บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  วิดีโอ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ไหว้ครูภูมิปัญญาไทย ปีการศึกษา ๒๕๖๑

“เราเอามวยมาเป็นเครื่องมือเพื่อสอนสติ
สอนสมาธิ สอนความไม่โกรธ
ชกมวยมันกระทบกระทั่ง
ถ้าเจ็บเล็กเจ็บน้อยแล้วโกรธ ไม่มีสติ
เดินลุยเข้าไปหาคู่ต่อสู้ ก็เจ็บตัว”
– อาจารย์วิชิต ชี้เชิญ
ครูผู้วางรากฐานหลักสูตรมวยไทย กระบี่กระบอง โรงเรียนรุ่งอรุณ

เช้าวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ โรงเรียนรุ่งอรุณจัดพิธีไหว้ครูภูมิปัญญาไทย มวยไทย กระบี่กระบอง สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล ๓ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ และนักเรียนที่เรียนวิชากีฬาไทย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ ให้นักเรียนได้แสดงความกตัญญูต่อครูภูมิปัญญาของไทยและครูทุกสรรพวิทยา เพื่อความเป็นสิริมงคล และน้อมนำวิชาภูมิปัญญาไทยที่ได้ร่ำเรียนมาสู่ชีวิตของตน  โดยมีอาจารย์วิชิต ชี้เชิญ ครูผู้วางรากฐานหลักสูตรมวยไทย กระบี่กระบอง ของโรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นครูผู้ประกอบพิธี และครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ เป็นประธานในพิธี

พิธีจบการศึกษาของน้องอนุบาล ๓
พิธีไหว้ครูภูมิปัญญาไทยเป็นประเพณีสำคัญของโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงปลายปีการศึกษา เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่บ่งบอกว่านักเรียนเป็นศิษย์มีครู และครูเห็นว่านักเรียนเติบโตและพัฒนา พร้อมจะก้าวสู่ช่วงชั้นต่อไป พิธีนี้จึงถือเป็นพิธีจบการศึกษาของเด็กๆ อนุบาล ๓ ที่จะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นพี่ชั้น ป.๑ การเจิมหน้าและสวมมงคลที่ถักทอจากเสื้อผ้าของคุณพ่อคุณแม่ ด้วยมือของคุณพ่อและคุณแม่ผู้เป็นพรหมของลูก บ่งบอกว่าเด็กๆ “เป็นมวย” แล้ว พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาต่อไป เช่นเดียวกับพี่ชั้น ป.๓ ที่มีความก้าวหน้าในวิชาดาบ ติดอาวุธเพิ่มให้ตัวเองด้วยการเป็นดาบ พร้อมจะก้าวสู่ช่วงชั้นใหม่ในชั้น ป.๔ ต่อไป

มวยไทยรุ่งอรุณ สอนคนให้เป็นมวย
อาจารย์วิชิต ชี้เชิญ อธิบายคำว่า “เป็นมวย” ว่าหมายถึง ความฉลาดเฉลียว ฟังเป็น คิดเป็น พูดเป็น แก้ปัญหาเป็น แข็งแกร่ง กล้าหาญ อดทน ขณะเดียวกันก็มีความกตัญญู เสียสละ อ่อนน้อมถ่อมตน และพร้อมที่จะอยู่ในสังคมโลกอย่างสง่างาม การสอนมวยไทยของโรงเรียนรุ่งอรุณจึงไม่เน้นทักษะมวยหรือการต่อสู้ แต่สอนมวยไทยแบบภูมิปัญญา ใช้หลักของมวยไทยมาเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นมวย ให้เด็กๆ รู้ว่าตัวเองมีดีอะไร รู้สึกภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง

ก่อนจบพิธี คุณครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ได้กล่าวความรู้สึกถึงพิธีไหว้ครูภูมิปัญญาไทยในวันนี้ว่า วันนี้ได้เห็นความกล้าหาญของเด็กแต่ละคน น้องอนุบาลสามารถนำพาตัวเองให้รำมวยได้ จำบทครูได้ ส่วนพี่ประถมก็มาแสดงความห้าวหาญให้ทุกคนเห็นว่า ความเป็นมวยเป็นเช่นไร

“เราเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน เราสังเกตกัน เราสังเกตทุกสิ่งทุกอย่าง และเราก็เข้าสู้รบด้วยความห้าวหาญ เราจะเห็นว่านักเรียนของเราทุกคนมีความห้าวหาญ ฮึกเหิม ชัดเจนในตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะนำพาตัวเองของนักเรียนทุกคน ให้สามารถฟันฝ่าต่อสู้กับสิ่งที่เป็นด้านลบในใจเรา และนำความดีมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ต่อการเรียนรู้ของตนเองได้ในที่สุด”

การแสดงดาบสองมือ ระดับชั้น ม.ต้น

การแสดงดาบสองมือ โดยนักเรียนระดับชั้น ป.๓

การแสดงดาบสองมือ โดยนักเรียนระดับชั้น ป.๒

การแสดงดาบสองมือ โดยนักเรียนระดับชั้น ป.๓

การแสดงดาบสองมือ โดยนักเรียนระดับชั้น ป.๖

การต่อสู้ด้วยพลอง โดยนักเรียนระดับชั้น ป.๖

การต่อสู้ด้วยง้าว โดยนักเรียนระดับชั้น ป.๖

การแสดงดาบสองมือ โดยนักเรียนระดับชั้น ป.๔

การแสดงดาบสองมือ โดยนักเรียนระดับชั้น ป.๔