การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนประถม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

โครงงาน “ข้าวไทย วิถีไทย” ชั้น ป.๕

Khao00ตลอด ๓ ภาคเรียนของปีการศึกษา ๒๕๕๗ นักเรียนชั้น ป.๕ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้าวภายใต้โครงงาน “ข้าวไทย วิถีไทย” โดยภาคเรียนที่ ๑ เรียนรู้การทำนาปลูกข้าว ศึกษาวิถีชีวิตของชาวนา ผ่านกระบวนการทำนาด้วยตัวเองตามวิถีชาวนาไทย ภาคเรียนที่ ๒ เรียนรู้การดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว ภาคเรียนที่ ๓ เรียนรู้การสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และการทำอาหารจากข้าว

ออกภาคสนามที่นาข้าว จ.สุพรรณบุรี

ออกศึกษาภาคสนามศึกษาระบบนิเวศ ระยะเวลาการทำนา (Timeline) เครื่องมือ (สิ่งประดิษฐ์) และวิธีการทำนาที่นาของลุงชัยพร พรหมพันธุ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งลุงชัยพรเป็นชาวนาที่ทำนาอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี และยังประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ในการทำนาขึ้นเองหลายชิ้น จนได้การขนานนามว่า “ชาวนาเงินล้าน”

นอกจากจะได้เรียนรู้วิธีการทำนาแล้ว นี้นักเรียนยังได้ฝึกฝนทักษะการจับประเด็นแล้วถ่ายทอดเป็นบันทึกภาคสนาม เพื่อนำมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้จริงในการทำนาที่โรงเรียนต่อไป

เรียนรู้ทักษะการสังเกตและการบรรยายด้วยภาพ

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนจะออกไปสำรวจพื้นที่ทำนา ครูสมพรให้นักเรียนเรียนรู้ทักษะการสังเกตและการเขียนบรรยายผ่านการวาดรูป โดยเชิญครูกุ้ง-ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์มาเป็นวิทยากรพิเศษ สอนการมองรายละเอียดของพันธุ์พืช ต้นไม้ และสัตว์เล็กๆ ในธรรมชาติที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ช่วยให้นักเรียนมองเห็นรายละเอียดของสิ่งมีชีวิตที่อาจถูกละเลยไป เช่น ลวดลาย สีสัน รูปร่าง แล้วบันทึกหรือบรรยายรายละเอียดที่พบด้วยการวาดรูป หลังจบการเรียนรู้กับครูกุ้งแล้ว ครูสมพรก็พานักเรียนออกไปสำรวจพื้นที่ในนาข้าว แล้วบันทึกรายละเอียดของข้อมูลที่พบเห็นในนาข้าวตามที่ได้เรียนรู้มาจากครูกุ้ง

ขุดดินถอนหญ้า พลิกผืนดินให้เป็นผืนนา

สัปดาห์ต่อมานักเรียนแต่ละห้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเตรียมพื้นที่นาก่อนทำนา โดยแบ่งกลุ่มช่วยกันถากถางวัชพืชที่จะมาแย่งอาหารของต้นข้าว อีกกลุ่มหนึ่งช่วยกันขุดและพรวนดินให้ซุยขึ้น เพื่อที่ดินจะกลายเป็นโคลนได้ง่าย เหมาะแก่การหว่านเมล็ดข้าวต่อไป

คัดเลือกเมล็ดพันธุ์

นักเรียนคัดเลือกเมล็ดข้าวโดยดูว่าข้าวพันธุ์ไหนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของภาคกลาง นอกจากนี้นักเรียนยังต้องศึกษาข้อมูลของพันธุ์ข้าวต่างๆ โดยพันธุ์ข้าวที่นักเรียนใช้ คือ ข้าวหอมหะลิ ๑๐๕ เพราะทนต่อสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของรุ่งอรุณที่เป็นพื้นที่ภาคกลาง

แช่ข้าวและนอนตองข้าว

ขั้นตอนต่อมาคือการแช่ข้าวเพื่อให้เปลือกของข้าวนิ่ม เวลานอนตองข้าวรากจะได้งอกง่าย โดยนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่คัดเลือกแล้วมาแช่ไว้ ๑ คืน จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการนอนตองข้าวเพื่อจะให้รากงอก เวลาหว่านข้าวแล้วรากจะยึดพื้นดินได้เร็ว โดยมีขั้นตอนดังนี้
๑.วางเมล็ดข้าวเปลือกที่แช่น้ำแล้วบนใบตอง
๒.เอาใบไม้แห้งมาคลุม
๓.คลุมด้วยใบตองอีกครั้ง
๔.ล้อมกรอบด้วยกระบอกไม้ไผ่
๕.คลุมด้วยผ้าพลาสติก
๖.ทับมุมผ้าพลาสติกด้วยก้อนหินทั้ง ๔ ด้าน รอให้รากงอกออกจากข้าวเปลือกแล้วจึงเอาไปหว่านลงในนาต่อไป

คัดแยกและหว่านเมล็ดข้าวในนา

หลังจากข้าวที่นอนตองงอกรากแล้ว รากที่ยากออกมาจะพันกัน นักเรียนต้องนำเมล็ดข้าวมาแยกรากออกจากกัน เมื่อนำไปหว่านข้าวข้าวจะได้ไม่ติดกันและไม่แย่งสารอาหารกัน โดยก่อนนำไปหว่านนักเรียนช่วยกันคราดนาให้ดินเรียบ แล้วจึงนำข้าวที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาหว่านด้วยการโปรยให้กระจายๆ

ระหว่างรอกล้าโต นักเรียนจะหมั่นแวะเวียนไปดูแปลงนาว่าข้าวที่หว่านไว้ขึ้นหรือยัง พร้อมทั้งช่วยกันขุดดินเตรียมแปลงนาข้างๆ ที่จะปักดำข้าวต่อไป