P8130360
บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เหลียวหลังแลหน้า วาระ ๑๖ ปี รุ่งอรุณ

P8130360วันที่ ๑๒-๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา โรงเรียนรุ่งอรุณจัดการประชุมในวาระ “๑๖ ปี รุ่งอรุณ” เพื่อทบทวนถึงสภาวะสังฆะของรุ่งอรุณ นับแต่วันเริ่มต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แล้วกำหนดทิศทางก้าวเดินในอนาคตของรุ่งอรุณ โดยมีผู้บริหารและตัวแทนครูโรงเรียนเล็ก โรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม และตัวแทนส่วนสนับสนุน เข้าร่วมการประชุม

ในการประชุมครั้งนี้ได้แบ่งโรงเรียนรุ่งอรุณออกเป็น ๓ ยุคสมัย คือ รุ่งอรุณยุคต้น (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๕) รุ่งอรุณยุคกลาง (พ.ศ.๒๕๔๖-๒๕๕๐) และรุ่งอรุณยุคปัจจุบัน พ.ศ.(๒๕๕๑-๒๕๕๖) เพื่อหาเอกลักษณ์-อัตลักษณ์ของรุ่งอรุณในแต่ละยุคสมัย แล้วกลั่นออกมาเป็นเอกลักษณ์-อัตลักษณ์แท้ของโรงเรียนรุ่งอรุณ

โจทย์ครั้งนี้ได้พาผู้บริหาร ครู และบุคลากรที่อยู่กับรุ่งอรุณมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ได้ย้อนความทรงจำถึงรุ่งอรุณในวันวานที่บางเรื่องอาจลืมเลือนไปแล้ว แต่เมื่อใครคนหนึ่งเอ่ยถึง ภาพความสุขในวันนั้นก็กลับมาฉายชัดอีกครั้ง ทำให้ได้เห็นการก้าวเดินของโรงเรียนรุ่งอรุณนับจากปีแรกจนกระทั่งปัจจุบัน ที่ค่อยๆ เติบโตและปรากฏเป็นเอกลักษณ์-อัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุค เช่น ยุคแรก ยุคแสวงหาความหมายของการศึกษา, รุ่งอรุณที่ยังเล็กๆ ไม่มีอะไรเป็นระบบแน่นอน ทุกอย่างทดลองกันไป, มีการเข้าร่วมปฏิบัติธรรม, โยนิโสมนสิการ (ตรึกตรอง มองลึก ฝึกตน), บูรณาการทุกหน่วยวิชา ฯลฯ ยุคกลาง หน่วยการเรียนบูรณาการเริ่มมีทิศทาง, มีความเชื่อมโยงของสาระ/กระบวนการ/ผล/คุณค่า, โครงการของเสียเหลือศูนย์, การแยกขยะ, เครื่องแบบครูผู้หญิงคือผ้าถุง ย่าม ๑ ใบ ผ้าพันคอ ๑ ผืน ฯลฯ ยุคปัจจุบันแนวปฏิบัติธรรมชัดเจนมากขึ้น, มีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามา เช่น BBL, Waldorf, Project-based learning, Reggio Emilia, ใช้ปัญหาสังคมเป็นโจทย์การเรียนรู้, เพิ่มวิชาทักษะให้นักเรียนได้ใช้ชีวิต, ภาคสนามสู่ความเป็นจริงของชีวิต ฯลฯ 

P8120226 P8120274 P8120223
P8120272 P8130339 P8120271

จากการย้อนมองรุ่งอรุณในแต่ละยุคสมัย ทุกคนได้นำจุดเด่นของแต่ละยุคมาร่วมกันอภิปรายแล้วกลั่นออกมาเป็นเอกลักษณ์-อัตลักษณ์แท้ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ๓ ประการ ดังนี้

บูรณาการที่เปรียบดังลมหายใจของรุ่งอรุณ

การปฏิบัติธรรมที่เปรียบดังหัวใจของรุ่งอรุณ

ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่เปรียบดังร่างกายของรุ่งอรุณ

P8120321วันสุดท้ายเป็นการนำเอกลักษณ์-อัตลักษณ์แท้ของรุ่งอรุณทั้ง ๓ ข้อ มาอภิปรายหารูปธรรมความสำเร็จ และปัญหาอุปสรรค แล้วระดมความคิดเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมของแต่ละปัญหา เพื่อเป็นแนวทางการก้าวต่อไปของโรงเรียนรุ่งอรุณ

