การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  ภาคสนาม,  โรงเรียนประถม

เรียนรู้หัวใจคนไทยกู้ชาติ ภาคสนาม ชั้น.๓

เรียนรู้หัวใจคนไทยกู้ชาติ
ภาคสนามชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก
วันที่ ๑๗-๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๖

“มันเจ๋งมาก”
“มันสุดยอดมาก”
“ผมทำได้แล้ว”
“ไม่คิดเลยว่าจะทำได้”
“รู้สึกตัวเองเท่มากเลย”

เสียงสะท้อนบางส่วนของนักเรียนชั้น ป.๓ จากการออกภาคสนามเผชิญความท้าทายในค่าย “เรียนรู้หัวใจคนไทยกู้ชาติ” ๒ วัน ๑ คืน ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

หน่วยบูรณาการคุณค่าสู่ชีวิตชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ หัวข้อ “นักสืบธนบุรี ตามรอยความดีพระเจ้าตากสินมหาราช” เดินทางมาถึงช่วงท้ายของปีการศึกษา หลังจากนักเรียนออกภาคสนามตามรอยจากสถานที่จริงที่มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แก่ วัดอรุณ พระราชวังธนบุรี จนไปสิ้นสุดที่วัดอินทราราม นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีและถอดรหัสคุณลักษณะอันเป็นแบบอย่างของพระองค์ในด้านของการเป็นผู้นำ มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว และที่เด่นชัดคือพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง

วันที่ ๑๗-๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๖ นักเรียนออกเดินทางตามรอยพระเจ้าตากสินมหาราชกันต่อในด่านสุดท้ายที่ถือเป็นไฮไลท์ของหน่วยการเรียนรู้ กับการเข้าค่าย “เรียนรู้หัวใจคนไทยกู้ชาติ” ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ที่มีเป้าหมายให้เด็กๆ ได้ฝึกดูแลและจัดการตนเอง ฝึกทักษะจากการเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน  และที่สำคัญคือการเรียนรู้และฝึกฝนตนเองจากบุคคลต้นแบบซึ่งมีความเสียสละ อดทน และประพฤติตนมีระเบียบวินัยอย่างเหมาะสม โดยก่อนออกภาคสนาม เด็กๆ ได้ตั้งเป้าหมายของการ “ตามรอยหัวใจคนไทยกู้ชาติ” ของตนเองคนละ ๑ ข้อ  เพื่อนำไปฝึกฝนเอาชนะใจตนเองในการเข้าค่ายครั้งนี้

“ผมจะดูแลตัวเองและจะช่วยเหลือเพื่อน”
“หนูจะฝึกอดทน และไม่บ่นเวลาเจอกับปัญหา”
“ต้องรับผิดชอบตัวเองและเห็นแก่ส่วนรวม”

เป้าหมายที่ตั้งไว้และระบุออกมาเป็นโจทย์ให้นักเรียนฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเตรียมตัวออกภาคสนาม เริ่มต้นขั้นตอนแรกด้วยการสังเกตความรู้สึกต่างๆ ของตนเอง เช่น ความกังวล ความกลัว ความสงสัย ความตื่นเต้น ความท้าทาย รวมถึงการวางใจที่จะอยู่ร่วมกันกับคนอื่นตลอด ๒ วัน ๑ คืน ซึ่งเด็กๆ ต้องดูแลและรับผิดชอบตนเองตั้งแต่การเตรียมตัวจัดกระเป๋าสัมภาระด้วยตัวเอง เป็นโจทย์ที่ครูวางไว้เพื่อฝึกให้เด็กๆ จดจำว่าของชิ้นใดเป็นของตนและสามารถดูแลจัดเก็บเมื่อใช้เสร็จด้วยตัวเองได้โดยไม่มีใครช่วยเหลือ เป็นสถานการณ์ที่ต้องเริ่มจัดการตัวเองตั้งแต่ยังไม่ได้ออกภาคสนาม ซึ่งเด็กๆ หลายคนสะท้อนว่าไม่เคยจัดกระเป๋าเวลาไปค้างต่างจังหวัดด้วยตัวเองเลย นี่เป็นครั้งแรกที่หยิบของทุกชิ้นเข้ากระเป๋าเองโดยไม่ต้องให้แม่ช่วยเหลือ นับเป็นความภูมิใจก้าวแรกก่อนออกภาคสนามของเด็กๆ

เช้าวันเดินทาง การเรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองเริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อต้องออกไปค้างแรมที่อื่น ห่างจากพ่อแม่ ต้องดูแลจัดการตนเองตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เป็นความท้าทายใหม่ของนักเรียนชั้น ป.๓ ที่ต้องวางจิตวางใจเพื่อพร้อมก้าวออกไปเผชิญกับเรื่องต่างๆ ต่อไปได้

