บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

สนทนาเรื่องพลังของภาษากับ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

“การอ่านหนังสือเป็นการอ่านความคิดของคนอื่น
การเขียนหนังสือเป็นการอ่านความคิดของตัวเอง
ไม่ว่าจะอ่านหรือเขียน เป็นการทำงานของความคิด”
– อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ คณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณมีโอกาสสนทนาเรื่องพลังของภาษากับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และกวีซีไรต์ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ให้เกียรติมาบอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาความสามารถด้านภาษาของท่านแก่ครูรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปปรับแผนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะภาษาของนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ

อาจารย์เนาวรัตน์เริ่มต้นการเสวนาด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของภาษาว่า ภาษาเป็นเครื่องมือของความคิด “การอ่านหนังสือเป็นการอ่านความคิดของคนอื่น การเขียนหนังสือเป็นการอ่านความคิดของตัวเอง ไม่ว่าจะอ่านหรือเขียน เป็นการทำงานของความคิด” การอ่านหนังสือจะทำให้เรามีคลังของถ้อยคำมาก ถ้ามีคลังคำมาก เราจะคิดได้มาก เพราะถ้อยคำเป็นเครื่องมือของความคิด แต่บางครั้งเราลืมความสำคัญของคำ ดังที่ว่า นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ เพราะเราอยู่กับถ้อยคำจนไม่เห็นความสำคัญ แต่การเขียนหนังสือทำให้อาจารย์กลับมาดูความสำคัญของคำแต่ละคำซึ่งใช้ต่างกัน คำแต่ละคำมีน้ำหนักของความหมายต่างกัน เช่น ฉาบ ทา ปาด ป้าย เฉือน ตัด สับ ซอย ฝาน การใช้คำทำให้ได้คิด ดังนั้นการมีคลังคำสำคัญมาก ซึ่งคลังคำนี้มาจากการอ่าน ยิ่งอ่านมากยิ่งมีคลังคำมาก

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้เล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ที่เติบโตมากับการท่องบทอาขยานที่คุณพ่อของอาจารย์แต่งขึ้น ท่องตั้งแต่เล็กๆ ทั้งที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก ไม่เข้าใจความหมาย แต่การท่องบทอาขยานนี้ช่วยสร้างคลังคำมหาศาล ทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญที่นำอาจารย์เข้าสู่โลกของการอ่าน เริ่มจากการอ่านเรื่องใกล้ตัว เรื่องราวสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัว จนนำไปสู่นิสัยรักการอ่าน และก้าวเข้าสู่โลกของการเขียนจนถึงทุกวันนี้

จากประสบการณ์ในวัยเยาว์นี้เอง ทำให้อาจารย์เนาวรัตน์มองว่าการท่องบทอาขยานหรือบทกลอนนี้เป็นการเรียนรู้ภาษาที่ดีสำหรับเด็กเล็กๆ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างคลังคำแล้ว “การท่องบทอาขยาน กาพย์กลอน ทำให้เราสัมผัสกับมิติของภาษา ภาษาไทยต่างกับภาษาของชาติอื่นตรงที่มีเสียงของภาษาตายตัว เอก โท ตรี จัตวา ดังนั้นการท่องทำให้ได้สัมผัสมิติของเสียงและจังหวะของภาษา”

อาจารย์เนาวรัตน์มองว่าการท่องอาขยานไม่ใช่การท่องจำ แต่คือการอ่านออกเสียงและการอ่านพร้อมกัน ซึ่งสำคัญและจำเป็นในการฝึกอ่าน เพราะจะทำให้จำได้ คนที่จำไม่ได้ แต่พออ่านไปพร้อมกับเพื่อนๆ เพื่อนอ่านได้ก็ทำให้อีกคนอ่านต่อไปด้วยกันได้ เมื่ออ่านซ้ำๆ ก็จะจำได้

กิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์เนาวรัตน์แนะนำ คือ การอ่านหนังสือร่วมกันสัปดาห์ละ ๑ เรื่อง โดยเลือกหนังสือมาอ่านร่วมกันในชั้นเรียน ให้นักเรียนผลัดกันอ่านทีละหน้า เมื่ออ่านจบแล้วก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงเรื่องที่อ่าน ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกสัปดาห์ อ่านแล้วคุยกัน เมื่อครบ ๑ ปี เด็กๆ จะได้อ่านหนังสือไม่ต่ำกว่า ๕๐ เรื่อง ซึ่งวงเสวนาในวันนั้นมีความเห็นว่ากิจกรรมนี้น่าจะเหมาะกับเด็กวัยประถมที่อ่านคล่องแล้ว

ในด้านการเขียน คุณครูทิวา เสมวิมล ครูประจำขั้น ป.๑ บอกเล่าถึงกระบวนการฝึกเขียนในระดับชั้น ป.๑ ของโรงเรียนรุ่งอรุณว่า ครูแบ่งการฝึกเขียนออกเป็น ๒ กิจกรรม คือ ๑.กิจกรรมฝึกเขียนคำที่ครูเน้นความถูกต้องของหลักภาษา การผสมคำ การสะกด และ ๒.กิจกรรมเขียนอิสระจากเรื่องที่นักเรียนอยากถ่ายทอด ซึ่งครูไม่เน้นความผิด-ถูกของหลักภาษา เพราะมีเป้าหมายให้เด็กกล้าเขียน รักที่จะเขียน อยากจะเขียน อยากจะถ่ายทอด เพราะถ้าครูให้ความสำคัญกับการเขียนถูก-ผิด เด็กจะไม่กล้าเขียน

อาจารย์เนาวรัตน์กล่าวถึงกิจกรรมการเขียนอิสระว่าเป็นกิจกรรมที่ดี โดยยกตัวอย่างห้องเรียนประถมที่ไต้หวัน ที่ครูให้เด็กๆ เขียนบทกวี โดยมีโจทย์สั้นๆ ว่า “รู้สึกอะไรก็เขียนลงไปเลย” เด็กๆ ถามกลับมาว่า “บทกวีมันง่ายอย่างนั้นเลยเหรอ” ครูก็ยืนยันว่า “ใช่” เด็ก ๓๐-๔๐ คนในห้องจึงลงมือเขียน บางคนเขียนว่าเบื่อ เบื่อ เบื่อ บางคนเขียนเรื่องอากาศที่หนาวเย็น แล้วครูก็เลือกงานเขียนที่ดีๆ มาติด กิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆ ไต้หวันชอบเขียนบทกวี เพราะครูไม่ได้เอาผิด เอาถูก หรือการสัมผัส  แต่ให้เด็กได้ระบายความรู้สึก ภาษาเป็นทางหนึ่งในการระบายความรู้สึก การฝึกเขียนเช่นนี้บ่อยๆ เป็นการสร้างนิสัยในการถ่ายทอดความคิดความรู้สึกออกมาเป็นภาษาหรือถ้อยคำ

“ภาษาเป็นวิชาชีวิต ความประณีตในการใช้ภาษาเป็นศิลปะที่ทำให้เรางอกงามในความรู้สึก ภาษาเป็นเครื่องมือของความคิด และเป็นหนทางหนึ่งในการระบายความรู้สึกของคน โดยเฉพาะบทกวีที่เป็นสื่อของ “ความรู้สึกนึกคิด” เป็นองค์รวมของปัญญา ช่วยกล่อมเกลาจิตใจผู้คน” อาจารย์เนาวรัตน์กล่าว พร้อมทั้งนำบทกวี “สองคำตอบ” ที่ท่านประพันธ์ไว้มาอ่านให้ครูฟัง ซึ่งสะท้อนให้ถึงเห็นคุณค่าของภาษาที่ประณีตและมีความหมายลึกซึ้ง มีพลังสะกิดใจผู้ฟังให้ตั้งคำถามและคิดตาม

I สองคำตอบ I โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
คนสองคนทำงานร่วมกันอยู่

งานทั้งคู่เหมือนกันเป็นพันธกิจ
โบกปูนอิฐอิฐต่อก่อประชิด
ทีละนิดทีละน้อยค่อยทำไป
ถามคนหนึ่งซึ่งยังไม่ว่างเว้น
ขะมักเขม้นทำงานเป็นการใหญ่
ถามว่าท่านกำลังทำอะไร
เขาตอบได้โดยพลันทันท่วงที
เรากำลังก่ออิฐปะติดปะต่อ
กำลังก่ออิฐก่ออิฐก่อนี่
ถามอีกคนด้วยคำถามเดียวกันนี้
เรากำลังสร้างเจดีย์ที่บูชา
นี่คือหนึ่งคำถามสองคำตอบ
สะท้อนกรอบความคิดเป็นปริศนา
หนึ่งคำตอบตรงไปก็ตรงมา
สองขยายปัญญาคุณค่างาน
ความคิดกับการกระทำส่องความรู้
สติคู่ปัญญาค่าไพศาล
จะติดตมจมปลักอยู่ดักดาน
หรือทำการก้าวหน้าท้าให้คิด
แค่อยู่ไปวันๆ กระนั้นหรือ
แค่ยึดถืออุดมการณ์คือภารกิจ
แค่คิดหวังสร้างอะไรในชีวิต
แค่ก่ออิฐหรือกำลังสร้างเจดีย์

ในตอนท้าย รศ.ประภาภัทร นิยม ได้กล่าวสรุปไว้ว่า “คำพระท่านบอกว่า “วจี” กับ “มโน” นั้นติดกัน ถ้าวจีมีความแหลมคม มโนมันก็ไปด้วย ปัญญาก็เกิดตามมา เพราะฉะนั้นการใช้ภาษา การสื่อภาษาที่มีความหมายลึกซึ้ง ที่มีความหมายกินใจ ที่มีความหมายสะกิดใจ ที่มีความหมายในการสร้างจินตนาการ เป็นภาษาที่คู่ควรกับมนุษย์ แต่เราก็พบเห็นภาษาดาษดื่น เพระฉะนั้นเมื่อเราเป็นครู เราต้องประณีตที่จะหยิบยกภาษามาใช้ ภาษาที่เราพูดออกไปได้สร้างจินตนาการหรือสะกิดเตือนใจอะไรผู้ฟังมากน้อยแค่ไหน ภาษานั้นใกล้ตัวเรามาก เช่นที่อาจารย์เนาวรัตน์บอกว่าภาษาเป็นวิชาชีวิต ไม่ใช่วิชาตัวหนังสือเขียนในกระดาษ จะทำให้เจียระไนหัวจิตหัวใจของเรา และสร้างสมสติปัญญา เราใช้ภาษาอย่างไร ใจเราก็เป็นอย่างนั้น

โรงเรียนรุ่งอรุณขอขอบพระคุณ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นอย่างมากที่สละเวลามาแบ่งปันประสบการณ์อันเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในงานการสอนกับคณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณในครั้งนี้