บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนประถม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ครูและพ่อแม่คือหินลับมีด

โดย รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
ในงานปฐมนิเทศผู้ปกครองชั้น ป.๑
วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑
ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ

“ธรรมชาติของเด็ก ชั้น ป.๑ อยากรู้ อยากสำรวจ อยากรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ ยิ่งความลึกลับของถ้อยคำ ความหมายที่ซ่อนอยู่ยิ่งสงสัย เขาจะเสาะแสวงหาความหมาย ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ และสิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นอาจารย์จะบอกคุณครูเสมอว่า เด็ก ป.๑ ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก เขาอยากรู้อะไรก็ให้เขารู้ คุณครูไม่ต้องจัดแจงมาก ถ้าจัดแจงมากจะไป(ตี)กรอบความคิดของเด็ก ทำไปตามที่เด็กเขาสนใจ

คุณครู คุณพ่อ คุณแม่ มีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหลังการเรียนรู้ของเด็ก ป.๑  คือ คอยสังเกตเด็กและเฝ้าดู “นาทีทอง” ต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามา ที่จะเป็นโอกาสเล็กๆ ให้เราเข้าไปเสริมและเติมสิ่งที่เขาจะสร้างสมรรถนะการเรียนรู้

เด็กๆ ตอนอนุบาลก็ร่าเริง เบิกบาน แต่พอเข้าชั้นเรียนไปเรื่อยๆ คิดว่าผู้ปกครองก็เคยมีประสบการณ์ ตอนเด็กเราก็คิดว่าเราเก่งนะ แต่พอโตขึ้นๆ ทำไมมันเก่งน้อยลง โรงเรียนและบ้านเป็นเหตุหนึ่งที่มีส่วนทำให้เด็กๆ ยังคงเบิกบาน พร้อมที่จะเรียนรู้ แล้วก็มีสมรรถนะการเรียนรู้ติดตัวไปจนแก่ตาย ไม่มีความย่อท้อในการที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไม่มีความรู้สึกเหนื่อยหรือเป็นภาระที่จะต้องเรียนรู้อะไร อันนี้เป็นหลักคิดสำคัญ เราผู้อยู่เบื้องหลัง อย่าทำให้โรงเรียน สถานศึกษา หรือบ้าน กลายเป็นที่ซึ่งจำกัดขอบเขตโลกการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้ลดน้อยถอยลงหรืออ่อนล้าลง

เด็ก ป.๑ เป็นวัยที่ต้องสะสมภาษาของตัวเอง เขาต้อง “ประลอง” ภาษาของตัวเอง การที่เขาชอบวิ่งมาเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้อาจารย์ฟัง เพราะเขาต้องการประลองภาษา เพราะฉะนั้นวิธีที่เราจะตอบกลับต้องลับคมกับเขาได้ดี ตอบแบบแบนๆ ทื่อๆ เด็กไม่สนใจ การลับคมคือการหาความหมายต่อจากสิ่งที่เขาเริ่มต้น เขาต้องการคนช่วยนำพา บางครั้งสิ่งที่เขาเล่ามาดูเหมือนไม่มีสาระ แต่มันมีความหมายกับเขา เขากำลังอยากสื่อความหมายกับเรา เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรจึงจะสืบเนื่องเรื่องนั้นให้มันมีความหมายและเข้าสู่ครรลองที่ควรรู้ แต่ยังไม่ต้องทำท่าเป็นคุณครูสอนเขานะ สนทนากับเขา ถามต่อด้วยคำถามของเรา เขาจะค่อยๆ เรียบเรียงสิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารกับเราอย่างเป็นระบบมากขึ้น นี่เป็นวิธีการที่จะช่วยให้เขาได้ภาษา แค่ตั้งใจฟังและสืบต่อความหมายให้เป็นระบบมากขึ้น ถามต่อและสนทนาด้วยความสนใจเราต้องสังเกต ถ้าเด็กๆ คำถามเริ่มหายไป หนูน้อยจำไมหายไป นี่เป็นสัญญาณอันตราย เด็กๆ ต้องมีคำถาม เพราะฉะนั้นเราก็มีจุดสังเกต การถามของเขาจะดีขึ้นเรื่อยๆ ต้องฟังจากสิ่งที่เขาถาม

บางเรื่องที่เด็กอยากรู้ดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ถ้านักปราชญ์อยู่กับเด็ก ไม่ว่าประเด็นอะไรก็ตามโผล่ขึ้นมา ความคิดในหัวมันจะผุดภาพให้รู้ที่มาและไปสู่ที่ไปที่ลึกซึ้งและมีคุณค่า ถ้าเด็กๆ อยู่กับกัลยาณมิตรแบบนี้ เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาด สุขุม ลุ่มลึก มีคุณธรรม มีจิตสำนึกต่อสังคม ต่อสรรพสิ่งในโลกนี้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ทุกคนอยากได้… แล้วผู้ใหญ่ เราอ่านหนังสืออะไร เรารู้เรื่องอะไร เราคิดอะไร เราจะต่อเชื่อมสิ่งเหล่านี้ให้ลูกเราได้อย่างไร อยู่ที่รสนิยมของเรา เด็กๆ เขาไม่สามารถที่จะเป็นอะไรอื่นไปได้ ถ้าหากว่าเราไม่เป็นเช่นนั้นก่อน เขาอยู่ใกล้ใครแบบไหน เขาก็เป็นแบบนั้น

