ชุมชนกัลยาณมิตร,  วิดีโอ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

การประชุมมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และการประชุมคณะกรรมการโรงเรียนรุ่งอรุณ ประจำปี ๒๕๖๕

เมื่อวันพุธที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ ๒๕๖๖ โรงเรียนรุ่งอรุณได้จัดการประชุมวิสามัญมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมกับการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารโรงเรียนรุ่งอรุณ ประจำปี ๒๕๖๕ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของมูลนิธิโรงเรียน และรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาจากการทำงานในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยกำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลให้โรงเรียนรุ่งอรุณต้องปรับตัวและจัดการเรียนรู้ผสมผสานทั้ง Online และ On-site นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิด “ครูกล้าเปลี่ยน” คือ ครูปรับเปลี่ยนชุดความคิดใหม่ (Growth mindset) เชื่อว่าการเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดขึ้นได้ทุกที่ แล้วออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสื่อที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น

  • ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนเรียนที่บ้าน
  • ออกแบบจัดตารางเรียนกลุ่มย่อยออนไลน์
  • ออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ที่บ้านผสานกับโรงเรียน และกิจกรรมหยดน้ำออนไลน์
  • การออกแบบสื่อสำหรับเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้านประกอบการเรียนรู้ออนไลน์
  • การให้โจทย์ปลายเปิดเพื่อให้นักเรียนร่วมออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง
  • เปิดโอกาสให้นักเรียนจัดการการเรียนรู้และทำงานด้วยตนเอง

เมื่อครูกล้าเปลี่ยน ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ศิษย์กล้าเรียนรู้” นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง

หลังจบการรายงาน คณะกรรมการได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของรุ่งอรุณ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ให้ข้อคิดเห็นว่า ในการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้หัวข้อจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) เจตคติและคุณค่า (Attitude and Value) นั้น ขอให้เน้นหัวข้อเจตคติและคุณค่าให้ชัดยิ่งขึ้น เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ และจะทำให้ความรู้และทักษะปรากฏในผู้เรียนชัดเจนยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวเสริมในประเด็นของอาจารย์สุมนว่า คุณธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบนความสุขอย่างเดียว แต่จะวัดกันตอนที่เจอปัญหาและอุปสรรค เพราะเมื่อคนเราเจอปัญหาและอุปสรรค ทัศนคติหรือคุณธรรมต่างๆ จะถูกดึงออกมา แล้วเราจะทำอย่างไรให้เรื่องแบบนี้แทรกอยู่ในรายวิชาต่างๆ

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สัจกุล ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวชื่นชมระบบการทำงานของครูรุ่งอรุณที่ครูรุ่นพี่ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้ครูน้องใหม่ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะการสื่อสารและชุดภาษาที่เป็นรูปธรรม เช่น จัดการอบรมเรื่องการสื่อภาษาจากนามธรรมเป็นรูปธรรม เพื่อให้ครูสามารถกลั่นกรองชุดความคิดที่เป็นนามธรรมออกมาเป็นชุดภาษาที่เป็นรูปธรรมได้

โรงเรียนรุ่งอรุณขอขอบพระคุณคณะกรรมทุกท่านที่ให้เกียรติร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะแก่โรงเรียนเสมอมา อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ค้นพบศักยภาพภายในตนเอง เกิดสติปัญญา และพัฒนาตนไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามปรัชญาของโรงเรียนรุ่งอรุณ