ก้าวแรกที่เข้าไปถึงโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดนครนายก คณะครูฝึกและพี่ๆ ทหารต้อนรับเด็กๆ ด้วยพลังเสียงสั่งจัดแถวที่เข้มแข็ง เป็นการเรียกพลังของเด็กๆ ให้ตื่นตัวพร้อมฝึกฝน เพียงช่วงเวลาอันสั้นแถวก็ออกมาเป็นระเบียบได้โดยไม่ต้องบอกซ้ำ ถึงแม้เด็กๆ ทุกคนจะฝึกฝนเรื่องของการจัดระเบียบแถวมาจากที่โรงเรียน แต่เมื่อมาเจอบริบทจริง คนจริง สถานการณ์จริง เด็กๆ จึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ ได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม

กิจกรรมในฐานต่างๆ ที่ครูฝึกจัดเตรียมไว้สำหรับเด็กๆ มีทั้งความสนุกสนานจากกิจกรรมนันทนาการที่ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ทั้ง ๑๒๑ คน ให้มากกว่าที่เคยรู้จัก ได้รู้จักครูฝึก และพี่ๆ ทหาร ทำให้เด็กๆ ลดความกังวลและความกลัวพี่ทหารไปได้มาก

“พี่ๆ เข้มแข็งแต่ก็ใจดี”
“พี่ๆ เสียงดังแต่ก็ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี”

ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมนันทนาการ นอกจากความสนุกสนานที่เกิดขึ้นแต่เรื่องระเบียบวินัยก็ยังเป็นสิ่งที่พี่ๆ แสดงให้เห็นควบคู่ไปด้วยอยู่ตลอดเวลา ทำให้เด็กๆ เข้าใจได้ว่าทุกคนล้วนมีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ในการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ จึงต้องมีกฎระเบียบเพื่อทำให้เราทุกคนอยู่ร่วมกันได้ดี

กิจกรรม Walk Rally ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนตนเองในหลายๆ ด้าน เช่น ฝึกสู้กับความยากลำบาก ฝึกภาวะการเป็นผู้นำและผู้ฟังที่ดี สำคัญที่สุดคือฝึกการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ดูแลซึ่งกันและกัน ทุกคนช่วยกันประคับประคอง หยิบยื่นความช่วยเหลือและความเห็นใจให้แก่กันขณะทำกิจกรรม โดยแต่ละฐานที่ครูฝึกออกแบบมาล้วนมีโจทย์ของการเผชิญที่ต่างกัน เด็กๆ หลายคนกังวลใจและกลัวจะทำไม่ได้ แต่สิ่งที่เด็กๆ แสดงออกมาให้ครูและครูฝึกเห็นคือการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน คอยเชียร์เพื่อนให้ทำให้ได้ บางคนทำเป็นตัวอย่าง บางคนคอยพยุง คอยผลัก คอยดัน ไม่มีการว่ากล่าวหรือตำหนิในสิ่งที่เพื่อนไม่ถนัด เข้าใจ พร้อมเผชิญข้อติดขัดและหาทางแก้ไขไปด้วยกัน จนเกิดเป็นภาพความสำเร็จในการทำภารกิจในฐานต่างๆ จากการก้าวข้ามอุปสรรค ความกลัว ความไม่มั่นใจภายในใจของตนเอง เด็กๆ ได้เรียนรู้ทั้งการเผชิญต่อจิตใจที่หวาดกลัวและการใช้ร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อประสบความสำเร็จในแต่ละทีมจึงส่งเสียงเฮแห่งความภาคภูมิใจร่วมกัน ก่อเกิดเป็นพลังกลุ่มที่จะพากันทำฐานต่อ ๆ ไปได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้ฝึกดูแลกิจวัตรของตนเองทั้งการกิน การอยู่  การใช้ห้องน้ำ การอาบน้ำ การนอน ในสถานที่ใหม่ๆ ที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตของตนเองให้ได้

การเข้าค่ายในครั้งนี้ถือเป็นสนามทดสอบเล็กๆ ที่เด็กๆ ได้เข้าใจถึงหัวใจของผู้เสียสละ เรียนรู้คุณลักษณะอันเป็นแบบอย่างของบุคคลต้นแบบเพื่อนำมาปรับใช้กับชีวิต และสิ่งสำคัญคือการเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการเอาตัวเองไปเผชิญกับสถานการณ์ แล้วกลับมาย้อนมอง เพื่อถอดรหัส “หัวใจคนไทยกู้ชาติ” ด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเด็กๆ ได้พิสูจน์ศักยภาพของตนเองที่มีมากกว่าที่ตนคาดไว้ เป็นพี่ใหญ่ของชั้นประถมต้นอย่างองอาจ และมีใจที่พร้อมจะก้าวไปสู่การเป็นพี่ประถมปลายได้อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่สร้างขีดจำกัดให้ตัวเอง พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่อยู่ข้างหน้าได้ต่อไป

:: เล่าเรื่องโดย: คณะครู ป.๓ และ EP3