เราลองพลิก mind set เราใหม่ เราเป็นหินลับมีด เด็กเป็นมีด ถ้าเขาไม่มีหินลับมีดที่เหมาะสม เขาก็ไม่คม แล้วเราจะเป็นหินลับมีดแบบไหน ถ้าเป็นหินลับมีดหยาบๆ ไปเจอมีดบางๆ มีดก็พัง หรือเป็นมีดที่หนาแต่ต้องการคมที่เฉียบมาก เราจะเป็นหินลับมีดแบบไหน ดังนั้นครูต้องเป็นหินลับมีดได้หลายเบอร์ พ่อแม่ก็เช่นกัน เราเลี่ยงไม่ได้ แต่เราเลือกได้ ตั้งใจจะเป็นหินลับมีดหรือเปล่า ท้าทายให้เด็กได้ประลอง จะเป็นเบอร์ไหน หรือเป็นได้หลายเบอร์ แล้วแต่สถานการณ์หรือโอกาส

เด็กอยู่ที่โรงเรียน เรียนรู้ได้เพียง ๑ ใน ๓ ของชีวิตเขา แต่อีก ๒ ใน ๓ เป็นที่บ้านและอื่นๆ พ่อแม่มีบทบาทมาก ถามว่าต้องใช้เวลามากไหมกับลูกต้องใช้เวลาแบบไหน ต้องอยู่สองต่อสองกับลูกไหม ไม่จำเป็น เราใช้เวลาได้หลายรูปแบบ แล้วเด็กก็ไม่ต้องการเราทุกเวลาทุกวินาที ลองสังเกตให้ดีว่าใช้เวลาช่วงไหนแล้วมีประสิทธิภาพ ทำอะไรแล้วเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่โปรดอย่าใส่คะแนนกับลูก มันจะกดดันเขา…พึงชั่งใจให้ดีว่าเราจะเอาอะไรกับลูกเรา ใน ป.๑ บางคนเพิ่งจะเริ่มเขียนหนังสือ บางคนเพิ่งจะเริ่มอยากอ่านหนังสือ สิ่งที่เขากำลังพยายามจะทำคือพยายามสะสมภาษา แต่การสะสมภาษาจะได้จากนอกห้องเรียนมากกว่า เพราะประสบการณ์หลากหลายและรุ่มรวยกว่า การสะสมภาษาในห้องเรียนสู้ในสถานการณ์จริงไม่ได้

การที่มาพูดในวันนี้คิดว่าอาจารย์ต้องเตรียมไหม อาจารย์ต้องเตรียมใจ ไม่มีโพยนะ แต่เราต้องมีประเด็นในใจที่อยากบอก อยากคุย เพราะฉะนั้น การเตรียมใจมาคือพร้อมเผชิญทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่คาดหมายได้และคาดหมายไม่ได้ ซึ่งเป็นทักษะ (skill) ที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นชั่งใจให้ดี อยากเห็นลูกฝึก skill จะมาคาดหวังกับที่โรงเรียน ได้นิดเดียว ที่บ้านและที่อื่นๆ ได้มากกว่า

สิงคโปร์ตอนนี้เปลี่ยน ยูเทิร์นจากที่เคยเป็นโรงเรียนที่เรียนกันอย่างคร่ำเคร่ง แข่งขัน เอาเป็นเอาตาย สอบแพ้ชนะคัดออก ตอนนี้ยูเทิร์น กลับทิศกลับทาง ตอนนี้สิงคโปร์มีแหล่งเรียนรู้เต็มไปหมดทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์พลิกได้ คือ “จินตนาการ” เขาเริ่มเอะใจว่าคนในยุคปัจจุบันที่เขาสร้างขึ้นมา skill ตรงนี้หายไป เพราะว่าเขาไปเน้นเรื่องเรียนมาก เขาก็เลยหันกลับมา เขาต้องสร้างประชาชนที่ well rounded development เขาตั้งโจทย์ไว้เลยว่า ต่อไปนี้เขาต้อง สร้างเด็กที่จบออกมาแล้วพร้อมเผชิญโลกที่ไม่รู้ว่าจะมีงานประเภทไหนเกิดขึ้น ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ ทำอะไรก็เป็น อยู่กับเรื่องอะไรก็ได้

ดังนั้นจะมาเพ่งเล็งแต่ในชั่วโมงเรียนที่เป็นแพทเทิร์นเดิมๆ มันไม่พอ คุณพ่อคุณแม่ลองชั่งใจดูว่า เราจะมีท่าทีอย่างไรต่อการเรียนของลูก ต่อบทบาทของเราเอง อาจารย์อยากฝากเป็นคำถามปลายเปิดเอาไว้