การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนประถม

ป.๑ เล่น เรียนรู้ สังเกต ความงามของธรรมชาติ

จากพี่โตในรั้วอนุบาล ก้าวขึ้นมาเป็นน้องเล็กในระดับประถม พบเพื่อนใหม่ คุณครูใหม่ และพื้นที่ใหม่ที่น่าสนใจใคร่รู้ ในหน่วยบูรณาการ “สายลับรอบรั้วรุ่งอรุณ” ระดับชั้น ป.๑ คุณครูจึงออกแบบการเรียนรู้พานักเรียนออกสำรวจสถานที่ที่น่าสนใจในโรงเรียน ให้เด็กๆ ได้สังเกต สัมผัส และเล่นร่วมกับเพื่อนๆ จนเกิดเป็นความเข้าใจและประสบการณ์ใหม่ สามารถระบุชุดคำศัพท์ใหม่ๆ ออกมาอย่างเข้าใจความหมายด้วยตัวเอง

หลังจากชี้ชวนพาสำรวจสนามเด็กเล่นบริเวณลานสัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ สนใจมากที่สุดไปแล้ว ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคุณครูขยายพื้นที่การเรียนรู้ พาเด็กๆ เดินสำรวจบริเวณอื่นๆ ในโรงเรียน ชวนสังเกตและสัมผัสความงามของธรรมชาติรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรือนศิลปะ นาข้าวของพี่ชั้น ป.๕ โรงปั้น สวนป่า ลานทราย ทางเดินริมบึงและลานอิฐหน้าอาคารเรียนของพี่มัธยม

ครูสังเกตเห็นว่าเด็กๆ วัยนี้สนุกและมีความสุขกับการเก็บธรรมชาติรอบตัวมาเล่น ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ใบไม้ หรือก้อนหิน เช่น เล่นขายของ นำมาทำของเล่นง่ายๆ ประกอบกับในสัปดาห์ก่อนหน้านี้เด็กๆ เพิ่งเรียนเรื่องพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในหน่วยมงคลชีวิต คุณครูจึงนำเรื่องราวของ “มันดาลา” ที่มีความเชื่อมโยงกันมาเล่าให้เด็กๆ ฟัง

เรื่องมีอยู่ว่า ชาวทิเบตที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ด้วยมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า จึงนำดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ หิน ทราย ที่หาได้จากธรรมชาติมาตกแต่งเป็นพรมรองนั่งถวายพระพุทธองค์ เรียกว่า “มันดาลา” โดยเจริญภาวนาขณะทำ และเริ่มทำจากจุดศูนย์กลางแล้วค่อยๆ ขยายออกไปเป็นวงกลม

เมื่อเรื่องเล่าจบลง คุณครูจึงชวนเด็กๆ ช่วยกันทำมันดาลาบูชาพระพุทธเจ้า โดยให้เด็กๆ จับกลุ่มแล้วออกไปเก็บดอกไม้ ใบไม้ และสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่ร่วงหล่นอยู่มาช่วยกันทำ พร้อมทั้งตั้งกติการ่วมกันว่า ขณะทำให้ทุกคนตั้งใจ เพราะเด็กๆ อยากทำสิ่งที่เป็นมงคลถวายพระพุทธเจ้า จึงต้องน้อมใจทำและไม่เล่นกัน

“เราเปิดพื้นที่กว้างมาก เด็กๆ สามารถเดินเก็บได้ตั้งแต่เรือนศิลปะ โรงปั้น นาข้าว สวนป่า ตึกพี่มัธยม เขาก็ได้เดินสำรวจธรรมชาติไปด้วย แล้วรอบแรกเราให้เขาทำเป็นกลุ่มก่อน เพื่อให้เขาได้ทำงานร่วมกัน เพราะเด็กบางคนยังจำชื่อเพื่อนได้ไม่ครบทุกคน นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้ภาวนาขณะทำ เราสังเกตเห็นว่าเขาตั้งใจกันมาก เงียบ ไม่เล่นกัน และสุดท้ายเขามองเห็นคุณค่าและความงามของธรรมชาติรอบตัว แม้มันหล่นร่วงอยู่บนพื้น แต่เราสามารถใส่หัวใจแล้วสร้างความงามขึ้นมาได้” ครูณัฏฐสุดา ดอนเส (ครูโน้ต) คุณครูประจำชั้น ป.๑/๓ เล่าถึงสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากกิจกรรมทำมันดาลา ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบ “ภูมิรมณีย์” ที่โน้มนำใจผู้เรียนไปสู่กุศลธรรม

หลังจบกิจกรรมคุณครูชวนเด็กๆ ล้อมวงระบุความรู้สึกระหว่างทำ หลังทำเสร็จ และเมื่อเห็นผลงานของตัวเองและของเพื่อนแล้วรู้สึกอย่างไร เป็นกระบวนให้เด็กได้ฝึกย้อนมองตัวเอง เพื่อเข้าใจตนเองมากขึ้น

“เด็กแต่ละคนก็ระบุความรู้สึกหลากหลาย บางคนบอกว่าเขากังวล กลัวทำไม่สวย บางคนบอกว่านึกภาพไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ไม่มั่นใจ แต่พอทำเสร็จแล้วรู้สึกภูมิใจ ของเพื่อนก็สวย ของเราก็สวย รู้สึกสนุก อยากทำอีก เริ่มเห็นแล้วว่าในโรงเรียนเรามีดอกไม้ ใบ้ไม้ กิ่งไม้สวยๆ มีหินสวยๆ มากมาย”

หลังจบกิจกรรมมันดาลา เด็กๆ หลายคนมาบอกคุณครูว่าอยากเอาสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นของอย่างอื่นอีก นั่นเพราะเขาเริ่มมีสายตาสังเกตเห็นคุณค่าและความงามของธรรมชาติ มีความมั่นใจ กล้าคิดและทำสิ่งใหม่ๆ อันเกิดจากความภาคภูมิใจในผลงานมันดาลาที่ครูเปิดพื้น ให้อิสระเขาได้คิด จินตนาการ และลงมือสร้างสรรค์ความงามด้วยตัวของเขาเอง เช่นที่เด็กบางคนบอกว่า “ตกใจ ทำไมมันสวย”