การประชุมในวันนั้นเป็นช่วงเวลาที่คนทำงานส่วนต่างๆ ของรุ่งอรุณได้มาพูดคุย ย้อนทวนความทรงจำถึงความเป็นรุ่งอรุณใน ๑๖ ปีที่ก้าวเดินมา ช่วยกันทบทวนและสะท้อนการทำงานของแต่ละส่วน ชื่นชมในความสำเร็จ และคิดหาทางแก้ไขในจุดที่เป็นปัญหาอุปสรรค ท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นกัลยาณมิตร ที่ไม่เพียงช่วยให้เราค้นพบอัตลักษณ์ที่เป็นดัง “ลมหายใจ หัวใจ ร่างกาย” ของรุ่งอรุณ แต่ยังเป็นการเสริมสร้างพลังใจให้ทุกคนก้าวเดินไปบนเส้นทางเดียวกันอย่างมั่นใจ

“ทุกคนมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนมากที่พยายามทำให้รุ่งอรุณไม่ใช่โรงเรียนธรรมดา แต่เป็นโรงเรียนที่จะเป็นแบบอย่างการเรียนรู้ของสังคมไทยได้ เห็นชัดเจนว่าทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะไปข้างหน้า ทำอย่างเต็มที่ เต็มร้อย วงประชุมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการฟังอย่างมีคุณภาพ การมีวิธีคิดเชิงวิพากษ์ การย้อนมองตัวเอง ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพภายในของทุกคน ที่เป็นผลของการปฏิบัติธรรม” รศ.ประภาภัทร นิยม

“เราพูดเสมอว่ามหาวิทยาลัยนั้นใหญ่เกินไป คิดว่าอะไรที่จะสร้างสำนึกได้มันต้องเป็นสำนัก วงนี้ก็เหมือนสำนักหนึ่งที่มีความชัดเจน แล้วเราจะเดินไปชัดขึ้นเรื่อยๆ” อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง

“จะทำอย่างไรให้เราภาคภูมิใจในความเป็นคนเรียนรู้ของเราได้ ทำให้ ๓ เรื่องนี้เป็นเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเรา ให้มีการถ่ายเทสัมพันธ์กันตลอด เราไปรอดแน่” คุณครุสุนิสา ชื่นเจริญสุข (ครูโม)

“ได้รับรู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้ในหลายๆ เรื่อง ในบรรยากาศของพี่น้อง ได้ตรวจสอบตัวเองจากความเห็นหลากหลายประการ เป็นประโยชน์ให้ได้ตรวจสอบการทำงานของตัวเอง ได้คุยเรื่องเก่าๆ ความทรงจำที่งดงามด้วยความสัมพันธ์กลับมา” คุณครูสกุณี บุญญะบัญชา (ครูจิ๋ว)

“การมาร่วมประชุมในครั้งนี้ทำให้มีกำลังใจ รู้สึกสบายใจ รุ่งอรุณเป็นความหวังของสังคมไทย ทุกคนมาอยู่ที่นี่เพราะมีธรรมะเสมอกัน” ครูอารี จันทร์แย้ม (ครูอารี)

“ได้ปัดฝุ่นความทรงจำดีๆ ที่มีมากว่า ๑๐ ปี ระยะนี้มีความกังวลใจหลายเรื่อง การคุยเรื่องดีๆ กับคนที่คุ้นเคยกัน เป็นความรู้สึกที่ดี และเกิดความสุข” คุณครูพรรณยมน โตกทอง (ครูมน)

“ได้ฝึกฟัง ได้เข้าใจว่าแต่ละคนมีมุมมองอย่างไร เพราะเราไม่ค่อยได้คุยกัน ความรู้สึกของความเป็นพี่น้องมันชัดขึ้น บางเรื่องเราก็ลืม แต่คนอื่นนึกได้ ก็ช่วยเติมเต็มเรา ให้เราเติบโต” คุณครูชาลี มโนรมณ์ (ครูชาลี)

“เราค้นหาลมหายใจ ร่างกาย และหัวใจ ของเราเจอ ร่วมกันมองและเห็นปัญหา แล้วร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไข เป็นเวทีให้รุ่นพี่ส่งต่อรุ่นน้องได้อย่างมั่นใจ” คุณครูเรไร ท่าผา (ครูติ๊ก)

“รู้สึกดีที่มีวงคุยแบบนี้ ๑๖ ปี นี่คือวัยรุ่น การเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง การมีเพื่อน พี่ น้อง กัลยาณมิตร มาช่วยสะกิดกัน เป็นการเรียนรู้ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความอบอุ่นของชุมชนนี้” คุณครูราวรรณ ญาณเพ็ชร (ครูเปิ้ล)

“ได้รับสัมผัสพลังดีๆ เหมือนอยู่ในวงจิตวิญญาณเก่าแก่ แล้วเราก็อยู่ในนั้น ก็กระทุ้งเราว่า เราต้องโตได้แล้ว ต้องขยายตัว และส่งต่อให้คนอื่น วงนี้มีพลังงาน แล้วเราก็มีพลังงานนี้อยู่ จะส่งต่อพลังงานนี้อย่างไร นั่นคือ ต้องอยู่กับปัจจุบัน และมีสติ” คุณครูนุชปวีณ์กร ดิลกภราดร (ครูแอน)

 

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.