วให้เด็กๆ ช่วยกันลากบ้าง แต่ด้วยคุณครูออกแรงลากกาบหมากจนเหนื่อยจึงขอไปพักก่อน

เด็กๆ ชวนคุณครูอีกคนมาเป็นคนนั่งบนกาบหมาก แล้วช่วยกันลากกาบหมากด้วยจำนวนเด็กๆ ที่มีทั้งหมดตรงนั้น แต่แรงของเด็กๆ ยังไม่สามารถลากกาบหมากที่มีคุณครูนั่งอยู่ได้ คุณครูที่ยืนดูอยู่ใกล้ๆ และคุณครูที่ไปพักก่อนหน้านี้เข้ามาขอร่วมลากกาบหมากกับเด็กๆ คราวนี้กาบหมากที่มีคุณครูนั่งอยู่จึงสามารถเคลื่อนไปได้ เด็กคนหนึ่งนึกสนุกขอขึ้นไปนั่งบนกาบหมากกับคุณครูที่เป็นคนนั่งด้วย คุณครูและเด็กๆ ที่เป็นคนลากจึงต้องออกแรงดึงเพิ่มขึ้นอีก ทุกคนออกแรงดึง พร้อมส่งเสียงร้องเป็นจังหวะ “เอ้า ฮุย เล ฮุ่ย เอ้า ฮุย เล ฮุ่ย” เหมือนกับนิทานตั้งโต๊ะเรื่อง “หัวผักกาดยักษ์” ที่เด็กๆ เคยได้ฟังจากคุณครู เรื่องราวเล่นรถลากกาบหมากในวันนั้นยังเป็นที่พูดถึงของเด็กๆ และคุณครู เป็นเรื่องราวที่ทุกคนประทับใจ พูดถึงเมื่อไรก็มีแต่รอยยิ้มและความสุขของทุกคน

การหยิบจับธรรมชาติรอบตัวมาเล่นสนุกร่วมกับเด็กๆ อย่างเช่นการเล่นรถลากกาบหมากนั้นเป็นการเชื่อมเด็กๆ เข้ากับโลกผ่านการเล่น เป็นเรื่องจริงที่ท้าทายให้เด็กๆ มาประลองกำลังและความสามารถ ทดสอบมือและขาของตัวเอง ซึ่งในวัยอนุบาลมือเป็นจุดสัมผัสที่มีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการ ยิ่งได้ใช้มือจับสัมผัสก็ยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ อีกทั้งการได้เล่นร่วมกันยังเป็นการเปิดพื้นที่จินตนาการให้เด็กได้คิด ทดลอง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าไปพร้อมกับพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เบ่งบาน ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ ด้วยกันเอง และความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ กับคุณครู ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากคนที่โตกว่า เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง

การเล่นเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของเด็ก ช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการในทุกด้านไปพร้อมกัน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ขณะเล่นเด็กจะรู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย มีความสุขกับการได้ทดลองใช้ร่างกาย และความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองทำสิ่งต่างๆ ยิ่งได้สะสมประสบการณ์จากการเล่น เด็กก็ยิ่งได้เรียนรู้ตัวเองในหลากหลายด้าน ทำให้เด็กเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้การเล่นยังเป็นตัวช่วยสร้างความสัมพันธ์ เป็นโอกาสให้เด็กและครูได้เรียนรู้กัน ครูได้แสดงตัวตนจริงในหลายมิติ เกิดความวางใจซึ่งกันและกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติ

:: “เรื่องเล่าจากห้องเรียน” โดย ครูแพรว-พิมพ์ชนก นิยมาภา ครูกิฟท์-จิรัชญา คำวงษา ครูเจมส์-James T.Joseph ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