รอบรั้วรุ่งอรุณ

อาจาริยบูชา มุทิตาจิต ๗๒ ปี อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ครูต้นธารศิลป์

“…อาจารย์ผ่องเป็นผู้มีทักษะและความลุ่มลึกในทางศิลปะ… ท่านยังเชื่อมั่นในอุดมคติของช่างโบราณ (ดังท่านมักเรียนตัวเองว่าเป็น “ช่าง” มากกว่า “ศิลปิน”) จึงไม่คิดแสวงหาความร่ำรวย พอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย เพื่ออุทิศตนให้แก่งานศิลปะ (หรือ “งานช่าง”)” – มุทิตาจิตแด่ อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง, พระไพศาล วิสาโล

ในวาระที่อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ครูช่างผู้วางรากฐาน “จริยศิลป์” จนงอกงามผลิบานในชุมชนโรงเรียนรุ่งอรุณและสถาบันอาศรมศิลป์ มีอายุครบ ๗๒ ปี  คณะลูกศิษย์วิชาจริยศิลป์ ร่วมด้วยชาวชุมชนรุ่งอรุณและอาศรมศิลป์ จึงได้ร่วมกันจัดงาน “อาจาริยบูชา มุทิตาจิต ๗๒ ปี อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ครูต้นธารศิลป์” เพื่อเป็นมุทิตาจิต ระลึกคุณ และแสดงความคารวะ ความกตัญญูกตเวทิตาแด่ “ครู” ผู้มีคุณอันประเสริฐ โดยมีเพื่อนศิลปินและลูกศิษย์มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวแสดงมุทิตาจิตแด่อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ในช่วงเปิดงานว่า อาจารย์ผ่องเป็นศิลปินที่มีความลึกซึ้งในเรื่องของศิลปะที่เรียกว่า “จริยศิลป์” เป็นศิลปะที่จรรโลงใจคน แล้วไม่ใช่แต่เฉพาะชิ้นงานที่สะท้อนถึงความงดงาม หรือสุนทรียภาพ ท่านยังเป็นผู้ที่นำวิธีการหรือกระบวนการสร้างงานศิลปะที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เด็กทุกคน (ที่รุ่งอรุณและอาศรมศิลป์) ยืนยันได้ เพราะเข้าถึงมาแล้วทั้งนั้น เมื่อเข้าถึงกระบวนการของจริยศิลป์แล้ว ทุกคนก็ได้รู้จักใจตัวเอง ได้เรียนรู้ถึงกุศลจิต และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของตัวเองได้ อันนี้เป็นศิลปะที่ถือว่ามีคุณค่าสูงยิ่ง

ขณะที่อาจารย์ธีรพล นิยม รองอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ได้กล่าวแสดงมุทิตาจิตแด่อาจารย์ผ่อง หรือที่อาจารย์ธีรพลเรียกขานว่า “พี่ผ่อง”

“ผมเป็นศิษย์ผู้น้องพี่ผ่องมา ๖๐ กว่าปีที่แล้ว รู้สึกว่าตัวเองมีบุญมากที่ได้มาพบกับพี่ผ่องตอนช่วงปลายของชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เป็นชายในดวงใจของผม เป็นคนธรรมดาที่มีพลัง ที่มีเมตตา มีกรุณา กับพวกเรามาก ขอให้พี่ผ่องเป็นพี่ผ่องในใจที่ผ่องใสของพวกเรา ในความผ่องใสของพี่ผ่องเองตลอดไป”

นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดวงเสวนาหัวข้อ “ศิลปะไทยและการสืบทอด” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พระสันติพงศ์ เขมะปญฺโญ วัดป่าสุคะโต  อ.โชคชัย ตักโพธิ์ ศิลปินมรดกอีสาน  อ.วินัย ปราบริปู ผู้ก่อตั้ง “หอศิลป์ริมน่าน” นายพชร พงศาชำนาญกิจ นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนรุ่งอรุณ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การบรรเลงซอสามสาย โดย ดร.สุพร ชนะพันธ์ ลูกศิษย์ของอาจารย์ และพิธีบายศรีสู่ขวัญโดยลูกศิษย์ลูกหาที่มากราบแสดงมุทิตาจิตแด่อาจารย์ผ่อง พร้อมทั้งผูกข้อมือขอพรอาจารย์ ท่ามกลางบรรยากาศอันอบอุ่นครูและศิษย์

“เราอบอุ่นที่ได้อยู่ในแวดวงของครูบาอาจารย์ที่ท่านนำจิตวิญญาณของศิลปินและจิตวิญญาณของครู ที่เรียกว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศิษย์อีกทีหนึ่ง ทำให้เราอบอุ่นใจที่ได้อยู่ในชุมชนที่มีวัฒนธรรมที่ดีงามและเป็นที่พึ่งของสังคมได้ ถือว่าเราเป็นผู้ที่มีบุญมากที่ได้มาอยู่ในชุมชนที่มีวัฒนธรรมเช่นนี้ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ได้ช่วยกันจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองในวาระที่ท่านอาจารย์มีอายุครบ ๖ รอบ เวลาเป็นเรื่องธรรมดาที่ผ่านเลยไป แต่ว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์ผ่องทำไว้ ไม่เคยเก่าหรือว่าจืดจาง และยังคงอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคน เราก็เป็นศิษย์ที่มีครู ที่พร้อมจะสืบสานสิ่งนี้ต่อเนื่องกันไป” รศ.ประภาภัทร นิยม

ขอเชิญชวนลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่มีใจรักในงานศิลปะไทย ร่วมชมนิทรรศการ “ครูต้นธารศิลป์ ผู้สืบทอดศิลปะไทย” ซึ่งจัดแสดงผลงานของอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ผลงานของลูกศิษย์วิชาจริยศิลป์ และคำมุทิตาจิตจากลูกศิษย์และเพื่อนศิลปิน โดยจัดแสดงระหว่างวันที่ ๔ – ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ เรือนรสิกคามและโถงรับอรุณ (โรงช้าง) โรงเรียนรุ่งอรุณ

ส่วนหนึ่งของคำมุทิตาจิตแด่อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ในวาระครบรอบ ๗๒ ปี

“…ข้าพเจ้าจึงดีใจที่ในเวลาต่อมาอาจารย์ได้มาสอนคนรุ่นใหม่ที่สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ที่มากไปกว่าการใช้ชีวิตไปตามกระแสสังคม ที่นี่อาจารย์ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการนำศิลปะมาเป็นสื่อเพื่อเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ และเพิ่มพูนความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณ

นี้เป็นนิมิตอันทรงคุณค่าของศิลปะที่ขาดหายไปในการเรียนการสอนทุกระดับการศึกษาของไทย อีกทั้งเป็นมิติที่ถูกละเลยไปในมโนสำนึกของผู้คนส่วนใหญ่…” – มุทิตาจิตแด่ อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง, พระไพศาล วิสาโล

“ผมเคยเป็นลูกศิษย์ของท่าน ๕ ปี ที่คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ใจดี สมถะ เรียบง่าย รักธรรมชาติ รักความยุติธรรม ใฝ่ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา ๗๒ ปี อาจารย์ดูแลตนเองเป็นอย่างดี ยังประโยชน์ให้แก่การศึกษาด้านศิลปะเสมอ ขอกราบคารวะอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่งครับ” – ๗๒ ปี อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง, อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

:: อ่านประวัติผลงาน อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ร่วมด้วยคำมุทิตาจิตจากลูกศิษย์และเพื่อนศิลปิน และทำความรู้จักจริยศิลป์ ได้ที่ ผ่อง เซ่งกิ่ง ครูต้นธารศิลป์ ผู้สืบทอดศิลปะไทย และ Facebook/อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง