บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

KMรุ่งอรุณ : ครูต้องยอมรับในความไม่รู้ แล้วพาตัวเองไปรู้

เรื่อง : ครูชาลี มโนรมณ์
หัวหน้าหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยม โรงเรียนรุ่งอรุณ

เราเคยสอนแบบยึดเนื้อหาเป็นหลัก พอต้องมาสอนแบบบูรณาการเหมือนเจอโจทย์แรงที่มาพลิกตัวเรา เจอคำถามของอาจารย์ (รศ.ประภาภัทร นิยม) ที่เราตอบไม่ได้  งงว่าทำไมที่เรียนมาถึงใช้ไม่ได้ แต่ “สติ” ทำให้เราพาใจกลับมาได้

เริ่มจากยอมรับในความไม่รู้ของตัวเองก่อน พอยอมรับแล้ว เราจะพาตัวเองไปรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ฝึกย้อนมองตัวเองว่า “ผิดไม่เป็นไร ไม่รู้ไม่เป็นไร” แต่มองให้เห็นว่าไม่รู้อะไร ผิดอะไร แล้วเอามาเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ต่อไป

หัวใจสำคัญคือกัลยาณมิตร ทั้งครูอาจารย์ที่คอยให้โจทย์เราได้คิดและเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ เพื่อนครูที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นและร่วมกันทำแผนการสอน พอได้ฝึกฝนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็เกิดความสนุก รู้สึกท้าทาย ซึ่งที่จริงแล้วก็คล้ายกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ พอทดลองแล้วไม่ใช่ก็ทดลองใหม่ แต่ต้องรู้ว่าอะไรไม่ใช่แล้วถึงจะทดลองใหม่ได้

จากประสบการณ์เราพบว่า การสอนแบบบูรณาการทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เพราะเขาต้องค้นคว้า ต้องเชื่อมโยง ต้องการข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น  พร้อมเผชิญปัญหาและมองหาทางออกของปัญหาให้ได้ เพราะเราให้เขาเผชิญปัญหาตลอด กระบวนการเหล่านี้ช่วยฝึกเด็กให้แกร่ง ฝึกให้เขารู้จักทบทวนตัวเอง มองเห็นข้อดีข้อด้อยของตัวเอง ฟังเป็น สามารถจัดลำดับและเชื่อมโยงข้อมูลที่หลากหลายได้ดี

ขณะเดียวกันครูก็ได้ฝึกมองตัวเองว่าเราพร่องหรือติดขัดตรงไหน ต้องปรับอะไร โดยมีเด็กเป็นกระจกสะท้อน แล้วบางครั้งไม่ใช่ว่าปรับได้ทันที แต่ต้องอาศัยการทำซ้ำๆ เพราะเรายังติดกับความเคยชินเดิม เหมือนเป็นการเจริญสติว่าจะทำอย่างไรให้เราก้าวข้ามความเคยชินของเราไปได้